posttoday

"พิชิต"ข้องใจข้อมูลปิดบัญชีข้าวชี้เจตนาปั่นตัวเลขเอื้อคดี

14 พฤศจิกายน 2557

ทนายยิ่งลักษณ์ แจง การหักค่าเสื่อมทางบัญชีไม่ถูกต้อง ยังมีข้อโต้แย้งในชั้นป.ป.ช. มีการชี้นำตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงกว่าความเป็นจริง ส่งผลต่อรูปคดี

ทนายยิ่งลักษณ์ แจง การหักค่าเสื่อมทางบัญชีไม่ถูกต้อง ยังมีข้อโต้แย้งในชั้นป.ป.ช. มีการชี้นำตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงกว่าความเป็นจริง ส่งผลต่อรูปคดี

นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยและที่ปรึกษากฎหมายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  กล่าวถึงข่าวที่ว่า นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ออกมาสรุปว่า โครงการรับจำนำข้าว 15 โครงการ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีผลขาดทุนรวมอยู่ที่ 6.8 แสนล้านบาท และมีผลขาดทุน ใน 4 โครงการหลังในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ จำนวน 5.1 แสนล้านบาทนั้นตนขอตั้งข้อสังเกตว่า การปิดบัญชีของคณะอนุกรรมการชุดนี้ ถือเป็นการปิดบัญชีตามเอกสาร  ซึ่งข้อสรุปตัวเลขก่อนหน้านี้ทางปลัดกระทรวงเองในฐานะประธาน ก็ออกมายอมรับว่าตัวเลขบางส่วนยังไม่ตรงกัน  เพราะยอดสินค้าข้าวที่ขายไปได้ในแต่ละงวดของ อคส. และอตก.  เมื่อรวมกันแล้วยังไม่ตรงกับยอดสต๊อกข้าวที่เหลืออยู่  แต่จู่ๆ มาวันนี้ก็สามารถนำข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์ มาแถลงปิดบัญชีได้ ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก 

นายพิชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า  ตนเองไม่แปลกใจที่ตัวเลขการขาดทุนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะออกมาสูงมาก เพราะเนื่องจากคณะอนุกรรมการฯ ใช้วิธีการคำนวณมูลค่าสินค้าคงเหลือ ด้วยการหักค่าเสื่อมสินค้าในแต่ละปีเข้าไปด้วย  ซึ่งตามหลักการแล้วเรื่องนี้ไม่สามารถกระทำได้ เพราะสินค้าเกษตรนั้นมีวิธีคิดค่าเสื่อมแตกต่างกับสินค้าทั่วไปที่สามารถลงบัญชีหักค่าเสื่อมเพื่อลบออกจากต้นทุนการดำเนินโครงการ  ซึ่งตนได้เคยโต้แย้งประเด็นนี้ไว้กับ ปปช. แล้ว เนื่องจากการปิดบัญชีโครงการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรมีความจำเป็นต้องพิจารณาใช้หลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับการทำบัญชีเฉพาะ ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 2 (ปรับปรุง 2552) เรื่องสินค้าคงเหลือ ซึ่งสินค้าเกษตรจะสามารถรับรู้กำไรขาดทุนได้ก็ต่อเมื่อ มีการขายหรือมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่า  แต่ไม่สามารถหักค่าเสื่อมเป็นรายปีแบบสินค้าปกติได้

"พูดง่ายๆ ก็คือ ระบบการหักค่าเสื่อมทางบัญชี  จะนำมาใช้กับค่าเสื่อมสภาพทางการเกษตรไม่ได้ เพราะในหลักการบัญชีสากลนั้น ถือว่ามันเสื่อมราคากันคนละแบบ  คือเมื่อของเก่าลงราคาก็ลดลงไปตามปี  แต่สินค้าเกษตรจะขึ้นอยู่กับสภาพการจัดเก็บรักษาของสินค้าเกษตรว่าจะสามารถรักษาสภาพเริ่มต้นเอาไว้ได้นานแค่ไหน ดังนั้นการนับสภาพเสื่อมของสินค้าเกษตรจึงขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของสินค้านั้นๆ ไม่ได้เปลี่ยนไปตามระยะเวลาตามระบบบัญชีทั่วไป และจะรับรู้มูลค่าของสินค้าก็ต่อเมื่อมีการขายจริง”

นายพิชิตกล่าวสรุปว่า เมื่อคณะอนุกรรมการฯ ใช้หลักเกณฑ์ที่ผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงตามหลักการมาตรฐานบัญชีทั่วไป มาคำนวณกับตัวเลขสต๊อกข้าวที่รอการระบายอยู่  ตัวเลขจึงสูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งตนเชื่อว่า หากรัฐบาลสามารถเร่งระบายข้าวออกไปได้เร็ว ตัวเลขค้างสต๊อกก็จะลดลง และมีรายได้จากการระบายข้าวกลับเข้ามา หักลบกันไปตัวเลขก็ไม่น่าสูงมากขนาดนี้  ซึ่งตนเองมองว่า เรื่องนี้มีการจงใจที่จะสร้างตัวเลขให้สูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งจะส่งผลต่อรูปคดี ที่ได้มีการฟ้องร้องว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารราชการผิดพลาดทำให้เกิดความเสียหาย จึงขอเรียกร้องให้คณะอนุกรรมการฯ เปิดเผยตัวเลขสรุปการปิดบัญชีครั้งนี้อย่างโปร่งใส เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสรับรู้ โดยเฉพาะฝ่ายที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะได้ชี้แจงให้สังคมทราบข้อเท็จจริงได้ต่อไป