posttoday

พรรคการเมืองพร้อมให้ความเห็นกมธ.รธน.

11 พฤศจิกายน 2557

พรรคการเมืองพร้อมร่วมให้ความเห็นกมธ.ยกร่างฯ ขณะที่ “ชูวิทย์” ปฏิเสธแนะเขียนรัฐธรรมนูญระบุอำนาจทหารให้ชัด

พรรคการเมืองพร้อมร่วมให้ความเห็นกมธ.ยกร่างฯ ขณะที่ “ชูวิทย์” ปฏิเสธแนะเขียนรัฐธรรมนูญระบุอำนาจทหารให้ชัด

นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า พรรคพร้อมให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะเดินทางไปให้ความเห็นด้วยตนเอง ซึ่งพรรคมีกรอบประเด็นอยู่แล้วทั้งการเข้าสู่อำนาจ การถอนทุน องค์กรอิสระ

อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องพรรคมีคำตอบให้หมดและไม่มีใครเข้าใจประเด็นได้ดีเท่านายอภิสิทธิ์อีกแล้ว สำหรับผมอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่จะออกมาใหม่มีการถ่วงดุลกันในระบบรัฐสภาอย่างแท้จริง เพราะอดีตที่ผ่านมาไม่มีการถ่วงดุลกันจริงแต่เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารมีอำนาจมากกว่าฝ่ายสภา รวมทั้งองค์กรอิสระก็ไม่สามารถถ่วงดุลได้จริง ประเทศไทยควรจะปฏิวัติวัฒนธรรมประชาธิปไตย ที่มีการพูดกันเรื่องต่างๆ เช่นรัฐสวัสดิการ หรือทุนนิยมสามานย์ มีการพูดกันมาตั้งแต่ปี 2475 แล้วแต่เกิดขึ้นไม่ได้จริง

“เวลานี้เป็นยุคกระหายคนดี โดยสปช.อยากให้คนดีเข้าสู่การเมือง การจะพิสูจน์ว่าคนดีหรือไม่ดีด้วยการเอาอำนาจไปใส่ในมือ ก็จะเห็นธาตุแท้ออกมา เพราะถ้ามือว่างเปล่าจะไม่รู้ว่าคนนั้นเป็นอย่างไร แต่นิยามคนดีของสปช.กับนักการเมืองมันสวนทางกัน ตอนนี้สังคมกำลังสับสนกับเรื่องนี้อย่างมาก”นายนิพิฎฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ หากต้องการรู้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะออกมาเป็นอย่างไรให้จับตาดูท่าทีของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวจริง ส่วนนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯนั้น เป็นแค่ตัวหลอกหรือเป็นเครื่องมือเท่านั้น  ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีระบบเลือกนายกฯโดยตรง

“เพราะนายวิษณุได้ส่งสัญญาณมาแล้ว เพราะบอกว่าในระบบรัฐสภาไม่เคยเห็นว่านายกฯจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดังนั้นคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ควรจะหยุดได้แล้ว รวมถึงข้อเสนอให้มีอภิรัฐมนตรีที่เป็นเรื่องเลอะเทอะ ร้อนวิชาของคนในสถาบันพระปกเกล้าฯ และการจะเอาอำนาจอื่นมาคานอำนาจประชาชนนั้นเป็นไปไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม การเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการมาถูกทางแล้ว แต่จะเป็นประโยชน์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขึ้นอยู่ว่าเขาจะเลือกฟังใครระหว่างตัวแทนของแต่ละพรรค แต่ควรฟังคนที่ควรฟังจะได้ประโยชน์ที่สุด

ด้าน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ขณะนี้พรรคยังไม่สามารถตัดสินใจใดๆได้ทั้งสิ้น เนื่องจากมีปัญหาตรงที่ไม่สามารถประชุมพรรคการเมืองได้ตามข้อห้ามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ดังนั้น คงต้องรอหนังสือจากกมธ.ยกร่างฯให้มาถึงพรรคอย่างเป็นทางการก่อน ว่ามีรายละเอียดและวัตถุประสงค์อย่างไรบ้าง จากนั้นพรรคคงจะมีการหารือและตัดสินใจอีกครั้ง

"เราคงต้องคิดให้รอบคอบและดูองค์ประกอบหลายๆอย่าง เพราะก่อนหน้านี้พรรคเคยประกาศออกไปแล้วว่าจะไม่ส่งตัวแทนเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ" นายสมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ไปให้ความเห็นต่อกมธ.ยกร่างฯ เพราะไม่เคยเชื่อว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะสามารถแก้ไขวงจรอุบาทว์ได้ และการอ้างการทุจริตคดโกงหรืออ้างความขัดแย้ง แต่ปัญหา คือ กลุ่มอำนาจที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญได้คือทหารที่กมธ.ยกร่างฯเองก็ไม่กล้าพูดถึง ไม่กล้าแตะ

“ถ้าผมไปพูดก็ไร้ประโยชน์ สื่อก็ไม่กล้าลง แต่เห็นด้วยที่เอากลุ่มขัดแย้งมาพูดคุยกันแต่คนที่ตบโต้ะหรือล้มโต๊ะได้ไม่มีใครกล้าจึงขอให้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ช่วยตราในรัฐธรรมนูญให้ชัดถึงอำนาจที่ 4 คือ ทหาร ไม่ใช่อภิรัฐมนตรีอย่างที่ตีปี๊ปกัน เขียนให้ชัดท้ายรัฐธรรมนูญ ว่าถ้ามีการทะเลาะหรือทำไม่ได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ขอให้ทหาร มีสิทธิ์ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เอากันให้ชัดเจนอย่างนี้จะดีกว่า”นายชูวิทย์ กล่าว

นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล กล่าวว่า พรรคพร้อมให้ความร่วมมือกับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนจะส่งใครเป็นตัวแทนพรรคเพื่อร่วมหารือนั้น ก็คงต้องพูดกันเป็นการภายในก่อน

สำหรับพรรคภูมิใจไทยนั้นมีรายงานข่าวแจ้งว่า พรรคพร้อมร่วมมือในการส่งตัวแทนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกมธ.ยกร่างฯ โดยจะมอบให้นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรค และนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรค เข้าร่วม ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ก็พร้อมเข้าร่วมหารือครั้งนี้ แต่ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ และอาจกลับมาทันในวันที่ 19 พ.ย. ซึ่งตรงกับวันที่กมธ.ยกร่างฯนัดพรรคภูมิใจไทยมาหารือก็จะเข้าร่วมด้วย