posttoday

สนช.ผ่านวาระแรกร่างกฏหมายอุ้มบุญ

27 พฤศจิกายน 2557

สนช.ผ่านวาระแรกร่างกฎหมายอุ้มบุญ เน้นคุ้มครองเด็ก ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 18 คนพิจารณาต่อ

สนช.ผ่านวาระแรกร่างกฎหมายอุ้มบุญ เน้นคุ้มครองเด็ก ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 18 คน พิจารณาต่อ

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาวาระร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ซึ่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อกำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ให้เหมาะสม รวมทั้งควบคุมการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง

โดยมีสาระสำคัญ คือ ใช้บังคับการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เพื่อบำบัดรักษาภาวะการมีบุตรยาก ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์(กคพ.) มีหน้าที่กำหนดนโยบายคุ้มครองส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา วิจัยทางจริยธรรม รวมทั้งควบคุมและตรวจสอบการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ กำหนดการตั้งครรภ์แทน โดยหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจะต้องมีข้อตกลงเป็นหนังสือไว้ให้กับสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ว่าจะให้ทารกในครรภ์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ห้ามดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประธยชน์ทางการค้า และกำหนดบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ โดยมีโทษทั้งปรับและจำคุก 

ทั้งนี้ สมาชิกส่วนใหญ่ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว อาทิ นายภิรมย์ กมลรัตนกุล สนช. อภิปรายว่า เห็นด้วยกับการเสนอกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากสอดคล้องเทคโนโลยีทางการแพทย์ และตอบสนองความต้องการทางสังคม เพราะการมีบุตรเป็นส่วนสำคัญของสถาบันในครอบครัว กฎหมายฉบับนี้ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ การคุ้มครองเด็ก และป้องกันการค้ามนุษย์

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวมีข้อสังเกตว่า กฎหมายนี้น่าจะแก้ไขโดยเฉพาะคำนิยามในมาตรา 2 ที่รวมถึงการผสมเทียม ซึ่งไม่น่าจะนำมาเกี่ยวข้อง เพราะเรื่องผสมเทียมทำได้ตามปกติ องค์ประกอบของกรรมการในมาตรา 6 ที่ส่วนใหญ่เป็นกรรมการมาจากกรรมการกกโดยตำแหน่ง ซึ่งในร่างกฎหมายบางตำแหน่งไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ จึงน่าจะเพิ่มสัดส่วนแพทยทยสภา บุคลากรในสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเทคโยโลยีการเจริญพันธุ์ร่วมเป็นกรรมการ

นอกจากนี้ ในส่วนของการคุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ผิดกฎหมายต้องได้รับการคุ้มครอง เพราะเด็กเป็นผู้บริสุทธิ์ แม้เกิดจากการกระทำจากการฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้

ขณะที่นายกิตติ วะสีนนท์ สนช. กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เรียกง่ายๆ คือ กฎหมายอุ้มบุญ ซึ่งเห็นด้วยและสนับสนุนให้กฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้ เพราะที่ผ่านมาการอุ้มบุญไม่ถูกต้องตามครรลองครองธรรม หากออกกหมายฉบับนี้จะสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ป้องกันการค้ามนุย์และการทารุณ

จากนั้นพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้แจงว่า บทลงโทษในร่างกฎหมายจะเอาผิดทุกคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกฎหมายนี้มีความประสงค์หลักจะคุ้มครองเด็กและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่เป็นปัญหาขณะนี้ พร้อมคุ้มครองคนมีบุตรยาก โดยเป็นการดำเนินการยึดหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระแรกของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยคะแนน 177 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 18 คน มาพิจารณาร่างต่อไป