posttoday

ปปช.ฟัน38อดีตสว.ส่งสนช.ถอดถอน

13 พฤศจิกายน 2557

ปปช.ฟัน38อดีตสว.ฐานแก้รธน.ที่มาสว. "ดิเรก-จิตต์"ไม่ต้องยุติหน้าที่สปช. แต่ "กลชัย" ต้องเว้นวรรคสนช.ขั่วคราว

ปปช.ฟัน38อดีตสว.ฐานแก้รธน.ที่มาสว. "ดิเรก-จิตต์"ไม่ต้องยุติหน้าที่สปช. แต่ "กลชัย" ต้องเว้นวรรคสนช.ขั่วคราว

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า ที่ประชุมป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการถอดถอนอดีตสว.จำนวน 38 คน จากกรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 38 คน

นายสรรเสริญ กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก เห็นว่า สำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้องขอให้    ถอดถอนในส่วนของอดีตสว.ดังกล่าวเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติวินิจฉัยและดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดจนเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ และมีประกาศคสช.ฉบับที่ 11/2557 เรื่องการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 จะสิ้นสุดลง แต่การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีประกาศฉบับที่ 24/2557 ประกาศ ณ วันที่ 23 พ.ค.2557 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับต่อไป

ประกอบกับคดีดังกล่าวมีข้อกล่าวหาที่ครอบคลุมถึงการกระทำความผิดที่ถูกถอดถอนตามกฎหมายอื่น นอกจากการร้องขอถอดถอนตามรัฐธรรมนูญที่สิ้นสุดไปแล้วด้วย จึงทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนี้

นายสรรเสริญ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ต่อมามาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 ได้บัญญัติให้มีสนช.ทำหน้าที่สส. สว.และสมาชิกรัฐสภา และสนช.ได้ตราข้อบังคับการประชุมกำหนดให้สนช.มีอำนาจหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง    ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งเป็นการดำเนินการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 64 ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมเอกสาร และความเห็นของเรื่องนี้ไปยังประธานสนช.เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

สำหรับอดีตสว.จำนวน 38 คนที่ป.ป.ช.ส่งให้สนช.ดำเนินการถอดถอนประกอบด้วย 1. นายประสิทธิ์ โพธสุธน 2.นายสมชาติ พรรณพัฒน์ 3.พล.ต.ต.องอาจ สุวรรณสิงห์ 4.นายดิเรก ถึงฝั่ง 5.นายประวัติ ทองสมบูรณ์ 6.นายกฤช อาทิตย์แก้ว 7.นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ 8.พลตำรวจโท พิชัย สุนทรสัจบูลย์ 9.นายโสภณ ศรีมาเหล็ก 10.นายภิญโญ สายนุ้ย 11.นายต่วนอับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ 12.นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ 13.นายสุเมธ ศรีพงษ์ 14.พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ 15.นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล 16.นายพีระ มานะทัศน์ 17.พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ 18.นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์

19.พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ 20.นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล 21.นายวรวิทย์ บารู 22.นายสุโข วุฑฒิโชติ 23.นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง 24.นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล 25.นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง 26.นายรักพงษ์ ณ อุบล 27.นายบวรศักดิ์ คณาเสน 28.นายจตุรงค์ ธีระกนก 29.นายสุริยา  ปันจอร์ 30.นายถนอม ส่งเสริม 31.นายบุญส่ง โควาวิสารัช 32.นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง 33.นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ 34. นายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ์ 35.นางภารดี จงสุขธนามณี 36.พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน 37.นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร 38. นายวิทยา อินาลา

ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่านายดิเรก และ พ.ต.ท.จิตต์ อาจไม่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสปช.เป็นการชั่วคราวจนกว่าสนช.จะมีมติไม่ถอดถอน เนื่องจากทั้งสองคนไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมาย โดยเทียบเคียงจากกรณีที่ป.ป.ช.ได้มีความเห็นว่าสมาชิกสปช.ไม่จำเป็นต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม ยังบอกว่าตำแหน่งสมาชิกสปช.เป็นตำแหน่งสำคัญของประเทศในเวลานี้ เพราะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญในขั้นตอนสุดท้าย

ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสนช. กล่าวว่า ตามกระบวนการเมื่อสำนวนและรายงานของป.ป.ช.มาถึงประธานสนช.จะต้องบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสนช.ภายใน 30 วันตามข้อบังคับการประชุม เพื่อเริ่มกระบวนการถอดถอน แต่สำหรับกรณีการชี้มูลความผิดพล.ต.กลชัย ที่เป็นสมาชิกสนช.นั้นคงต้องยุติการปฎิบัติหน้าที่ชั่วคราวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต