posttoday

สปช.ซัดตร.ยอมนักการเมืองถือเป็นการคอร์รัปชัน

26 มกราคม 2558

สปช.ยกหนังสือคำสั่งตำรวจสุพรรณฯเข้าพบนักการเมืองถกกลางที่ประชุม ซัดถือเป็นการคอร์รัปชัน

สปช.ยกหนังสือคำสั่งตำรวจสุพรรณฯเข้าพบนักการเมืองถกกลางที่ประชุม ซัดถือเป็นการคอร์รัปชัน

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้เปิดให้สมาชิก อภิปรายแสดงความคิดเห็นเรื่อง “จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีกลไกป้องกันและขจัดความทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ” โดยมีสมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช. อภิปรายว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้เห็นชัดเจนในเรื่องปัญหาการทุจริต คือ ปัญหาทางการเมืองที่เริ่มตั้งแต่การซื้อเสียง ที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ควรให้ความสำคัญในการกำหนดคนที่จะเข้าสู่อำนาจทางการเมือง

นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคณะกรรมการที่อยู่ในรัฐวิสาหกิจควรปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง อีกทั้ง การจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานของรัฐต้องมีแนวทางการตรวจสอบการแก้ไขที่เข้มข้น รวมถึงกฎหมายในปัจจุบันต้องเพิ่มบทลงโทษคนที่ทุจริตให้หนัก

จากนั้นสมาชิกได้มีการหยิบกรณีที่ผบก.ภ.จว.สุพรรณบุรีมีหนังสือคำสั่งให้ระดับรองผบก.-สว.จำนวน 28 ราย เข้าคารวะรับฟังนโยบายจากอดีตนักการเมือง ในวันที่ 27 ม.ค. โดยที่ประชุมมีการอภิปรายวิจารณ์การกระทำดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยนายวันชัย สอนศิริ สปช. ระบุว่า การคอร์รัปชั่น ถือเป็นเรื่องอัปยศและน่ารังเกียจในแผ่นดินนี้ แต่ถ้าจะไม่ให้เกิดขึ้น สังคมต้องปฏิเสธและไม่ยอมรับ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไม่มีการรณรงค์จริงจัง ทำให้ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยอมจำนน ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าทำจริงจังยั่งยืน เชื่อว่าจะทำให้คนทุจริตอับอาย ไม่กล้าเผชิญหน้ากับสังคม และกระบวนการจัดการเรื่องนี้ เกิดความล่าช้า เช่น สจล. หรือทุจริตมหาวิทยาลัยนครพนม ดังนั้น ต้องใช้กระแสสังคมจัดการ และต้องมีการกระบวนการรวดเร็วในการดำเนินคดี

ขณะที่ นายสังสิต พิริยะรังสรรค์ สปช. อภิปรายว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นการแพร่ระบาดคอร์รัปชัน เพราะสิ่งที่ทำเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ เนื่องจากไม่มีกฎหมายหรือระเบียบสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเคารพนักการเมือง ซึ่งถือเป็นการคอร์รัปชันต่อการบริหารราชการแผ่นดิน อีกทั้ง ยังเกิดคำถามต่อผู้บังคับบัญชาว่าได้ตำแหน่งนี้มาอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระบบอุปถัมภ์แบบใหม่เป็นการตอบแทนผลประโยชน์กัน และให้ตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องได้ ดังนั้น การต่อสู้เรื่องดังกล่าวจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่ประนีประนอมทุกรูปแบบกับเรื่องนี้ และไม่ควรปล่อยให้ผ่านไป

ด้านนายอมร วาณิชวิวัฒน์ สปช. กล่าวว่า การต่อสู้เรื่องนี้มีหลายช่องทาง อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานเกี่ยวข้อง แต่การชี้มูลในคดีต่างๆกลับไปอยู่ป.ป.ช.หมด ทำให้ต้องมีการแบ่งบอร์ดป.ป.ช. ออกเป็น 4-5 บอร์ด ดังนั้น เห็นด้วยกับป.ป.ช.ที่เสนอมา เรื่องการเพิ่มอำนาจเพื่อดำเนินการ อีกทั้ง อยากเสนอให้มีการตรวจสอบการเสียภาษี ดีกว่าตรวจสอบทรัพย์สิน

ต่อมาที่ประชุมสปช.ลงมติเห็นด้วยกับความเห็น ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะของสมาชิก ที่ได้อภิปรายในที่ประชุม ด้วยคะแนน 206 งดออกเสียง 1 เพื่อเสนอให้คณะกมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปช.และกมธ.ที่เกี่ยวข้องดำเนินการพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ นายเทียนฉายยังได้แจ้งต่อที่ประชุมให้ทราบว่า จากนี้ไปการประชุมสปช.ในวันจันทร์และอังคาร เปลี่ยนเวลาประชุมจากเดิม 09.30 น. เป็นเวลา 11.00 น. เนื่องจากในช่วงเช้าให้กมธ.ชุดต่างๆได้ไปประชุมกันก่อน