posttoday

หวานเสียจริง

08 มิถุนายน 2553

ในต้นปีหน้า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แย้มเป็นนัยๆ อาจมีการเลือกตั้งใหญ่

ในต้นปีหน้า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แย้มเป็นนัยๆ อาจมีการเลือกตั้งใหญ่

แต่กว่าจะถึงต้นปีหน้า ไม่รู้ปัญหาการบริหารจัดการของรัฐบาล จะทำให้เกิดต้นทุนประชาธิปไตยที่หลายๆ คนจำเป็นต้องจ่าย มันจะพอกพูน งอกเงยขึ้นมาเท่าใด

เอาเรื่องน้ำตาล แสนหวานที่กลายเป็นน้ำตาลขมเป็นตัวอย่างก็ได้

ปัญหาน้ำตาล ปะทุมาหลายเดือน ประเด็นสำคัญเกิดขึ้นจากการที่ปริมาณน้ำตาลตึงตัว เข้าสู่ตลาดน้อยเกินไป

แน่นอน ตามหลักเศรษฐศาสตร์เมื่อความต้องการ (Demand) มีมากกว่าปริมาณการผลิต (Supply) ย่อมทำให้เกิดภาวะสินค้าตึงตัว และราคาสินค้าต้องขยับ

แต่ที่น่าพิจารณามากกว่าก็คือ เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ การแก้ปัญหาน้ำตาลทรายขาดแคลนทำกันอย่างไร

2 กระทรวงสำคัญ คือ กระทรวงพาณิชย์ กับกระทรวงอุตสาหกรรมต้องรับผิดชอบ

แนวทางแก้ปัญหาในช่วงที่ผ่านมาก็คือ กระทรวงพาณิชย์จะได้รับมอบน้ำตาลทราบภายใต้โควตาพิเศษ 8 แสนกระสอบ มาบริหารจัดการ เพื่อให้น้ำตาลทรายเข้าสู่ตลาด

ฟังดูแล้วดี แต่ทว่าในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น

เพราะน้ำตาลทรายโควตาพิเศษที่ว่าจำหน่ายได้เพียง 8 หมื่นกว่ากระสอบ จากที่มีถึง 8 แสนกระสอบ

น้ำตาลทรายโควตาพิเศษ กระทรวงพาณิชย์จัดสรรให้กับผู้ที่คัดเลือก 11 ราย แต่ก็เกิดปัญหามากมาย ไม่สามารถระบายน้ำตาลออกมาได้ โดยเฉพาะประเด็นข้อสรุปเกี่ยวกับการยกเว้น การนำเงินส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 5 บาทต่อกิโลกรัม

กลุ่มโรงงานจึงขอนำน้ำตาลที่เหลือมาจำหน่ายตามกลไกปกติ โดยให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้จัดจำหน่าย ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์รับโควตาไปแล้วก็ขายไม่ออก

นี่แหละถึงได้บอกว่า น้ำตาลทรายเป็นตัวอย่างของการบริหารจัดการในรัฐบาลชุดนี้ ที่แก้ปัญหาไม่ได้

เพราะแทนที่เมื่อเกิดปัญหาน้ำตาลทรายไม่พอเพียง การแก้ไขที่ควรจะต้องทำคือ การระบายน้ำตาลทรายเข้าสู่ตลาดให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ก็กลับไปจัดสรรโควตาพิเศษไปขายแบบจำเพาะเจาะจง ซึ่งแก้ปัญหาทั้งระบบไม่ได้

ผลที่ตามมาก็คือ คนใช้น้ำตาลเดือดร้อนสาหัส โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้น้ำตาล ต้องจ่ายแพงกระสอบละ 3,000 บาท

เงินที่ต้องจ่ายแพงนี้ หายไปไหน ไม่มีใครรู้

น้ำตาล ทำไมถึงช่างหวานคอเสียจริง