posttoday

"วิษณุ"แย้มเลือกตั้งกพ. 59

29 พฤศจิกายน 2557

รองนายกฯ วิษณุ อ้างกฎหมายลูกเสร็จช้า คาดเลือกตั้ง กพ. 59

รองนายกฯ วิษณุ อ้างกฎหมายลูกเสร็จช้า คาดเลือกตั้ง กพ. 59

เวลา 12.30 น. วันที่ 29 พ.ย.  ที่โรงแรมเดอะรีเจ้นท์ ชะอำบีช รีสอร์ท จ.เพชรบุรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ระบุว่าอาจจะมีการเลือกตั้งกลางปี2559ว่า คาดการณ์มากเกินไป สอบถามนายสมหมายแล้ว ซึ่งนายสมหมายก็ให้ความเห็นนี้เพราะไม่รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเมื่อไหร่ อีกทั้งคำนวนเรื่องการทำประชามติอีก 3 เดือนด้วย ส่วนตัวคาดว่าเลือกตั้งประมาณเดือนก.พ.2559 เพราะรัฐธรรมนูญเสร็จประมาณต้นเดือนก.ย.2558 และเมื่อนำขึ้นทูลเกล้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงจะโปรดเกล้าเดือนก.ย.หรือต.ค. จากนั้นก็ใช้เวลาร่างกฎหมายลูกประมาณ 3 เดือนคือเดือนธ.ค.2558 และเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ก็ประกาศให้จัดตั้งพรรคการเมืองรวมทั้งให้หาเสียง โดยใช้เวลา 60-90 วัน ก็จะเกิดการเลือกตั้ง เมื่อคิดในทางที่เป็นไปได้และเร็วที่สุดคือเดือน ก.พ.หรือมี.ค.2559 ยืนยันว่าการจัดเลือกตั้งไม่ถึงกลางปี2559 ทั้งนี้หากถามตนในวันนี้ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ เพราะไม่รู้ว่ารัฐธรรมนุญเสร็จเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าจะมีการทำประชามติหรือไม่ และไม่รู้ว่าจะปล่อยให้หาเสียงเท่าไหร่

เมื่อถามว่ามีการประเมินว่ารัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะยืดเวลาออกไป นายวิษณุ กล่าวว่า คสช.ไม่เคยประเมินแบบนั้น ไม่ทราบว่าจะยืดโดยวิธีอะไร ทั้งหมดฝากไว้ที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่าจะเขียนยังไง ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะเขียนไว้เสมอว่าต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในกี่วันหลังจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ส่วนกรณีที่มีการร่างงกฎหมายลูกพร้อมกับการร่างรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าไม่สามารถร่างพร้อมกันได้ เพราะรัฐธรรมนูญถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้ข้อยุติก็ต้องทิ้งไว้เป็นช่วงๆ หลายมาตรา ทำให้กระโดดเมื่อมีการรนำมาเติมจะเกิดการถกเถียงมาก ซึ่งหากกฎหมายแม่ไม่เสร็จเด็ดขาด กฎหมายลูกก็ทำได้ยาก อีกทั้งคนร่างกฎหมายทั้งกฎหมายแม่และกฎหมายลูกเป็นคนละคน จะทำพร้อมกันไม่ได้ ส่วนกรณีที่มีการเสนอแนวความคิดให้ใช้ระบบจัดเลือกตั้งแบบประเทศเยอรมันนั้น เห็นว่าไทยเคยใช้ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันแล้วคือระบบปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งการเลือกตั้งแบบเยอรมันเป็นเรื่องยาก และหากอะไรที่ยุ่งยากมีความซับซ้อนเมื่อเอามาใช้ในไทยก็จะเจ๊ง ส่วนการเลือกตั้งแบบไหนที่คนไทยจะเข้าใจง่ายนั้นก็ยังไม่รู้