posttoday

"ประยุทธ์"หนุนไทย-เกาหลีผู้นำขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค-โลก

11 ธันวาคม 2557

นายกฯประชุมสุดยอดซีอีโออาเซียน-เกาหลีใต้ ชูไทยเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิตอล-สีเขียว พัฒนาคมนาคม พร้อมเดินหน้าในฐานะผู้นำขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค-โลก

นายกฯประชุมสุดยอดซีอีโออาเซียน-เกาหลีใต้ ชูไทยเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิตอล-สีเขียว พัฒนาคมนาคม พร้อมเดินหน้าในฐานะผู้นำขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค-โลก

เวลา 10.20 น. วันที่ 11 ธ.ค. ตามเวลาท้องถิ่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม ASEAN-ROK CEO Summit ณ ห้อง Hall 2A ชั้น 1 อาคาร Exhibition Center I ศูนย์ประชุม BEXCO และกล่าวสุนทรพจน์ภายใต้หัวข้อ “Global Economic Outlook and the Role of Asia” ในการประชุม ASEAN-ROK CEO Summit ช่วงที่ 1

ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดภาคธุรกิจอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี เป็นหนึ่งในกิจกรรมคู่ขนานของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ จัดโดยสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมสาธารณรัฐเกาหลี มีหัวข้อหลักคือ “Innovation and Dynamism: A New Takeoff for ASEAN and Korea” มีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเอเชีย ระหว่างผู้นำและภาคธุรกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี รวมประมาณ 400 คน

ในครั้งนี้ นาย Yongmaan Park ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมสาธารณรัฐเกาหลีได้เชิญนายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ ภายใต้หัวข้อ “อนาคตของเศรษฐกิจโลกและบทบาทของเอเชีย”และได้เชิญนักธุรกิจไทย จำนวน 100 คน เข้าร่วมด้วย
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้รับเชิญเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์เป็นคนแรก จากนั้น ศาสตราจารย์ พอล โรเมอร์ (Paul Romer) แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เป็นผู้กล่าวในลำดับต่อไป สำหรับผู้ร่วมบรรยายอื่นๆ  ได้แก่ U Win Aungประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมาร์ และ Tae-hyeong Ha, CEOสถาบันวิจัย Hyundai Research Institute เป็นต้น

ภายหลังการประชุม ร้อยเอกยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม สรุปดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มากล่าวในการประชุมสุดยอดผู้บริหารอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญของการฉลองครบรอบ 25 ปี ของความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีใต้ ในปีนี้    หลายปีที่ผ่านมา ศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกได้ค่อยๆ เคลื่อนย้ายมาทางเอเชีย โดยมีเกาหลีใต้เป็นกลจักรที่สำคัญ แม้ว่าภูมิภาคนี้จะประสบกับสิ่งท้าทายด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็สามารถก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจได้โดยบุกเบิกนวัตกรรม ไม่ว่าจะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรม หรือแนวทางการพัฒนาชนบท

การประชุมในวันนี้ จึงเป็นจังหวะเหมาะสมที่ภาคธุรกิจชั้นนำของอาเซียนและเกาหลีใต้จะมาร่วมกันขบคิดว่า ในยุคที่มีสิ่งท้าทายใหม่ๆ เช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราควรร่วมมือกันต่อไปอย่างไร  และจะช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชียและของโลกได้อย่างไร

ในเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลก นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนในสภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน แนวโน้มสำหรับเอเชียยังคงเป็นไปในทางที่ดี ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียได้คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียสำหรับปี 2014 และ2015 ไว้ที่ 6.2% และ 6.4% ตามลำดับ โดยในส่วนของเอเชียตะวันออกคาดว่าจะเติบโต 6.7% ในปี 2014 และ 2015 ถือได้ว่าในภาพรวมแล้วเอเชีย-แปซิฟิกจะยังมีการเติบโตต่อเนื่อง

ประมาณการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับตัวเลขธนาคารโลกที่คาดการณ์ว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะเติบโตร้อยละ 6.9 ในปีนี้และปีหน้า แม้ว่าจะลดลงจากปี 2556 ซึ่งเติบโตร้อยละ 7.2  ทั้งนี้ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ก็ยังคงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายมิอาจจะนิ่งนอนใจได้ ในเอเชียเองยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาค ได้แก่ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การขึ้นลงของราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตรชะลอตัว ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้น การลงทุนของรัฐที่ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาระหนี้สินของครัวเรือน รวมถึงการค้าโลกที่ขยายตัวได้ในระดับต่ำและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย และโรคระบาดร้ายแรง เช่น อีโบลา

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึง อาทิ การเข้าสู่สังคมคนชราในหลายๆประเทศ ซึ่งภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้สำหรับการบริหารจัดการ ในขณะที่ประชากรวัยทำงานมีจำนวนลดน้อยลง ทำให้ฐานภาษีลดขนาดลง จำกัดความสามารถของรัฐในด้านงบประมาณและผลกระทบต่อภาคการผลิต เนื่องจากค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น และเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน

ดังนั้น เอเชียควรเร่งดำเนินมาตรการเพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้กับภาคเศรษฐกิจ โดยใช้ประโยชน์จากศักยภาพของภูมิภาคให้เต็มที่ เช่น การส่งเสริมความเชื่อมโยง การบูรณาการทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมการค้าเสรีและขจัดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน การใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีคุณค่าและสมประโยชน์

นอกจากนี้ ยังควรส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่เป็นจุดแข็งของแต่ละประเทศ โดยในส่วนของเกาหลีใต้ ได้แก่ การศึกษา  ICT  SMEs อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และบันเทิง  พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก การเติบโตสีเขียว การลดก๊าซเรือนกระจก   การปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน เป็นต้น

บทบาทของเอกชนและธุรกิจสาขาที่มีศักยภาพ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในปี 2015 อาเซียนจะเป็นประชาคมที่เป็นทั้งตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ซึ่งจะสร้างโอกาสใหม่ๆมากมายทางธุรกิจและการลงทุน นายกรัฐมนตรีจึงขอเชิญชวนภาคธุรกิจของเกาหลีใต้ให้ใช้ประโยชน์จากประชาคมอาเซียนอย่างเต็มที่ในสาขา ดังนี้

1.ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังปรากฏว่า เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด จนกระทั่งกลายเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจชั้นแนวหน้าของโลก ผลิตภัณฑ์มากมายของเกาหลีใต้ได้รับการยอมรับในคุณภาพและได้รับความนิยมสูงในตลาดโลก    ดังนั้น ไทยและอาเซียนจึงสนับสนุนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ของเกาหลีใต้ในด้านนี้ ตลอดจนต้องการให้เกาหลีใต้ขยายการลงทุนด้าน IT  ICT อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอื่น ๆ ในอาเซียนให้มากขึ้น ทั้งการลงทุนขนาดใหญ่และ SMEs

2.ด้านพลังงานทดแทน อาเซียนสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของเกาหลีใต้ในเรื่องเทคโนโลยีพลังงานทดแทน และแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศเกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบ สนองความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เรายังสามารถร่วมมือกันสร้างศูนย์กลาง ซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Trading Hub) เพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาดโลก

3. ด้านการเกษตร เพราะเป็นภาคเศรษฐกิจพื้นฐานที่สำคัญของอาเซียน และเกี่ยวข้องกับประชากร 17 ล้านคนของไทย หรือ 43% ของแรงงานทั้งหมด นายกรัฐมนตรีจึงขอเชิญชวนให้นักธุรกิจเกาหลีใต้และอาเซียน เข้ามาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มสำหรับภาคเกษตร ซึ่งนอกจากจะใช้ศักยภาพทางเกษตรกรรมและอาหารของภูมิภาคแล้ว ยังช่วยกระจายรายได้ไปสู่เกษตรกรอย่างทั่วถึง และช่วยลดความเหลื่อมล้ าทางสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย

เรื่องนโยบายและมาตรการเศรษฐกิจของไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องอาศัยบทบาทของภาคธุรกิจเอกชนเป็นส่วนใหญ่ รัฐบาลมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายที่สร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ SMEs จนถึงกิจการขนาดใหญ่ ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จึงพยายามปรับแก้กฎระเบียบเพื่อให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาค และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการปรับแก้กฎหมายด้านภาษี และขั้นตอนการขออนุญาตเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติ

รัฐบาลไทยยังได้ประกาศให้ SMEs เป็นวาระแห่งชาติพร้อมกับกำหนดแผนการปฏิรูปกลไกและหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่อง SMEs ให้รองรับนโยบาย ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับ SMEs ไทย และหวังว่าไทยจะสามารถเรียนรู้จากเกาหลีใต้ซึ่งมีภาค SMEs ที่เข้มแข็งได้ ทั้งนี้ หนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจระยะยาวของไทย นอกเหนือไปจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ยังมีเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งเกาหลีใต้เป็นต้นแบบของการใช้ ICT เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ซึ่งครอบคลุมการปฏิรูปกระบวนการผลิต การประกอบธุรกิจการค้า การลงทุน การบริการ และการศึกษา ไทยจึงหวังว่า ภาคเอกชนของเกาหลีใต้จะเข้ามาลงทุน หรือร่วมทุนในด้านต่างๆ ที่จะช่วยเร่งให้ไทยและอาเซียนใช้ระบบเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน เกาหลีใต้ซึ่งมีความก้าวหน้าสูงในด้านนี้ จึงอยู่ในฐานะที่จะให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ ไทยต้องการเห็นการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะที่มาพร้อมกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาศักยภาพ ทั้งในเรื่องของทักษะฝีมือแรงงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

ในเรื่องความเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 ที่กรุงเนปิดอว์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ได้กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการสร้างความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุลของเอเชีย ซึ่งก็คือการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค ไทยมีแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะ 8 ปีข้างหน้า ซึ่งเน้นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม 5 ด้าน ได้แก่ โครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง   โครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร โครงข่ายทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โครงข่าย  การขนส่งทางน้ำ และการพัฒนาขีดความสามารถในการขนส่งทางอากาศ  โดยที่เกาหลีใต้มีศักยภาพสูงด้านการสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)ในโครงการด้านการพัฒนาที่มีมูลค่าสูง จึงน่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกันหากภาคเอกชนเกาหลีใต้จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในไทยและในภูมิภาค รวมทั้งการนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ในเรื่องการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค แนวทางการระดมเงินทุน   การแบ่งปันเทคโนโลยี องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีตระหนักดีว่า การจะให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ต้องคำนึงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจหรือ ผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงผลักดันนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ใน 5 จังหวัดชายแดน ภายใต้แนวคิด “เส้นเขตแดนเป็นเส้นแห่งความร่วมมือ” ในทุกมิติ โดยเฉพาะตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และตอนใต้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพเชิงพาณิชย์ให้แก่พื้นที่ตามแนวชายแดน กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค สนับสนุนการพัฒนาประเทศทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และนำไปสู่การต่อยอดเพื่อเชื่อมโยงเข้ากับภูมิภาคอื่น ๆ เช่น เอเชียใต้ โดยผ่านถนนสามฝ่ายไทย-เมียนมาร์-อินเดีย

รัฐบาลไทยมีทีมเศรษฐกิจขนาดใหญ่ พร้อมที่จะดูแลปัญหาของนักลงทุนและภาคเอกชนในทุก ๆ ด้าน  และจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนนี้ จะได้เร่งรัดดำเนินการให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งด้านการค้า การลงทุน บริการ  และสถานประกอบการรูปแบบต่าง ๆ โดยจะให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว  การใช้แรงงานต่างด้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้
โดยนายกรัฐมนตรีได้สรุปว่า ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด คืออนาคตที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในไทยและในภูมิภาค ทำให้นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ยังมีศักยภาพอยู่อีกมากที่อาเซียนกับเกาหลีใต้ รวมทั้งระหว่างไทยกับเกาหลีใต้จะร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ที่มีร่วมกัน และเชื่อว่าอาเซียนและเกาหลีใต้ จะทำหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนหัวรถจักรแห่งเอเชีย ในการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของภูมิภาคและของโลก