posttoday

ส.สมาคมนักข่าวดันกม.คุมพีอาร์รัฐกันครอบงำสื่อ

19 กันยายน 2557

สมาคมนักข่าวฯดันกฎหมายคุมพีอาร์รัฐกันครอบงำสื่อ-โกงงบประมาณ

สมาคมนักข่าวฯดันกฎหมายคุมพีอาร์รัฐกันครอบงำสื่อ-โกงงบประมาณ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้จัดราชดำเนินเสวนา เรื่อง “กฎหมายควบคุมพีอาร์รัฐ” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

นายธิปไตร แสละวงศ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า การใช้จ่ายโฆษณาของรัฐจากการสำรวจของบริษัทเอกชนที่น่าเชื่อถือ เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา 7,985 ล้านบาท ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าโฆษณาทางการตลาด แต่งบใช้โฆษณาของรัฐได้เพิ่มขึ้นทุกปีซึ่งถือว่าไม่แปลก

ทั้งนี้ จำเป็นต้องให้ประชาชนรับทราบ ทว่า ประเด็นสำคัญขึ้นอยู่กับความคุ้มค่า และการใช้จ่ายอย่างโปร่งใส ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทเอกชนหรือสื่อมวลชนเพื่อโฆษณาของรัฐ ต้องมีการแข่งขันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ใครคนหนึ่งได้ไป เพราะมันเป็นอันตรายต่อการแข่งขันไม่ยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวที่กำลังจะออก ต้องไม่ทำให้สื่อเอกชนทำงานลำบากในการรับงานรัฐ และต้องควบคุมการใช้เงินที่ไม่คุ้มค่าใน 3 ส่วนที่ห้ามทำ คือ ห้ามมีรูป มีชื่อ มีเสียง เกิน 30% ถือว่าไม่คุ้มค่า และรายเซ็น (ยกเว้นบางกรณี)  สิ่งที่ต้องทำ เช่น รัฐใช้งบประมาณเพื่อประชาสัมพันธ์ ต้องมีการวางแผนและเปิดเผยต่อประชาชนทุกปี หรือบางครั้งใช้งบฉุนเฉินเพื่อโฆษณา จำเป็นต้องรายงานให้ประชาชนทราบด้วย

นายธิปไตร กล่าวต่อว่า จากการสำรวจรัฐใช้งบโฆษาณากับโทรทัศน์-วิทยุ 61% หนังสือพิมพ์ 11% และโรงภาพยนตร์ 18% ซึ่งถือว่ายังสูงกว่าหนังสือพิมพ์ เมื่อจำแนกตามประเภทหน่วยงาน เช่น รัฐวิสาหกิจ ใช้งบถึง 48% มูลค่า 3,788 ล้านบาท โดยเป็นธนาคารออมสินมากสุดถึง 18% ในปี 2556 เนื่องจากครบรอบ 100 ปีการก่อตั้ง ปตท. 10% และอสมท. 12%

ขณะที่ กระทรวง 39% มูลค่า 3,119 ล้านบาท โดยสำนักนายกรัฐมนตรีใช้มากที่สุด 15% อุตสาหกรรม 14% กลาโหม 9% สาธารณสุข 6% และพลังงาน 5% นอกจากนี้ บางกรมซึ่งไม่มีภารกิจเกี่ยวข้องในการสื่อสารกับประชาชน แต่ใช้งบเพื่อโฆษณาถึง 3-4% ซึ่งถือว่าสูงมาก

นอกจากนี้ จากการสำรวจหนังสือพิมพ์เอกชน 5 ฉบับพบว่า โดยเฉลี่ย 4-5 ปี รับ 75-80% รวมการจัดอีเวนต์ ซึ่งสัดส่วนกำไรต่อรายได้รวม หนังสือพิมพ์ใหญ่รายได้มากกว่าหนังสือพิมพ์เล็ก เนื่องจากสามารถอัพค่าโฆษณา ทำให้บริษัทเล็กๆอ่อนแอ ไม่สามารถแย่งค่าโฆษณาจากบริษัทใหญ่ได้ เพราะธรรมชาติหนังสือพิมพ์ไม่ได้ทำกำไรมาก ถือว่าน่าเป็นห่วงเพราะเสี่ยงต่อการถูกครอบงำทางการเมือง

ด้าน นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตภาครัฐการทุจริตคอร์รัปชัน ปกติแล้ว แก้ไข 2 อย่าง คือ 1.ลดปัญหา 2.ลดโอกาส ซึ่งทั้ง 2 ต้องใช้กฎหมาย แต่ที่ผ่านมายอมรับว่ากฎหมาย 2 ส่วนมีปัญหาในตัวเองและความไม่ครบถ้วนกฎหมาย

ทั้งนี้ สถานการณ์ 5-6 เดือนที่ผ่านมา ก่อนมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกิดการทุจริตแรงมาก จนเลยเรื่องจำนวนเม็ดเงิน เพราะมีการเข้าไปแทรกแซงกลไกสังคม ราชการ การเมือง จนทำให้ปัญหาเกิดขึ้น นอกจากนี้ การแก้ให้ลดลงได้ จำเป็นต้องมีกฎหมายลักษณะนี้ และเมื่อมีแล้วต้องนำมาใช้อย่างถูกต้องโปร่งใส เป็นธรรม เพราะการออกกฎหมายต้องอยู่บนหลักนิติธรรม ใช้อย่างเป็นธรรม และเมื่อมีข้อขัดแย้งกฎหมายต้องได้รับตัดสินที่เป็นธรรม

“หากอยู่ในกรอบนี้ เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง เอามาตรการต่างๆที่สามารถแก้ไขได้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อย่ามองสถานการณ์วันนี้มันแค่สะดุด แต่รากเหง้าต้องมีถึงปัจจัยปัญหาแท้จริง”นายประยงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขสากล คือ กฎหมาย เช่น เกาะฮ่องกง 1.มีเจตจำนงการเมืองแก้ไขจริงจัง 2.บังคับใช้จริงจัง 3.รัฐบาลจริงจัง 4.ดำเนินการทุกมาตรการป้องกันพร้อมกัน และ 5.ทุกภาคส่วนในสังคมช่วยกันอย่างจริงจัง ซึ่งไทยมีทั้ง 5 ประการ แต่ยังน้อยอยู่ ดังนั้น จำเป็นต้องเติมให้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และกฎหมาย

ขณะที่ นายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน อธิบายว่า การใช้งบประชาสัมพันธ์เป็นจำนวนเยอะมาก แต่ต้องถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ เช่น ออมสินเทียบปตท.คงยาก แต่เมื่อเทียบกับธุรกิจเดียวกัน เช่น กรุงไทย สัดส่วนการทำธุรกรรมไม่มาก ซึ่งเป็นธนาคารเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจคอร์รัปชั่น เพราะการโกงพยายามสร้างสรรกิจกรรมแปลกๆ เพื่อใช้เงิน เช่น จ.อยุธยา ตีเส้นถนนลายตระแกรงจำนวนมาก ถามว่าในตัวเมืองจำเป็นต้องตีเส้นถนนเยอะขนาดนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ตามด้วย ททท. จัดงบ 500 กว่าล้านบาท จัดซื้อเครื่องกีฬามาวางในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ เพราะเงินในการโฆษณา ไม่สามารถตรวจจับได้ รมว.อุตฯ กรณีแต่งตั้งข้าราชการจาก ซี 9 ไปซี 10 ว่างถึง 40 ตำแหน่ง ซึ่งเมื่อถอดส่วนต่างเงินเดือนซี 9 ซี 10 รวม 50 ล้านบาท ซึ่งตัดไปเป็นยอดค่าโฆษณา ดังนั้น เงินที่ใช้ไปเกิดจากความคุ้มค่าหรือไม่

อย่างไรก็ดี มีตัวอย่างในการใช้งบประมาณไม่เหมาะสม เช่น กทม. ที่ใช้งบประชาสัมพันธ์ที่มีภาพผู้ว่าฯกทม.พร้อมข้าราชการซึ่งเกิดใกล้ช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ อีกทั้ง ยังมีส่วนของท้องถิ่นที่ยังปรากฏทุกวันนี้ ดังนั้น จำเป็นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งขอให้มีการกำหนดดัชนี้ชี้วัดให้ชัดเจนว่างบประมาณใช้เพื่ออะไรบ้าง

นายธนกร จ๋วงพานิช ผู้เขียนหนังสือห่างกระดิกหมา คู่มือการต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า จากการศึกษาโมเดลกฏหมายที่ใช้ควบคุมการใช้งบประมาณของภาครัฐ อย่างแคนนาดาได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน 1.อะไรที่เป็นโฆษณาของภาครัฐต้องส่งให้สำนักงานตรวจงบประมาณแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบก่อนว่าโฆษณานี้เป็นประโยชน์หรือไม่

2.ห้ามมีภาพ เสียงของนักการเมืองในโฆษณา เพราะไม่ใช่สาระสำคัญ ซึ่งถ้าหากมีภาพหรือเสียงของนักการเมืองก็เท่ากับว่า ใช้งบโฆษณาของภาครัฐในการโฆษณานักการเมืองเอง และ 3.โฆษณาไหนใช้งบประมาณของภาครัฐต้องบอกว่า โฆษณานี้ใช้งบประมาณของภาครัฐ เพื่อที่ให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ ซึ่งหน่วยที่ทำโฆษณาต้องทำให้ได้มาตรฐานถึงได้ออก

นอกจากนี้ ยังมีกฏอีก คือ ถ้า 2 สัปดาห์สตง.ยังไม่ให้คำตอบถือว่าเอาออกได้เลย เพื่อปกกันการทำงานที่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม นี่คือหลักการที่น่าศึกษา และต้องดูว่าแผนประชาสัมพันธ์ในแต่ละปีเป็นอย่างไร สอดคล้องกับแผนใหญ่ในแต่ละปีหรือไม่ และในแต่ละปีต้องเปิดเผยว่าให้บริษัทไหนบ้าง ซึ่งในต่างประเทศไม่เจอปัญหาที่เอางบประมาณให้สื่อที่ตัวเองชื่นชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางสมาคมนักข่าวฯได้จัดทำร่างพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นให้กับทางคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบควมถูกต้อง ก่อนเตรียมยื่นเสนอให้กับรัฐบาลต่อไป