posttoday

"ส.ศิวรักษ์"เขียน"จดหมายรักถึงเผด็จการ"

23 ตุลาคม 2557

"ส. ศิวรักษ์" แนะนายกฯรับฟังความเห็นคนอื่น ห่วงรัฐบาลเน้นไปทางทุนนิยม เตือน คนรอบข้างล้วนใกล้ชิด "ทักษิณ" หวั่นทำปฏิรูปล้มเหลว

"ส. ศิวรักษ์" แนะนายกฯรับฟังความเห็นคนอื่น ห่วงรัฐบาลเน้นไปทางทุนนิยม เตือน  คนรอบข้างล้วนใกล้ชิด "ทักษิณ" หวั่นทำปฏิรูปล้มเหลว

นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ ได้เผยแพร่บทความผ่านทางเฟซบุ๊ก "Sulak Sivaraksa" ภายใต้ชื่อบทความ "จดหมายรักถึงเผด็จการ (ฉบับสรุปสาระสำคัญ)" มีเนื้อหาว่า

 I
ก็ในเมื่อ คสช. ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จมาได้ 5 เดือนเข้านี่แล้ว จึงเห็นควรเขียนจดหมายรักถึงโดยตรง นอกเหนือจากที่รวมพิมพ์เป็นเล่มแล้ว ดังให้ชื่อว่า จดหมายรักถึงเผด็จการ โดยที่เผด็จการหรือ dictator นั้น เป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นแต่ครั้งกรุงโรมสมัยโบราณปกครองบ้านเมืองมานั้นแล้ว หากกำหนดให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ในระยะสั้น เมื่อแก้วิกฤตการณ์ได้แล้วก็ต้องลาออกจากตำแหน่งไป

จูเลียส ซีซาร์ เป็นนักการทหารและนักการเมืองที่สามารถมาก ในกรุงโรมสมัยโบราณ แต่สมาชิกรัฐสภาเกรงว่าเขาจะรวบอำนาจการเป็นเผด็จการตลอดชีพ จึงหาทางสังหารเขา ที่รัฐสภานั้นเอง และคนที่ร่วมวางแผนในฆาตกรรมนี้เป็นนายทหารคนสนิทของเขาเลยทีเดียว ดังตอนที่ซีซาร์ถูกแทง ได้ลั่นวาจาว่า “Ettu Brutus” ซึ่งแปลว่า “บรุตัส เจ้าก็เอากับเขาด้วยหรือ” แท้ที่จริง เผด็จการนั้นมักถูกคนใกล้ชิดหักหลังมาเสียนักต่อนักแล้ว

ในสมัยนั้น ถือกันว่าซิเซโรเป็นนักประชาธิปไตยที่สำคัญยิ่ง และในที่สุดเขาก็ถูกออกัสตัส ซีซาร์ บุตรบุญธรรมของจูเลียสสั่งสังหารอย่างโหดร้ายยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ออกัสตัสนับถือบุคคลผู้นี้มิใช่น้อยแต่เมื่อเป็นศัตรูกันแล้ว ก็เอาไว้ไม่ได้ นี่แหละการเมืองล่ะ

ซิเซโรได้เอ่ยวลีอันเป็นอมตะที่เกี่ยวกับการเมือง การปกครองไว้ว่า “พื้นฐานของระบอบการปกครองบ้านเมืองนั้นมีอยู่สามอย่างคือ ราชาธิปไตย อภิชนาธิปไตย และประชาธิปไตย แต่ละระบอบมีจุดเด่นและจุดด้อย ที่กรุงโรมมีความเป็นเลิศทางด้านการปกครองอย่างไม่เหมือนใคร เพราะมีธรรมนูญที่รวมทั้งสามระบอบไว้ด้วยกัน” โดยซิเซโรตอนเอาคำของสกิปิโอมาอ้างว่า “ในทางส่วนตัวแล้ว ชอบระบอบที่มีพระราชาที่ดี ซึ่งเป็นบิดาของพลเมือง และแนวโน้มที่พระราชาจะกลายไปเป็นทรราชนั้น ยากที่จะขจัดเสียได้ ฉะนั้นการปกครองที่เป็นไปในทางสายกลางที่มีความสมดุล คือรัฐบาลที่รวมสามระบอบเข้าไว้ด้วยกันอย่างเหมาะสม ซึ่งว่าไปแล้วดีกว่าระบอบราชาธิปไตย” และแล้วซิเซโรก็สรุปว่า “รัฐบาลนั้นควรปกครองโดยอาศัยวุฒิสภา โดยที่ราษฎรย่อมได้อิสรภาพ แต่ราษฎรแทบไม่มีส่วนในทางพฤติกรรมการเมือง หากทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินการไปโดยอาศัยอำนาจอันชอบธรรมของวุฒิสภา และตามแนวทางประเพณีแห่งการเมือง ที่สืบเนื่องกันเรื่อย ๆ มา โดยที่เรามีกงสุล (consul) สองคนคุมอำนาจไว้ แต่กงสุลก็อยู่ในอำนาจคราวละปีเท่านั้น แม้อำนาจของกงสุลนั้นยิ่งใหญ่ ดังกับเป็นพระราชาและเป็นผู้อนุมัติกฎบัตรกฎหมายต่าง ๆ หลักอีกประการหนึ่งซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง คือการรักษาอำนาจของพวกอภิชนไว้อย่างเข้มงวดกวดขัน ทั้งนี้หมายความว่า การกระทำใด ๆ ที่เสนอในสภาประชาชน จะสัมฤทธิ์ผลก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากวุฒิสภา”

โดยที่เราต้องเข้าใจว่า สภาประชาชนนั้นคล้าย ๆ กับสภาผู้แทนราษฎร หากตอนนั้นประชาชนเข้าประชุมได้โดยตรง ไม่จำต้องเลือกใครเข้ามาแทน ในขณะที่สมาชิกวุฒิสภามาจากอภิชนหรือคนที่มีสกุลรุนชาติเท่านั้น โดยที่โรมเวลานั้นเรียกอภิชนว่า Patrician และเรียกสามัญชนว่า Plebian หรือไพร่คือพวกแรกเป็นอำมาตย์ หากที่พวกหลังใส่เสื้อแดงนั้นเอง

Anthony Everitt ที่แต่งประวัติซิเซโร กล่าวเพิ่มเติมต่อไปด้วยว่า “ทฤษฎีที่ใช้ธรรมนูญการปกครองในแนวทางที่รวมสามระบอบเข้าด้วยกันนั้น มีอิทธิพลกับความเป็นไปในแนวคิดทางการเมืองของยุโรปในมัธยมสมัย ตราบจนสมัยที่ยุโรปตื่นตัวทางวิทยาการอย่างใหม่ โดยที่แนวทางนี้เป็นที่นิยมชมชอบจนคริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้วขยายต่อมาเป็นประชาธิปไตยร่วมสมัย”

เมื่อการคานอำนาจของสามระบอบนี้ปลาสนาการไป โดยที่บางประเทศขจัดกษัตริย์ออกไปเลย แล้วอภิชนก็หมดดีที่ไม่อาจสืบสายสกุลทางด้านการเห็นประโยชน์สุขของสาธารณชนยิ่งกว่าตน ก็ทำให้พวกนี้หมดคุณค่าไปทั้งในทางทรัพย์ศฤงคารและอำนาจวาสนา ดังขอให้ดูได้ว่าสภาขุนนางของอังกฤษ ว่าเสื่อมทรามไปอย่างไรบ้าง พวกไพร่จึงใช้สภาสามัญรวบอำนาจไว้ จนสถาบันกษัตริย์เป็นเจว็ดเท่านั้น และแล้วประชาธิปไตยของอังกฤษก็เป็นเผด็จการทางด้านทุนนิยมอย่างเลวร้าย ดังเห็นได้ชัดในสมัยมากาเรต แทตเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง แม้เธอจะมาจากพรรคอนุรักษ์นิยม แต่เธอเป็นลูกคนขายของชำ ครั้นโทนี่ แบลมาดำรงตำแหน่งแทน จากพรรคสังคมนิยม เขาก็ถูกกล่าวหาว่าเลวร้ายพอ ๆ กับนางแทตเชอร์นั้นแล

แต่แล้ว คนไทยที่คลั่งประชาธิปไตยก็ไม่เข้าใจความเป็นมาของระบอบการปกครองที่ว่านี้กันเอาเลย

พูดถึงอังกฤษแล้ว ก็ขอเอ่ยถึงสหรัฐอเมริกาบ้าง โดยที่สองประเทศนี้ถือว่าเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยสมัยใหม่ ดังในหลวงรัชกาลที่ 7 รับสั่งว่า ประชาธิปไตยเหมาะสมกับพวกแองโกลแซกซันเท่านั้น เพราะในรัชกาลนั้นระบอบเผด็จการกำลังรุ่งเรืองขึ้นทั้งที่เยอรมนีและอิตาลี โดยรวมไปถึงญี่ปุ่นด้วย

พระองค์เจ้าธานีนิวัติ เสนาบดีกระทรวงธรรมการในรัชกาลนั้น กราบบังคมทูลว่าสยามควรจัดการศึกษาแบบฟาสซิสต์ที่อิตาลี จะดีไหม โดยงดเสรีภาพอย่างจัง ๆ และสอนให้ราษฎรเห็นตามรัฐบาลอย่างเซื่อง ๆ

ทรงมีพระราชกระแสว่าอิตาลีทำได้เพราะเป็นฝรั่ง ทางเรานั้น ฝรั่งถือว่าล้าหลัง ขืนทำเช่นนั้น จะถูกพวกอังกฤษโจมตียับไปเลย และรับสั่งต่อไปว่า จะห้ามไม่ให้ราษฎรด่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะคนไทยด่าพระเจ้าแผ่นดินมาแต่ไหนแต่ไร แม้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ราษฎรก็ด่าว่าพระราชา

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ ป. พิบูลสงครามจะเห็นว่าฮิตเลอร์กับมุสโสลินี เป็นแบบอย่างทางการเมือง การปกครอง ดังญี่ปุ่นก็เป็นอีหรอบเดียวกัน

เวลานั้นชนชั้นนำของสหรัฐก็อุดหนุนนาซีที่เยอรมัน ซึ่งแม้จะเป็นเผด็จการ ก็ไม่ขัดขวางทุนนิยม ในขณะที่สหภาพโซเวียตเป็นเผด็จการฝ่ายซ้าย ซึ่งต่อต้านทุนนิยม

แล้วประชาธิปไตยในระบอบทุนนิยมของสหรัฐ แม้ในบัดนี้แล้ว ก็ขออ้างคำของ Emmanuel Suez มาแปลให้ฟังดังนี้ “ในสหรัฐ คนรวย 10% เพิ่มความมั่งคั่งขึ้นราวๆ 33% จากปลายทศวรรษที่ 1970 จนถึง 56% ในปีค.ศ. 2012 ยอดสุดของคนรวย1% มีรายได้เพิ่มขึ้น 20% จากสมัยเรแกนนั้น ถึงบัดนี้ เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ”

นี้ดูด้านเศรษฐกิจประเด็นเดียว ถ้าดูด้านสังคม ก็จะเห็นได้ว่าสหรัฐขยายคุกตะรางยิ่ง ๆ ขึ้น จนชาวนารายย่อยมีน้อยกว่าจำนวนทัณฑสถาน เพราะการกสิกรรมส่วนใหญ่อยู่ในมือของบรรษัทข้ามชาติ และทัณฑสถานทุกแห่ง มีแต่คนจน คนผิวดำ คนเชื้อสายแมกซิกัน และคนเอเชีย คนผิวขาวแต่ชั้นกลางขึ้นไปเกือบไม่มีอยู่ในคุก ยิ่งชนชั้นสูงด้วยแล้ว แม้ถูกลงโทษสถานใด ก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ได้ ดังกรณีของอดีตประธานาธิบดีนิกสันเป็นตัวอย่าง

เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยของอังกฤษกับสหรัฐมาแล้ว ขอนำคำของ Tony Judt ซึ่งเคยเป็นอาจารย์มาแล้ว ทั้งที่ออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ หากโยกย้ายไปอยู่สหรัฐฯ จนเพิ่งสิ้นชีวิตไปเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ข้าพเจ้าถือว่าเขาเป็นปัญญาชนที่ยอดเยี่ยม คนหนึ่งของโลก ดังขอแปลคำของเขามาให้อ่านกันดังต่อไปนี้

“ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่สำคัญหรือเหมาะสม สำหรับสังคมที่ดีและเปิดเผย ข้าพเจ้าไม่ต้องการที่จะได้ชื่อว่าโอนเอนเอามาก ๆ เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย จนอาจถูกกล่าวหาว่าพอใจในระบอบอภิชนาธิปไตย ในสังคมที่มีเสรีภาพ อย่างในสมัยศตวรรษที่ 19 แต่ข้าพเจ้าขออ้างคำของไอไซอะ เบอลิน ผู้มีจุดยืนอย่างสำคัญที่แนะว่า เราควรยอมรับว่าสังคมดั้งเดิมก่อนมีระบอบประชาธิปไตยนั้น ควรได้รับความเคารพนับถือว่านั่นในบางกรณีแล้ว สังคมดังกล่าวดีกว่าระบอบประชาธิปไตยเสียอีก”

โดยที่เขาสรุปว่า “ประชาธิปไตยแบบมวลมหาประชาชนนั้น มีแนวโน้มไปในทางสร้างนักการเมืองที่กึ่งดิบกึ่งดี ที่ทำให้ข้าพเจ้าวิตก นักการเมืองส่วนใหญ่ในสังคมเสรีทุกวันนี้ มีมาตรฐานต่ำ ไม่ว่าคุณจะเริ่มที่อังกฤษ แล้วไปจบลงที่อิสราเอล หรือคุณจะเริ่มที่ฝรั่งเศส ไปจนตลอดยุโรปตะวันออก หรือคุณจะเริ่มที่อเมริกาแล้วไปจบลงที่ออสเตรเลีย การเมืองไม่ใช่สถานที่ที่บุคคลซึ่งเป็นไทแก่ตัว ที่มีจิตใจและลมหายใจที่เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย”

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปแสดงสุนทรพจน์ที่ National Endowment for Democracy ที่กรุงวอชิงตัน และข้าพเจ้าได้เอ่ยข้อความดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ เป็นภาษาอังกฤษ ดูประธานหน่วยงานแห่งนั้นจะไม่พอใจเอามาก ๆ เลยทีเดียว

ข้าพเจ้าจึงขยายความให้เขาฟังต่อไปว่า บุชพ่อลูกที่เป็นประธานาธิบดีติดต่อกันมาดังสืบราชสันตติวงศ์นั้น เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ ละหรือ ยัง ดิก เชนนี เป็นรองประธานาธิบดีที่มีอำนาจเหนือประธานาธิบดีนั้นเล่า ก็เพราะเขาหากินใกล้ชิดกับบรรษัทข้ามชาติยิ่งกว่าใคร ๆ มิใช่หรือ ข้าพเจ้าบอกเขาต่อไปด้วยว่า ถ้าตราบใดสหรัฐฯยังยอมให้คนอุดหนุนเงินแก่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าไรก็ได้ แล้วยังเรียกภาษีคืนได้อีกด้วย บรรษัทข้ามชาติย่อมทุ่มเงินช่วยคนของเขา ดังโรแนลด์ เรแกน ซึ่งเป็นดาราภาพยนตร์ฮอลลีวูดก็ได้เป็นประธานาธิบดี ถ้าสหรัฐฯทำตามข้อเสนอของเจอรี่ บราวน์ ซึ่งบัดนี้เป็นผู้ว่าราชการรัฐคาลิฟอเนีย ว่าเงินช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่ควรอุดหนุนได้เกิน $100 ต่อคน หรือนิติบุคคลใด ๆ ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ ประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระ น่าจะกลับคืนมาได้ยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่จำต้องเป็นจักรวรรดิอีกต่อไป เพราะจักรวรรดิคือการใช้แสนยานุภาพ ไปปราบบ้านอื่นเมืองอื่น โดยมีบรรษัทข้ามชาติอุดหนุนอย่างเต็มที่

ถ้าเป็นเช่นนั้น เผด็จการดีกว่าประชาธิปไตย ละหรือ

หากสรุปเช่นนั้น ก็ง่ายดายเกินไป

ไม่ว่าประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ความสำคัญอยู่ที่ผู้นำในการบริหารระบอบดังกล่าว ถ้าผู้นำไม่มีชนักติดหลังมากเท่าไร เช่นปลอดไปจากอำนาจของบรรษัทข้ามชาติ หรือกองทัพที่คอยควบคุมเขาอยู่ทางข้างหลัง เขาย่อมเป็นอิสระได้มาก โดยที่เผด็จการใช้อำนาจได้เบ็ดเสร็จ เมื่อเป็นเช่นนั้น การใช้อำนาจไปในทางฉ้อฉล ย่อมเป็นไปได้ง่าย เพราะไม่มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง และไม่อนุญาตให้มีเสรีภาพในการคัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย แต่ถ้าระบอบการปกครองใด ๆ ก็ตาม หากมีผู้นำที่เข้มแข็งเฉลียวฉลาด และมีความเห็นแก่ตัวน้อยทั้งยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตัวอย่างจริงใจ พร้อมทั้งวิสัยทัศน์อันกว้างไกล โดยมีที่ปรึกษาที่สามารถและรู้จักฟังประชาชน นี้แลคือระบอบที่ดีที่สุด

ในสหรัฐฯ แฟรงก์ เดลานอ รุสเวลท์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีเกินสามสมัย โดยเขามีความเป็นผู้นำที่แท้ และอิงระบอบประชาธิปไตยอย่างชาญฉลาด เวลาใครนำเอาความคิดดี ๆ ไปเสนอเขา เขาบอกให้คุณไปสร้างประชามติขึ้นให้มาก ๆ นั่นจะช่วยให้เขาตัดสินใจได้ง่าย และจะสั่งการให้อะไร ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที

โดยเราต้องไม่ลืมว่าสหรัฐฯมีนายทุนเอย นายธนาคารเอย แม่ทัพนายกองและบริษัทค้าอาวุธและบรรษัทข้ามชาติซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐ ในขณะที่ขบวนการกรรมกร และกสิกรอ่อนตัว เพราะพวกทุนขุนศึกบีบเอาได้ไม่ยาก ทั้งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็ไม่ได้เน้นไปในทางความจริง ความดี และความงาม โดยที่นั่นเป็นเพียงวาทกรรมของสถาบันอุดมศึกษาแท้จริงสถาบันนั้น ๆ ต้องการผลิตคนออกไปรับใช้ระบบ ให้กลายเป็นยันตรกรรมไปยิ่งกว่าความเป็นมนุษย์ที่แท้ โดยนักศึกษาต่างก็ต้องการแสวงหาอาชีพการงานเป็นหลักโดยมิได้ไยไพกับความยุติธรรมทางสังคม

จึงไม่แปลกอะไร ที่เมื่อสิ้นสมัยรุสเวลท์ไปแล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐจึงถูกสะกดโดยบริษัทข้ามชาติและบริษัทค้าอาวุธแทบทุกคน ในขณะที่รุสเวลท์มีรองประธานาธิบดีที่หัวก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง ที่อยู่ฝ่ายกรรมกร ชาวนาและผู้ยากไร้ เขาไม่แต่เป็นที่ยอมรับของมหาชนในสหรัฐ หากในทุก ๆ ประเทศทางแถบอเมริกาใต้ก็ชื่นชมบุคคลผู้นี้ เมื่อหมดเขาคนนี้ สหรัฐฯเลยเป็นปฏิปักษ์กับทุก ๆ ประเทศในทวีปอเมริกาแล้วเลยขยายไปแทบทั่วทั้งโลก

II

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีได้สำหรับเผด็จการไทยคนปัจจุบัน แม้เขาจะไม่มีเวลาอ่านจดหมายรักฉบับนี้ คนใกล้เคียงเขา ก็ควรอ่านแล้วสรุปประเด็นเสนอขึ้นไป ในเมื่อเขาเป็นเผด็จการ ก็ควรเอาเยี่ยงอย่างรุสเวลท์ โดยที่บัดนี้มีรัฐสภาขึ้นแล้ว ก็ควรใช้สถาบันนั้นให้เป็นประโยชน์ อย่าให้สถาบันนั้นเป็นแต่เสือกระดาษ ส่วนคณะรัฐมนตรีนั้น ดูจะเน้นไปในทางทุนนิยมค่อนข้างมาก หากไม่หาทางรั้งเอาไว้บ้าง สยามประเทศจะเป็นไปในทิศทางที่อยู่ใต้อาณัติของจักรวรรดิจีน และจักรวรรดิอเมริกัน รวมถึงบรรษัทข้ามชาติอย่างน่าวิตกนัก

นายกรัฐมนตรีไปเมืองพม่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ แล้วแลไม่เห็นหรือ ถึงมหันตภัยที่ทักษิณ ชินวัตรกับบริษัทบริวารของเขาทำไว้กับทวาย และท่าเรือน้ำลึกกับนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงถนนอันกว้างไกลผ่านไปทางเมืองกาญจนบุรีจน ถึงเมืองจีน นี่เป็นมหันตภัยอันสำคัญยิ่งกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และความกินดีอยู่ดีของชาวทวาย

ไม่เห็นหรือว่า นิคมอุตสาหกรรมที่มาบตาพุดเลวร้ายอย่างไร แล้วเรายังเอาความเลวร้ายเช่นนั้นไปมอบให้ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเพิ่มความวินาศยิ่ง ๆ ขึ้นกว่าทวีคุณ ผู้นำที่ดีน่าจะมีจิตสำนึกในทางนี้

คณะรัฐมนตรีชุดนี้ไม่มีใครเลยที่แลเห็นว่า การพัฒนากระแสหลักเป็นโทษอันมหันต์ อย่างน้อยคนอย่างสติกลิตซ์ ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ ก็ยังชี้ให้เห็นแล้วว่าการพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลักไปไม่รอด รวมเทคโนโลยีล่าสุดก็จะพาหายนะมาให้ทุกประเทศ ในโลกสมัยใหม่นี้ยิ่ง ๆ ขึ้น ลูกหลานเราจะไม่มีอนาคตเอาเลย

ที่ว่ามานี้ชนชั้นปกครองไม่จำเป็นต้องเชื่อ แต่ควรใช้วิจารณญาณ แสวงหาผู้รู้นอกกระแสหลักมาปรึกษาหารือ รวมทั้งเนติบริกรที่รับใช้เผด็จการอยู่ในบัดนี้ ก็เป็นคนหน้าเดิม ๆ ที่รับใช้เผด็จการมาทุกยุคทุกสมัย โดยที่พวกเขามีสถานะดีขึ้นเรื่อย ๆ แล้วบ้านเมืองกระเตื้องขึ้นบ้างไหม ไพร่ฟ้าหน้าใสหรือไม่ หัวหน้าคณะปฏิวัติควรมองหานักกฎหมายที่เข้าถึงความยุติธรรมทางสังคมมาเป็นที่ปรึกษาบ้าง ยังสิทธิมนุษยชนนั้น อย่าถือว่านั่นเป็นอันตรายกับความมั่นคงของประเทศ โดยต้องรู้ว่าระบบทุนและระบบขุนนางทางข้าราชการ กดขี่ข่มเหงประชาราษฎรมาทุกยุคทุกสมัย โดยที่ชนชั้นปกครองเห็นว่าราษฎรโง่ ชาวเขานั้นเป็นส่วนเกินของบ้านเมืองและของราชอาณาจักร ทั้ง ๆ ที่พวกนั้นเขาอยู่ที่แผ่นดินนี้ มาก่อนชนชาติไทยจะอพยพมายึดครองประเทศนี้เสียอีก ควรต้องเคารพนับถือเขาว่าเป็นคนเหมือนกับเรา ที่ไปกล่าวหาว่าชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย ทำลายธรรมชาตินั้นเหลวไหล เพราะพวกเขาทำไร่ไถนาบนเขามากี่ชั่วคนแล้วแสดงว่าเขาอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างชาญฉลาด

ทางสามสี่จังหวัดภาคใต้ก็เช่นกัน ไปดูถูกเขาว่าเป็นแขก เป็นราษฎรชั้นสอง ทั้ง ๆ ที่เขาควรมีศักดิ์ศรีไม่น้อยไปกว่าคนไทย และเขาไม่ใช่ไทยมุสลิม เขาเป็นมลายู ซึ่งก็ควรมีสิทธิในการเป็นราษฎร ไม่ต่างไปจากคนที่อ้างความเป็นไทย ฉะนั้นคำว่า Thailand นั้น ก่อให้เกิดปัญหาแท้ทีเดียว

ที่เอ่ยมานี้ เป็นเพียงบางเรื่องที่ผู้นำควรเข้าใจให้ถึงสาระ และผู้นำที่ดี ควรเปิดโอกาสให้มีเสรีภาพให้มาก ให้เขาด่าว่าวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย ดีกว่าให้เขาไปซ่องสุมผู้คนอย่างลับ ๆ

อนึ่ง กฎอัยการศึกนั้น มีประโยชน์เวลามีอริราชศัตรูมาประชิดราชอาณาจักร เพื่อเกณฑ์ผู้คนได้ทันท่วงที และใช้อำนาจเด็ดขาดได้โดยฉับพลัน แต่ถ้าบ้านเมืองไม่มีอริราชศัตรู ขุนนางข้าราชการนั้นแลจะเป็นศัตรูของราษฎรอย่างน่ากลัวนัก เพราะข้าราชการดูถูกราษฎรอยู่แล้วและเข้าข้างนายทุนอย่างรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม พวกนี้จะเบียดเบียนบีฑาราษฎร เช่นไล่ที่ทำกิน หรือการทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็อ้างว่านี่คือความเจริญ ราษฎรที่คัดค้านนั้นโง่เขลา ยิ่งขุนนางข้าราชการพวกนี้ใช้กฎอัยการศึกมากเท่าไร ก็จะห้ำหั่นราษฎรตาดำ ๆ ได้มากเท่านั้น

ถ้าผู้นำทางเผด็จการไม่กล้าเลิกกฎอัยการศึก ก็ต้องฟังเสียงกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนให้จงหนัก ว่าการที่ราษฎรต่อสู้กับนายทุน หรือไม่ยอมสยบกับอำนาจอันไม่ชอบธรรมนี้ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของเขา

ถ้าผู้นำทางเผด็จการฟังเสียงจากคนเล็กคนน้อย ข้าราชการในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนคงเบียดเบียนบีฑาประชาราษฎรได้ไม่ง่ายนัก แต่ถ้าเลิกกฎอัยการศึกเสียได้ จะได้ผลดียิ่งกว่าผลร้าย เว้นเสียแต่ว่าผู้นำทางด้านเผด็จการจะไม่มีความกล้าหาญเพียงพอเท่านั้น

ที่เขียนมานี้ก็ด้วยความรักเป็นบรรทัดฐาน ในฐานะกัลยาณมิตร กล่าวคือกัลยาณมิตรย่อมจะพูดกับผู้มีอำนาจในสิ่งที่เขาไม่อยากฟัง แต่ถ้าหัดสดับตรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ได้มากเท่าไร เผด็จการจะมีใจกว้างและมีสติวิจารณญาณมากยิ่งขึ้น พร้อมไปกับความอ่อนน้อมถ่อมตน นี้แลคือสัญลักษณ์ของความเป็นผู้นำที่แท้

ส. ศิวรักษ์
 22/10/57   

ป.ล.

มีเสียงพูดกันมากว่าผู้นำ คสช. นั้นเป็นคนซื่อ มือสะอาด แต่คนรอบ ๆ ข้าง บางคนเป็นโสณทุจริต ทั้งยังหากินอย่างใกล้ชิดกับคณะของทักษิณ ชินวัตรอีกด้วย ถ้าที่ว่ามานี้เป็นจริง แล้วแก้ไขประเด็นนี้ไม่ได้ จะไปปฏิรูปบ้านเมืองได้อย่างไร