posttoday

กมธ.ยกร่างฯปรับโครงสร้างตุลาการศาลรธน.สร้างสมดุล

20 มกราคม 2558

กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปรับโครงสร้างการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสร้างความสมดุล

กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปรับโครงสร้างการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสร้างความสมดุล

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการพิจารณาในภาค 3 ว่าด้วยนิติธรรม ศาลและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในหมวด 1 ว่าด้วยหลักการพื้นฐานของหลักนิติธรรม รวม 9 มาตรา ซึ่งวันนี้ได้มีการพิจารณาเพิ่มเติม มาตรา (3/1/2) 2 ว่าด้วยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดยกรรมาธิการได้นำหลักการรัฐธรรมนูญ 2540  มาตรา 257 มาพิจารณา ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา จำนวน 1 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด จำนวน 1 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกจากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่มีสส.ในสภา จำนวน 2 คน แบ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากฝ่ายรัฐบาล และจากฝ่ายค้าน อย่างละ 1 คน

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ รวม 4 คน แบ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านการเลือกกันเองของคณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 1 คน และจากสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน 1 คน, คณบดีคณะรัฐศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 1 คน, และจากสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน 1 คน และจากการเลือกของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จำนวน 1 คน

ทั้งนี้ มีข้อกำหนดห้ามไม่ให้คณะกรรมการสรรหาเข้าไปสมัครเพื่อรับการคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่คณะกรรมการสรรหามีจำนวนไม่ครบตามสัดส่วนที่กำหนด ได้เขียนบทบัญญัติให้ใช้เกณฑ์ 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการสรรหาที่มีอยู่และให้มีสัดส่วนกรรมการสรรหาที่มาจาก 4 ประเภท ประกอบเป็นคณะกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการสรรหาได้

สำหรับเรื่องนี้ กรรมาธิการได้เสนอแก้ไขในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา และตุลาการศาลปกครอง ให้เพิ่มจำนวนเป็น 4 คน โดยมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา จำนวน 2 คน และตุลาการศาลปกครองจำนวน 2 คน ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิในสายวิชาการจากคณบดีนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ได้แก้ไขให้เหลือ 2 คน มาจากการคัดเลือกโดยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา

ส่วนประเด็นที่มาของผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากสมัชชาพลเมืองนั้น กรรมาธิการได้อภิปรายในรายละเอียด อาทิ วิธีการสรรหา ซึ่งมีกรรมาธิการเสนอให้เปลี่ยนเป็นการสรรหาจากสมัชชาพลเมือง แทนสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ โดยเมื่อพิจารณารายละเอียดแล้วพบว่าจะทำให้เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการบางส่วนเสนอให้ตัดข้อความดังกล่าวออก เนื่องจากกังวลเรื่องการฟ้องร้องคดีที่อาจเกิดขึ้นและกระทบต่อการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตได้

ทว่า อนุกมธ.ยกร่างฯชี้แจงว่าเหตุที่ให้มีผู้ทรงคุณวุฒิมาจากสมัชชาคุณธรรมฯ เพื่อต้องการให้มีบุคคลที่เข้ามาพิจารณาในส่วนคุณธรรมและจริยธรรม หากตัดส่วนดังกล่าวอาจจะมีปัญหาได้ ซึ่งที่ประชุมไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงให้นำคำความวรรคดังกล่าวรอการพิจารณาไว้ก่อน

ขณะที่ มาตรา (3/1/2) 3 ว่าด้วยวิธีการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นำมาตรา 206 (2) รัฐธรรมนูญ 2550  มาพิจารณา ซึ่งระบุให้วุฒิสภาเป็นหน่วยงานที่ให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายชื่อ โดยใช้วิธีลงคะแนนลับ ซึ่งได้ปรับหลักการใหม่ คือ หากวุฒิสภาลงคะแนนไม่เห็นชอบแม้เพียงบางส่วนให้เริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่

ส่วนมาตรา (3/1/2) 4  ว่าด้วยวาระดำรงตำแหน่ง จำนวน 9 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว โดยอนุกมธ.ยกร่างฯ นำมาตรา 208 ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาใช้ โดยไม่มีการปรับแก้ 

ทั้งนี้ ข้อเสนอร่างดังกล่าวที่ประชุมได้ยกการพิจารณาไปเป็นวันที่ 21 ม.ค. เวลา09.00 น. และได้ปิดการประชุมเวลา 11.45 น. เนื่องจากในช่วงบ่าย กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะเข้าร่วมเวทีวิสัยทัศน์ประเทศไทย ที่โรงแรมเอเชีย