posttoday

"จาตุรนต์"ชี้ 6 เดือนรัฐบาลเสียของ

29 พฤศจิกายน 2557

“จาตุรนต์” ชี้ ผลงานรัฐบาล 6 เดือนเสียของ ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน รวมถึงเพิ่มเงื่อนไขของความขัดแย้งให้มากขึ้น ยากที่จะทำให้เกิดรธน.ที่เป็นปชต.

“จาตุรนต์” ชี้ ผลงานรัฐบาล 6 เดือนเสียของ ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน รวมถึงเพิ่มเงื่อนไขของความขัดแย้งให้มากขึ้น ยากที่จะทำให้เกิดรธน.ที่เป็นปชต.

วันที่ 29 พ.ย. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการทำงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ใจความว่า การบริหารงานและการแก้ปัญหาโดยรวมๆ ของรัฐบาล ไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีการทำสัญญาประชาคมอะไรมาก่อน บางเรื่องก็กลายเป็นท่าดีทีเหลว และข้อจำกัดอย่างหนึ่งของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็คือ หาคนมาร่วมงานได้ยากและผู้ที่มาบริหารไม่รู้สึกว่ามีพันธะผูกพันอะไรกับประชาชน การแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง ถ้าดูผิวเผินก็เหมือนกับว่าปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยได้รับการแก้ไขไปแล้ว แต่ถ้าวิเคราะห์ถึงต้นเหตุความเป็นมาของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายปีมานี้และสภาพความเป็นจริงที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบันก็จะพบว่า ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย นอกจากยังไม่ได้รับการแก้ไขแล้วยังถูกกดทับ กลบเกลื่อนไว้ และใน 6 เดือนมานี้ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มเงื่อนไขของความขัดแย้งและความรุนแรงให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

6 เดือนมานี้ มีการใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์และกฎอัยการศึกเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยซึ่งก็มีต้นทุนสูง คือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปและการร่างรัฐธรรมนูญอย่างมาก จนทำให้ยากที่จะเกิดการปฏิรูปจริงๆหรือรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ในกระบวนการปฏิรูปและการร่างรัฐธรรมนูญ มีการพูดถึงการออกแบบระบบที่จะลดบทบาทของพรรคการเมืองและนักการเมืองลง ลดความหมายของการเลือกตั้งลงบ้าง ต้องการจัดการกับพรรคการเมืองบางพรรค นักการเมืองบางคนหรือบางครอบครัว ซึ่งก็เป็นความคิดเดิมๆที่เคยคิดเคยทำกันมาแล้วหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าความคิดเหล่านี้นี่เองที่มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้มีความขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้นทุกที แต่ไม่มีการพูดถึงปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพกฎหมายเป็นกฎหมาย เมื่อไม่มีการใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ที่มาจากการรัฐประหารและการใช้กฎอัยการศึก

6 เดือนมานี้ยังเหมือนกับว่า สังคมไทยมีทางเลือกแค่ 2 ทางคือ1.เมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่มีการใช้กฎอัยการศึก บ้านเมืองก็อาจกลับอยู่ในสภาพไม่มีขื่อมีแปอีกเมื่อไหร่ก็ได้ หรือ 2.ต้องอาศัยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์และกฎอัยการศึกในการปกครองบ้านเมืองซึ่งก็คือสภาพที่ไม่เป็นนิติรัฐ เพราะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลคือกฎหมาย มีอำนาจเหนือกฎหมาย ไม่ได้อยู่ใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น ถ้าประเมินผลงานของคสช.ว่า สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ดูผิวเผินก็เหมือนจะสำเร็จ แต่วิเคราะห์ให้ดี ไม่ต้องถึงกับลึกซึ้งอะไรมากก็เห็นจะต้องบอกว่าถ้ายังเดินหน้าไปอย่างนี้เสียของอย่างไม่ต้องสงสัย ตนไม่ได้ไปหารือกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ขอแสดงความเห็นฝากไปยังกรรมาธิการฯ ทั้งหลายเหล่านั้นด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย