posttoday

อลงกรณ์แจงดึงคนนอกร่วมร่างรธน.หวังทุกฝ่ายยอมรับ

26 ตุลาคม 2557

“อลงกรณ์” เหตุแบ่งโควต้าคนนอกร่วมกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญเพราะหวังให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย พร้อมน้อมรับหากที่ประชุมตีตก

“อลงกรณ์” เหตุแบ่งโควต้าคนนอกร่วมกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญเพราะหวังให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย พร้อมน้อมรับหากที่ประชุมตีตก

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ด้านพลังงาน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสปช. (วิปสปช.) ชั่วคราว กล่าวว่า ในการประชุมสปช. วันที่ 27ต.ค.เวลา 10.00 น. ในฐานะเลขาฯวิปสนช.ชั่วคราว จะรายงานมติของวิปฯ ที่เสนอสัดส่วนกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของสปช. จำนวน 20 คน โดยแบ่งให้เป็นโควต้าคนนอก 5 คน ให้ที่ประชุมรับทราบ

ทั้งนี้ เหตุผลส่วนหนึ่งที่กรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติเห็นด้วย คือการคำนึงถึงต้นทาง และปลายทาง ของการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าหัวใจสำคัญไม่ใช่เฉพาะการเขียนรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการยอมรับในรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย เมื่อมีการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญจะต้องเป็นที่ยอมรับไม่ถูกปฏิเสธ ไม่ถูกมองว่าเป็นผลพวงจากการรัฐประการหรือเป็นผลไม้พิษ ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นก้าวใหม่ของประเทศ โดยเฉพาะการยกร่างรัฐธรรมนูญ และแผนแม่บทปฏิรูปประเทศก็ไม่ควรแบ่งฝ่าย แต่ควรเริ่มต้นด้วยการหันหน้าเข้าหากัน

อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมใหญ่ว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยในช่วงบ่ายสปช.แต่ละด้านจะแยกกันไปประชุม เพื่อหาบุคคลที่เหมาะสมเป็นตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 28 ต.ค. เพื่อให้ความเห็นชอบ ส่วนโควต้าคนนอก 5 คน จะมีการคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4พ.ย. แต่หากมติส่วนใหญ่ของที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับแนวทางของวิปฯ ก็พร้อมยอมรับ และปฏิบัติตาม

“สมาชิกสปช.มีความรู้ ความสามารถที่จะเป็นกรรมาธิการยกร่างฯได้ทุกคน แต่ในส่วนของวิปฯได้มองถึงเรื่องการยอมรับในบั้นปลาย หากเกิดการไม่ยอมรับเท่ากับว่าประเทศสูญเสียเวลา และจะเป็นการเริ่มต้นความขัดแย้งครั้งใหม่ ที่ผ่านมาเราผ่านวิกฤตทางการเมืองมามาก รัฐประหารหลายครั้ง ยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 19 ครั้ง แต่เราไม่เคยก้าวพ้นความขัดแย้งได้เลย”นายอลงกรณ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ขณะนี้มีสมาชิกสปช.ที่ไม่เห็นด้วยกับสัดส่วนดังกล่าว นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สมาชิกแต่ละคนมีเหตุผลของตัวเอง เพื่อนำมาพูดคุยในที่ประชุม