posttoday

"สมศักดิ์" แจงสลับร่างแก้รธน.เรื่องปกติของสภา

15 มกราคม 2558

สมศักดิ์ แจงสลับร่างแก้รธน.เรื่องปกติของสภา ถ้าผิดก็ต้องติดคุกกันหมด "ป.ป.ช." แจงเดินหน้าสอยอดีตสส.ยื่นพรบ.นิรโทษกรรม

สมศักดิ์ แจงสลับร่างแก้รธน.เรื่องปกติของสภา ถ้าผิดก็ต้องติดคุกกันหมด "ป.ป.ช." แจงเดินหน้าสอยอดีตสส.ยื่นพรบ.นิรโทษกรรม

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. เวลา 15.30น.ที่ประชุมสภานิติบัญญัติได้พิจารณาซักถามนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีถอดถอนจากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550ที่มาของสว.โดยมิชอบ

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการซักถามได้แจ้งต่อที่ประชุมสนช.ว่ามีสมาชิกสนช.ส่งคำถามจำนวน 28 คำถามแบ่งเป็นป.ป.ช.19 คำถาม และ นายสมศักดิ์ 9คำถาม แต่คณะกรรมาธิการซักถามได้กลั่นกรองให้คำถามมีจำนวนลดลง คือ คำถามของป.ป.ช.เหลือ 9 คำถาม และของนายสมศักดิ์เหลือ 6 คำถาม

สำหรับคำถามที่สนช.สอบถามป.ป.ช.ส่วนใหญ่ต้องการทราบถึงความชัดเจนของข้อกฎหมายที่ป.ป.ช.ใช้ชี้มูลความผิดนายสมศักดิ์ หลังจากรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว รวมถึงข้อกฎหมายที่ว่าด้วยเหตุใดเมื่อนายสมศักดิ์ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ป.ป.ช.ถึงยังได้ดำเนินการไต่สวนอีก ซึ่งนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช.ได้ตอบเป็นหลักการเดียวกันว่า แม้รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 จะสิ้นสุดลงไปแล้วแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 มีผลต่อไป ประกอบกับวุฒิสภาเคยมีมติก่อนหน้านี้ว่าสามารถพิจารณาถอดถอนบุคคลที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วได้ ทำให้ป.ป.ช.ต้องดำเนินการไต่สวนให้เสร็จสิ้นกระบวนการ

"กระบวนการถอดถอนแม้จะมีหลักอยู่ที่การถอดถอน แต่อาจเกิดกระบวนการเลี่ยงการถอดถอนด้วยการลาออกหรือสับเปลี่ยนตำแหน่ง ซึ่งทำให้กฎหมายไม่เป็นผล ประกอบกับบทลงโทษของการถอดถอนยังมีเรื่องการถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงทำให้การถอดถอนยังทำได้แม้จะบุคคลจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตามอันเป็นไปตามที่วุฒิสภาเคยมีมติไปก่อนหน้านี้ และศาลปกครองเคยให้ความเห็นไว้ว่าความผิดย่อมผูกพันคนกระทำความผิดต่อไป แม้ว่า บุคคลนั้นจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม" นายวิชา กล่าว

ขณะที่ ประเด็นที่สนช.ซักถามและป.ป.ช.ได้ให้น้ำหนักพอสมควรมีด้วยกัน 2 คำถาม ได้แก่ 1.การกระทำของนายสมศักดิ์ ถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ และ2. เมื่อเดือนธ.ค.2557 ป.ป.ช.ได้ยกฟ้องคดีถอดถอนอดีตสส.จำนวน310คนที่ลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชนพ.ศ. โดยผู้กล่าวอ้างความผิดทั้งในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 มาตรา 58 ซึ่งเป็นฐานความผิดเดียวกับคดีถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม แต่เหตุใดป.ป.ช.วินิจฉัยแตกต่างกัน

นายวิชา ตอบชี้แจงว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการไต่สวนนายสมศักดิ์ จากกรณีที่มีการสลับสับเปลี่ยนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีผู้กล่าวหาว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสารของรัฐสภา โดยจากการไต่สวนพบว่าผู้ที่ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญก็แจ้งว่าไม่ทราบมีการเปลี่ยนเนื้อหามาก่อน ส่วนเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ดำเนินการตรวจสอบเสร็จสิ้นเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีการร้องเรียนว่ากระทำของบุคคลเหล่านี้มีความผิดทางอาญาประกอบด้วย

"เพราะฉะนั้น เราจึงไม่อาจหยุดการถอดถอนได้ และจำเป็นต้องดำเนินการไต่สวนต่อไป เราได้มีมติไปเรียบร้อยแล้วเกี่ยวกับผู้เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่าสมควรไต่สวนต่อไปให้ได้ความจริง ต่อเนื่องกับคดีอาญาและมีการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดต่อกฎหมายป.ป.ช.หรือไม่ ซึ่งจะแยกออกเป็นสองกรณีเหมือนกรณีของคุณสมศักดิ์และคุณนิคม ถ้าเป็นกรณีที่สามารถถอดถอนได้จะเสนอสนช.แต่หากเป็นกรณีที่มีความผิดทางอาญาก็ต้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น คดีที่เกี่ยวกับการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมยังไม่สิ้นสุดลง" นายวิชา กล่าว

สำหรับคำถามของสนช.ที่ถามนายสมศักดิ์ มีความน่าสนใจตรงที่การสอบถามเรื่องการสลับสับเปลี่ยนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาสว.ของนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตสส.พรรคเพื่อไทย ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 1 เมื่อเดือนมี.ค.2556 และการกำหนดแปรญัตติที่ให้สมาชิกรัฐสภาเสนอแก้ไขถ้อยคำในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญย้อนหลัง จนทำให้จำนวนวันของการเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาแปรญัตติขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

นายสมศักดิ์ ชี้แจงในรายละเอียดและขั้นตอนว่า ขอปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างสิ้นเชิง เพราะระบบธุรการของสภาตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา การเสนอร่างกฎหมายจะให้สมาชิกรัฐสภาเสนอเข้าสำนักประชุมการประชุม ซึ่งจะมีการตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นจะเสนอต่อผู้บังคับบัญชาจนมาถึงประธานสภา แฟ้มเอกสารเหล่านี้จะมีบันทึกของข้าราชการว่าสามารถบรรจุระเบียบวาระได้ ถ้าประธานสภาเห็นว่าถูกต้องก็สามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระได้

"ปัญหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติที่มีการเสนอแก้ไขหลังจากยื่นตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าผมยังไม่ลงนามอนุมัติยังสามารถแก้ไขได้ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา กรณีของท่านอุดมเดชก็เหมือนกันว่าเมื่อสำนักการประชุมที่มีความเชี่ยวชาญเห็นว่าถูกต้อง ก็นำเสนอมาถึงผมและบรรจุระเบียบวาระ แต่ในระหว่างทางปรากฏว่าท่านอุดมเดช ขอแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทำกันประจำ ผมในฐานะประธานรัฐสภาเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ผมได้เชิญผู้อำนวยการสำนักการประชุมมาชี้แจงว่าทำได้หรือไม่และขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ" อดีตประธานรัฐสภา กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่สำคัญรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาตรา291กำหนดให้ประธานรัฐสภาต้องบรรจุระเบียบวาระสู่ที่ประชุมรัฐสภาภายใน 15 วันหลังจากได้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ถ้าไม่อนุมัติเท่ากับว่าประธานรัฐสภาจะกระทำการขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง ขณะเดียวกัน หลังจากบรรจุระเบียบวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการพิจารณาเป็น 3วาระ โดยเมื่อเข้าสู่วาระที่1 ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็นำเสนอต่อที่ประชุม ปรากฏว่าไม่มีสมาชิกรัฐสภาคนใดทักท้วงเรื่องนี้เลย

"สิ่งที่เป็นสาระสำคัญ คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขแล้วแต่ไม่มีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อกันใหม่ ซึ่งส่วนตัวได้ถามไปยังผู้อำนวยการสำนัก ประชุม ก็ได้รับการยืนยันว่าสามารถทำได้ โดยให้ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประสานงานผ่านคณะกรรมการประสานของแต่ละพรรคให้สส.ทราบถึง ประเด็นที่มีการแก้ไขในขั้นตอนธุรการ ยอมรับว่าอาจมีสส.บางคนไม่ทราบแต่เป็นเรื่องปกติที่มีบางคนอาจไม่ได้รับการประสานงาน การที่ไม่มีคนท้วง เพราะมันไม่ผิดถึงไม่มีคนทักท้วง" นายสมศักดิ์ กล่าว

ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับการกำหนดวันแปรญัตติ อดีตประธานรัฐสภา ตอบว่า ถ้าใครอยู่ในสภามานานจะเข้าใจเรื่องนี้ แต่ถ้าใครเคยเพิ่งเข้ามาอาจจะสับสนบ้าง ในครั้งนั้นภายหลังรัฐสภาลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว  จะเข้าสู่การกำหนดวันแปรญัตติเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาเสนอถ้อยคำแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการเสนอให้แปรญัตติภายใน15 วันและ 60 วัน ซึ่งจะต้องมีมติตัดสิน แต่องค์ประชุมไม่ครบทำให้ต้องปิดประชุม และต้องยึดถือการให้แปรญัตติ 15 วันตามข้อบังคับการประชุม เพราะสภาไม่ได้มีความเห็น เป็นอย่างอื่นตามข้อบังคับการประชุม ซึ่งก็ได้มีการประชุมอีกครั้งและมติให้แปรญัตติภายใน 15 วัน จึงเห็นว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่อย่างใด

ในช่วงท้ายของการตอบข้อซักถาม นายสมศักดิ์ ยืนยันว่า ส่วนตัวไม่มีความผิดในเรื่องการเสียบบัตรลงมติแทนกันของสมาชิกรัฐสภาในระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าจะเป็นความผิด ก็จะเป็นความผิดเฉพาะบุคคลเท่านั้น

"ผมเป็นนักประชาธิปไตย ผมเคารพทุกองค์กรทั้งสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. ที่ผมไปแถลงไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยผิดในข้อกฎหมาย และหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม สรุปคือผมไม่มีอะไรผิด และไม่อะไรพลาด วินิจฉัยผิดพลาดยังไม่มีเลยครับ ต่อให้ผิดก็ไม่มีเจตนาและไม่เข้าข่ายถูกถอดถอนแน่นอน กรณีเอกสารปลอมไม่มีเจตนาแน่นอน ถ้าผมติดคุกก็ติดคุกกันทั้งหมด ถ้าสภาแห่งนี้ให้ความเป็นธรรมไม่ได้ก็ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนอีกแล้ว และมั่นใจว่าผมจะได้รับความเป็นธรรม" นายสมศักดิ์ กล่าว