posttoday

“อุเทน”สับพวกไม่รู้จริงเสนอเลือกนายกฯตรง

10 ธันวาคม 2557

"อุเทน"หัวหน้าพรรคคนไทยชี้สปช.บางส่วนไม่เข้าใจบริบทประเทศเชื่อเสนอเลือกนายกฯโดยตรงไปไม่รอด

"อุเทน"หัวหน้าพรรคคนไทยชี้สปช.บางส่วนไม่เข้าใจบริบทประเทศเชื่อเสนอเลือกนายกฯโดยตรงไปไม่รอด 

เมื่อวันที่10ธ.ค.นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง ในสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน กมธ.เตรียมเสนอแนวทางการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตรงให้ที่ประชุม สปช.พิจารณาว่า ข้อสรุปของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สะท้อนให้เห็นว่า สมาชิก สปช.บางส่วนไม่เข้าใจบริบทของประเทศไทย แต่กลับเสนอตัวเข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ ที่สำคัญยังชี้ให้เห็นว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในทางการเมืองผ่านระบบเลือกตั้งอย่างถ่องแท้ เนื่องจากจะเลือกตั้งนายกฯและ ครม.โดยตรง ก็ไม่ต่างปัจจุบันที่มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่แยกกับการเลือกตั้งสมาชิก อบจ. ซึ่งในหลายจังหวัด นายกฯอบจ.มาจากคนละกลุ่มกับเสียงส่วนใหญ่ในสภา อบจ. ส่งผลให้การทำงานติดขัดโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาขนาดพรรคที่ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งมาบริหารประเทศยังทำหน้าที่ลำบาก นับประสาอะไรกับนายกฯที่ไม่มี ส.ส.หนุนหลัง หรือเป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ

ส่วนกรณีที่นายสมบัติระบุว่า รูปแบบการเลือกตั้งนายกฯและ ครม.โดยตรงเป็นนวัตกรรมใหม่นั้น นายอุเทน กล่าวว่า สิ่งที่นายสมบัติพูดนั้นไม่ถูกต้อง เพราะแนวคิดการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง มีหลายประเทศเคยหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาแล้วทั้งประเทศอังกฤษหรือญี่ปุ่น แต่เมื่อประเทศเหล่านั้นวิเคราะห์กันอย่างจริงจังแล้วก็เห็นว่า อาจจะทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้ จึงไม่มีการนำมาใช้ มีเพียงประเทศอิสราเอลเท่านั้นที่เคยทดลองใช้ และมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงมา 3 ครั้ง แต่ในที่สุดก็ต้องกลับไปใช้ระบบรัฐสภาแบบเดิม เพราะเกิดสภาพปกครองไม่ได้ เนื่องจากนายกฯไม่ได้มาจากการเลือกโดยเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่สามารถคุมเสียงสนับสนุนในสภาฯได้ ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล จนต้องยุบสภาในที่สุด นอกจากนี้เหตุผลที่อ้างว่าแนวคิดนี้จะแก้ปัญหาการซื้อเสียง อยากถามว่า มีมาตรการใดมารองรับ หรือมีหลักประกันใดที่จะไม่ทำให้การซื้อเสียงระบาดหนักกว่าเดิม เพราะมีเดิมพันถึงเก้าอี้ผู้นำประเทศ

“เชื่อว่าแนวคิดนี้จะไปไม่รอด เพราะสังคมไม่เอาด้วย เพราะแค่โยนหินถามทางออกมา ก็มีแต่เสียงวิจารณ์ในทางไม่เห็นด้วย และเป็นเค้าลางของความแตกแยกที่อาจจะเกิดขึ้นอีก หากมีการเสนอแนวทางหรือยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงของประเทศเช่นนี้” นายอุเทน ระบุ

นายอุเทน กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เข้าสู่เดือนที่ 7 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเดือนที่ 3 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา แล้ว แต่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน  ทั้งเรื่องปากท้อง ค่าครองชีพ การศึกษาที่ต้นทุนสูง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งหมดนี้ยังไม่มีการแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเลย ส่วนตัวมีโอกาสได้สัมผัสชีวิตประชาชนบนท้องถนน ที่ยังอยู่อย่างยากลำบาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องไปคิดการแก้ปัญหาปากท้องโดยเร่งด่วน

“ทุกคนไม่มีใครอยากทำผิด ไม่มีใครอยากจนหรือลำบาก ใครๆก็อยากสบาย อยากเรียน อยากทำงาน อยากก้าวหน้า แต่เมื่อเขาจน เขาจึงขาดโอกาส ทำไมพวกเขาจึงต้องขาดโอกาส นี่คือคำถามที่รัฐบาล และ คสช.ต้องรีบแก้ไข เพราะท่านบอกเองว่าจะคืนความสุขให้ประชาชน แต่สำหรับผมขอปรามาสไว้เลยว่า พวกท่านทำไม่ได้ เพราะคิดไม่ได้ และทำไม่เป็น” นายอุเทน กล่าว