posttoday

วิปสนช.ชงประชุมลับวาระถอดถอน

15 ตุลาคม 2557

พรเพชร ยันสนช.พิจารณาถอดถอนรอบคอบ รับรู้ตัวไม่ได้มาจากประชาชนแต่จะทำเพื่อส่วนร่วม ด้าน วิปสนช.เล็งให้ประชุมลับ 17 ต.ค.

พรเพชร ยันสนช.พิจารณาถอดถอนรอบคอบ รับรู้ตัวไม่ได้มาจากประชาชนแต่จะทำเพื่อส่วนร่วม ด้าน วิปสนช.เล็งให้ประชุมลับ 17 ต.ค.

ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า การประชุมสนช.ในวันที่ 17 ต.ค. จะนำเรื่องการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมามาให้สนช.พิจารณาว่าจะมีอำนาจรับไว้ดำเนินการหรือไม่ โดยจะเปิดโอกาสให้สมาชิกสนช.อภิปรายอย่างเต็มที่ จากนั้นจะใช้มติเสียงข้างมาว่าจะรับเรื่องหรือไม่ ซึ่งเข้าใจว่าจะยุติได้ในวันเดียว 

ประธานสนช. กล่าวว่า ถ้าที่ประชุมมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาจะเข้าสู่กระบวนการถอดถอนตาม ข้อบังคับการประชุมสนช.   แต่ถ้าไม่รับก็เป็นอันยุติ โดยยืนยันว่าสนช.ได้พิจารณาตามอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557  อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่มีปัญหาเนื่องจากเป็นกรณีต่อเนื่องมา แต่หากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นปัจจุบัน และมีความผิดชัดเจนประธานสนช.มีอำนาจสั่งบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณาได้ เลย

“การปฏิบัติหน้าที่ของสนช.ท่ามกลางบ้านเมืองแบบนี้ขอยืนยันว่าเราทำหน้าที่โดยยึดหลักนิติรัฐ ยึดกฎหมายเป็นหลัก โดยจะให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย แม้ว่าสนช.ไม่ได้มาจากประชาชน แต่ก็จะทำประโยชน์เพื่อประชาชน และจะพิจารณาทุกเรื่องด้วยความเป็นธรรมตรวจสอบได้” ประธานสนช. กล่าว

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสนช. (วิปสนช.) กล่าวว่าการประชุมสนช.ในวันที่ 17 ต.ค.อาจจะเป็นการประชุมลับเพราะอาจมีการพาดพิงบุคคลที่สาม ทั้งนี้ ตามขั้นตอนที่ประชุมสนช.ต้องพิจารณาว่าผู้ที่ถูกกล่าวหามีความผิดตามฐานกฎหมายใดหรือไม่ ทั้งฐานความผิดรัฐธรรมนูญปี 2550 และผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 หากความผิดยังคงอยู่ ก็จะเข้าสู่กระบวนการเรียกนายสมศักดิ์ นายนิคม และ ป.ป.ช.มาชี้แจงต่อสนช. แต่หากที่ประชุมพิจารณาว่าไม่มีความผิดเข้าข่ายกฎหมายใด อาจจะลงมติเพื่อยุติเรื่องหรือส่งเรื่องกลับไปยัง ป.ป.ช. เพื่อให้ป.ป.ช. ส่งเรื่องไปให้สภาชุดใหม่ดำเนินการภายหลังมีการเลือกตั้งแล้ว

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องแล้วแต่ที่ประชุมจะเป็นผู้ตัดสิน ส่วนตัวมองประเด็นพิจารณาที่ว่าเมื่อไม่มีตำแหน่งอยู่แล้ว ทำไมต้องพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งอีก เรื่องนี้เคยมีกรณีที่วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง เช่น นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.ไอซีที มาแล้ว เนื่องจากผลทางกฎหมายที่ว่าด้วยการตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ยังคงอยู่ จึงจำเป็นที่ต้องพิจารณาถอดถอนต่อไป แม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว