posttoday

"ไพบูลย์" ชง 3แนวคิดตรวจสอบอำนาจรัฐ

22 พฤศจิกายน 2557

ประธานอนุ กมธ. พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8ชง 3แนวคิดตรวจสอบอำนาจรัฐ ชี้ องค์กรอิสระไม่ควรมีอำนาจวินิจฉัยความผิด

ประธานอนุ กมธ. พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8ชง 3แนวคิดตรวจสอบอำนาจรัฐ  ชี้ องค์กรอิสระไม่ควรมีอำนาจวินิจฉัยความผิด

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ว่าด้วยนิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใชัอำนาจรัฐ ใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่าในการประชุม อนุ กมธ.ฯ วันจันทร์ที่ 24 พ.ย. จะมีการพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเป็นกรอบสาระสำคัญต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เบื้องต้นในกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้น ตนมีแนวคิดจะใช้ 3 ส่วนหลัก คือ 1.องค์กรอิสระ หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดไว้ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น, 2.ส่วนของผู้แทนปวงชนชาวไทย คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ตรวจสอบในประเด็นนโยบายรัฐบาล,โครงการรัฐบาลที่กระทบกับภาพกว้าง ซึ่งให้สิทธิ์ส.ส., ส.ว. สามารถตรวจสอบความผิดรัฐมนตรีและยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมได้โดยตรง และ 3.ภาคประชาชนโดยจัดตั้งสภาตรวจสอบภาคประชาชน จำนวน 77 จังหวัด ให้ตรวจสอบในส่วนของท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และให้อำนาจยื่นฟ้องศาลหรืออัยการประจำจังหวัดได้

นายไพบูลย์กล่าวด้วยว่า ขณะที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีข้อเรียกร้องให้ปรับปรุงกระบวนการทำงานหรือกระบวนการสรรหานั้นเป็นสิ่งอนุ กมธ. พิจารณาร่วมด้วย โดยประเด็นสำคัญคือ องค์กรอิสระ เช่น กกต. ไม่ใช่องค์อำนาจอธิปไตยที่ 4 ดังนั้นกระบวนการให้โทษ หรือ ให้คุณ จึงไม่ถือเป็นอำนาจขององค์กรอิสระ จึงไม่ควรมีหน้าที่วินิจฉัยความผิดเป็นต้น อย่างไรก็ตามประเด็นที่นำเสนอดังกล่าวจะถูกยกเข้าสู่ที่ประชุมอนุฯ เพื่อพิจารณากำหนดเป็นแนวทางที่นำไปยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป เบื้องต้นอาจมีความเห็นที่แตกต่างจากนี้