posttoday

นปช.ยื่นอุทธรณ์

29 สิงหาคม 2557

แกนนำ นปช.เตรียมยื่นอุทธรณ์ หลังศาลอาญาไม่รับฟ้อง "มาร์ค-พระสุเทพ"สั่งสลายการชุมนุมเมื่อปี 53

แกนนำ นปช.เตรียมยื่นอุทธรณ์ หลังศาลอาญาไม่รับฟ้อง "มาร์ค-พระสุเทพ"สั่งสลายการชุมนุมเมื่อปี 53

หลังศาลอาญามีคำสั่งไม่รับฟ้อง "นายอภิสิทธิ์-พระสุเทพ" ในคดีออกคำสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง เมื่อปี2553 นั้น นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวว่า คงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลต่อไปและการที่ศาลระบุว่า อำนาจการไต่ส่วนคดีนี้เป็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากเห็นว่ามีมูลให้ยื่นต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คงเป็นเรื่องยากเพราะจากการศึกษาคดีที่ผ่านๆ มาของนายอภิสิทธิ์ ที่อยู่ใน ป.ป.ช.มีความล่าช้าหรือยกฟ้องไปเลย

อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีการไต่สวนมานานและก็เคยมีคำสั่งศาลระบุว่า การเสียชีวิตจากเหตุการณ์ปี 2553 เกิดจากกระสุนจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร และผู้ตายไม่มีอาวุธ จึงมีคำถามว่า การไต่สวนต่างๆ ที่ผ่านมากลายเป็นหมันไปเลยหรืออย่างไร

ขณะที่ นายวิญญัติ ชาติมนตรีทนาย นปช. กล่าวว่า เบื้องต้นจะนำเอาคำวินิจฉัยมาศึกษาและต้องมีการอุทธรณ์ต่อไป เพราะเป็นสิทธิของฝ่ายโจทก์ที่จะทำได้ แม้ว่าศาลอาญาจะวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจของศาลฎีกาก็ตามเชื่อว่าอัยการและญาติในฐานะโจทก์ร่วมจะยื่นอุทธรณ์แน่นอนโดยจะได้ทำความเห็นแย้งยื่นต่อศาลทั้งกรณีที่เห็นว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีอำนาจสอบสวน และศาลอาญามีอำนาจพิจารณา อีกทั้งจะได้นำความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญายื่นต่อศาลด้วย

"เราได้จับตาเรื่องนี้อยู่แล้วเพราะมีความพยายามที่จะไม่ให้คดีนี้ขึ้นสู่ศาลอาญา ซึ่งเป็นประเด็นที่ทีมทนายฝั่งนั้นได้สู้มาตลอดว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลอาญา เนื่องจากอำนาจสอบสวนไม่ชอบ"ทนาย นปช.ระบุ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คดีพระสุเทพและนายอภิสิทธิ์ได้ฟ้องดีเอสไอไปนั้น ศาลก็ยกฟ้อง เพราะศาลเห็นว่าอำนาจสอบสวนนั้นชอบ และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จับตามองคือคำวินิจฉัย 2 ประเด็นนี้ทำไมจึงขัดแย้งกัน ทั้งที่เป็นประเด็นเดียวกันและเกี่ยวข้องกัน ดังนั้นการที่จะโอนคดีไปให้ ป.ป.ช. ถ้า ป.ป.ช.ชี้ว่าคดีนี้ไม่มีมูลขึ้นมาคดีนี้ก็ต้องพับลงไป ฉะนั้นทาง นปช.ได้เคลือบแคลงสงสัยใน ป.ป.ช.ไม่มีความมั่นใจจะทำหน้าที่นี้ของ ป.ป.ช.ว่าได้ตรงไปตรงมาหรือไม่

นายวิญญัติ ระบุอีกว่า ได้หารือร่วมกับ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.แล้ว ซึ่งก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการเพราะไม่ใช่หน้าที่ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งข้าราชการที่จะไปฆ่าผู้อื่นเมื่อไม่ใช่หน้าที่แล้วจึงไม่ใช่เรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่เป็นเรื่องของการกระทำเฉพาะตัวเป็นเหตุทำให้คนอื่นฆ่ากันหรือให้ผู้อื่นถูกฆ่าจึงต้องขึ้นต่อศาลปกติโดยไม่ได้ฟ้องตามมาตรา 157 แต่ฟ้องตามมาตรา 288 ถึง 289 ที่เป็นการกระทำโดยตรงจากการกระทำของบุคคลทั้งสอง