posttoday

“บิ๊กต๊อก”ลั่นรัฐบาลเดินหน้าล่าพวกหมิ่นฯ

21 มกราคม 2558

พล.อ.ไพบูลย์ สั่ง ยธ.เร่งรวบรวมข้อมูลส่งต่อ กต.ชี้แจงนานาชาติ หวังเข้าใจความรู้สึกคนไทย แบ่ง 4 กลุ่มจัดการขบวนการล้มเจ้า แย้มรู้ๆกันใครหนุนเงิน “ตั้ง-จักรภพ”

พล.อ.ไพบูลย์  สั่ง ยธ.เร่งรวบรวมข้อมูลส่งต่อ กต.ชี้แจงนานาชาติ หวังเข้าใจความรู้สึกคนไทย  แบ่ง 4 กลุ่มจัดการขบวนการล้มเจ้า แย้มรู้ๆกันใครหนุนเงิน “ตั้ง-จักรภพ”

วันนี้ (21 ม.ค.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะประธานกลุ่มนายทหารนอกประจำการที่จงรักภักดีต่อสถาบันฯและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (นกภป.) พร้อมคณะ จะไปยื่นหนังสือประท้วงกรณีที่ประเทศนิวซีแลนด์ได้ให้ที่พำนักแก่ นายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่สถานทูตนิวซีแลนด์ประจำกรุงเทพฯว่า ถือเป็นการแสดงออกของคนไทย หากแสดงออกด้วยความสงบก็คงจะไม่เป็นไร อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เน้นย้ำในเรื่องการสร้างความกระจ่าง เนื่องจากวันนี้เราได้มีการร่วมมือกับต่างประเทศในหลายมิติ
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางประเทศนิวซีแลนด์หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) จะต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นสิทธิของเขาที่จะตอบหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ประเทศนิวซีแลนด์และยูเอ็นเอชซีอาร์ได้รับรู้ถึงความรู้สึกของคนไทย การที่นายกฯก็ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศทำหนังสือชี้แจงความเป็นมาของผู้ที่เคลื่อนไหวเหล่านั้นไปยัง 7-8 ประเทศ เพื่อบอกว่าไม่ใช่เรื่องทางการเมือง แต่เป็นเรื่องกระทำผิดกฎหมายอาญาของไทย ผิดต่อสถาบันเบื้องสูงที่เราเคารพและหวงแหน ก็เป็นการทำในความรู้สึกของคนไทยเช่นกัน ทั้งนี้เราคงไม่สามารถที่จะไปละเมิดเอกสิทธิ์และเคารพแนวทางของเขาด้วย แต่ทางประเทศนิวซีแลนด์และยูเอ็นเอชซีอาร์ รวมถึงประเทศอื่นๆต้องเข้าใจความรู้สึกของคนไทยด้วย

“เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ผมได้พบกับทูตประเทศอังกฤษ ก็ได้เล่าถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายอาญามาตรา 112 และการเคลื่อนไหวของผู้ที่กระทำผิดมาตรา 112 ในประเทศต่างๆ เพื่อฝากไปสื่อสารกับประเทศอื่นๆ ในฐานะที่อังกฤษ นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศใหญ่และถือเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ ซึ่งทูตอังกฤษก็มีความเข้าใจ ทั้งนี้ที่ผ่านมาการทำความเข้าใจกับนานาชาติในเรื่องมาตรา 112 ไม่ได้มีการทำอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลย” รมว.ยุติธรรม ระบุ

พล.อ.ไพบูลย์ เปิดเผยด้วยว่า เวลานี้ตนกำลังรวบรวมข้อมูลและสั่งให้ฝ่ายกฎหมายที่แบ่งหน้าที่ในการติดตามตัวผู้กระทำผิด นำส่งข้อมูลให้แก่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อประกอบการชี้แจงกับประเทศต่างๆที่มีกลุ่มบุคคลเคลื่อนไหวอยู่ จะได้ทราบว่าแต่ละคนที่ไปอ้างสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ในความเป็นจริงแล้วกระทำผิดกฎหมายอย่างไร ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่คนเหล่านี้นำมาอ้าง โดยเรื่องนี้ตนได้ประสานกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศ ในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศก็ตอบรับและขอให้เร่งส่งข้อมูลเพื่อนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษต่อไป โดยหลังจากที่ทำหนังสือชี้แจงไปแล้ว ก็ต้องมีการประสานพูดคุยกับประเทศต่างๆเพื่อให้ได้รับทราบว่าประเทศต้องการอะไรในการพิจารณาส่งตัวผู้กระทำผิดกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย

“ทุกความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้กระทำผิดมาตรา 112 หากประเทศนั้นๆต้องการข้อมูลในส่วนใด เราก็จะสนับสนุนในส่วนของข้อมูลเต็มที่ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นเข้าใจความรู้สึกของคนไทย และเมื่อผู้กระทำผิดไปขอลี้ภัยหรือขอพำนัก ก่อนที่จะดำเนินการใดๆประเทศนั้นๆก็ควรที่จะสอบถามมายังประเทศไทยก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างครบถ้วน หากได้ข้อมูลจากเราจนครบแล้ว เขาจะตัดสินใจอย่างไรก็ต้องเคารพเอกสิทธิ์ของต่างประเทศ” พล.อ.ไพบูลย์ ระบุ

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลได้แบ่งการดำเนินการต่อผู้ที่กระผิดประมวลกฎหมายอาฐามาตรา 112 เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ติดตาม 2.ปราบปรามระยับยับยั้งเกี่ยวกับไอซีที 3.การดำเนินการระหว่างประเทศ และ 4.สร้างทัศนคติเข้าใจให้แก่คนไทย โดยงานทั้ง 4 กลุ่มต้องดำเนินการควบคู่กันไป และกระทรวงการต่างประเทศต้องเป็นที่นำข้อมูลทั้งหมดนี้ไปชี้แจงต่อนานาชาติ โดยเฉพาะเรื่องวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ที่โดยปกติแล้วสถาบันฯไม่สามารถที่จะมาฟ้องร้องคนที่กล่าวละเมิด ฉะนั้นจึงต้องมีการตรากฎหมายมาตรา 112 ขึ้นมาเพื่อให้รัฐบาลหรือเจ้าหน้ารัฐเป็นผู้กระทำการแทน แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะรังแกคนเหล่านั้น รัฐบาลเพียงแต่ดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้น

เมื่อถามถึงการตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มผู้ที่กระทำผิด พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า มีการดำเนินการอยู่แล้ว โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิ แต่รัฐบาลมีอำนาจที่จะตรวจสอบในส่วนของผู้ที่กระทำผิดทางกฎหมาย
 
“เรื่องเงินทุนที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของนายตั้ง อาชีวะ รวมไปถึงนายจักรภพ เพ็ญแข ผู้ต้องหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูงนั้น ก็ยังมีเครื่องหมายคำถาม แต่ก็เป็นรู้ๆกันอยู่” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว