posttoday

กก.สมานฉันท์ เจ้าภาพรื้อรธน.‘ดิเรก’รับลูกร่างเดียวแก้6ประเด็น

25 กันยายน 2552

โพสต์ทูเดย์ — วิป 3 ฝ่าย โยนกรรมการสมานฉันท์ ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านปิดทาง ส.ส.ร. 3 อ้างไม่มีกฎหมายรองรับ

โพสต์ทูเดย์ — วิป 3 ฝ่าย โยนกรรมการสมานฉันท์ ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านปิดทาง ส.ส.ร. 3 อ้างไม่มีกฎหมายรองรับ

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยภายหลังการประชุมวิป 3 ฝ่าย ได้แก่ วิปรัฐบาลวิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภาว่า ที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เป็นผู้เสนอ โดยให้สส.และสว.ร่วมกันลงชื่อเพื่อเสนอญัตติ

“สำหรับวิธีการยกร่างจะเสนอรวมเป็น 1 ร่าง 6 มาตรา หรือแยกเป็น 6 ร่าง 6 มาตรา และแนวทางของการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ตัวแทนของแต่ละฝ่ายไปหารือกันเอง แล้วนำมาเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 1 ต.ค. โดยจะพูดถึงกรอบเวลาในการดำเนินการด้วย และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปต่อไป” นายชินวรณ์ ระบุ

ประธานวิปรัฐบาล กล่าวด้วยว่า ข้อกังวลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรกที่ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือ 311 คนจะทำได้หรือไม่ เพราะเบื้องต้นกลุ่ม 40 สว.ยังไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เรื่องนี้จะต้องมีการแสวงหาความร่วมมือต่อไป แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือ

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ในส่วนของฝ่ายค้านยืนยันร่างแก้ไขจะต้องเป็นร่างเดียวเท่านั้น และเชื่อว่าทุกฝ่ายก็จะเห็นด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมก็มีเสียงตอบรับที่ดี ส่วนการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.3) นั้นคงไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับ รวมทั้งการทำประชามติก็มีแต่จะสิ้นเปลืองมากกว่า

ขณะที่นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ในเมื่อทั้ง 3 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะแก้ทั้ง 6 ประเด็นแล้ว ก็ควรจะยกร่างแก้ไขเป็นร่างเดียว เนื่องจากหากทำเป็น 6 ร่าง หากมีสส.และสว.ที่ไม่เห็นด้วยในบางประเด็น ก็จะไม่ยกมือโหวตให้ และอาจส่งผลให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความสมานฉันท์ได้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุป ยังคงต้องรอการประชุมหารือร่วมกับนายกฯ ก่อน หากผลออกมาเป็นอย่างไร คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ก็น้อมรับ เชื่อว่าการยกร่างจะใช้เวลาไม่นาน เพราะในคณะกรรมการมีบุคคลที่ศึกษาเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ทั้งการทำประชามติ หรือประชาวิจารณ์ ก็ต้องหารือกันอีก

นายดิเรก กล่าวต่อว่า กรณีที่กลุ่ม 40 สว.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เป็นปัญหา โดยกลุ่ม 40 สว.สามารถแก้ไขในชั้นแปรญัตติได้ และหากจะไม่ลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เป็นไร ก็ขอแค่สส.และสว. ลงชื่อให้ครบตามจำนวนคือ 1 ใน 5 ก็พอแล้ว ส่วนการฟ้องร้องกรณีสส.และสว.ร่วมลงชื่ออาจขัดรัฐธรรมนูญ ขอร้องให้ทุกฝ่ายเลิกทิฐิมานะเพื่อเห็นแก่บ้านเมือง