posttoday

ร้องผู้ตรวจการฯ เอาผิด"ประยุทธ์-สนช."เกี๊ยะเซียะ

22 สิงหาคม 2557

"ศรีสุวรรณ" ร้องผู้ตรวจการฯ เอาผิด"ประยุทธ์-สนช." ฐานเกี๊ยะเซียะ เสนอชื่อนายกฯ ชี้ผิดรธน.

"ศรีสุวรรณ" ร้องผู้ตรวจการฯ เอาผิด"ประยุทธ์-สนช." ฐานเกี๊ยะเซียะ เสนอชื่อนายกฯ  ชี้ผิดรธน.

เวลา 11.45 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา อุปนายกและเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องเรียนกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อนายเฉลิมศักดิ์ จันทรเดิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ณ ห้องประชุม 903 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมีวาระ ดังนี้

1.) การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทั้ง 194 คน เข้าร่วมประชุมและให้ความเห็นชอบเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งสนช. ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 6 เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน

2.) มาตรา 19 (3) แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดให้คสช. สามารถเสนอสนช. มีมติทูลเกล้าฯ ให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้นั้น แต่สถานการณ์ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าคสช. พร้อมกับได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จะมีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจดังกล่าวได้อย่างไร ในเมื่องผู้ดำรงตำแหน่งทั้ง 2 เป็นบุคคลคนเดียวกัน

3.) มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดให้คงไว้ซึ่งอำนาจของคสช. ในการสั่งการ ระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ อย่างรอบด้าน พร้อมให้หัวหน้าคสช. รายงานผลการดำเนินงานต่างๆ ต่อประธานสนช. และนายกรัฐมนตรี จึงเท่ากับเป็นการถ่ายโอนอำนาจภายในบุคคลคนเดียว ซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

นอกจากนั้นการที่คณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการการเลือกตั้ง เสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาสปช. เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน ขัดต่อประมวลจริยธรรมและกฎหมายว่าด้วยประมวลจริยธรรมของหน่วงงานที่สังกัด และขัดตามมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่กำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรอิสระ ซึ่งหากไม่เกิดความคุ้มค่าควรยุบทิ้งเสีย  

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การทำหน้าที่ตรวจสอบของตน ไม่ใช่การสร้างชื่อเสียงอันไปสู่การรับสมัครเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) พร้อมกับยืนยันว่าตนจะไม่เข้ารับการสรรหาสปช. หรือรับตำแหน่งทางการเมืองใด เนื่องจากเป็นเอ็นจีโอ สิ่งที่ต้องทำคือการตรวจสอบ ทั้งนี้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ถือเป็นองค์กรที่ประชาชนจะต้องพึ่งพาในการฟ้องร้อง ถ้าสำนักงานผู้ตรวจฯ สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนจะไม่ต้องเพิ่มภาระให้กับศาลปกครองในการพิจารณาคดีอีกต่อไป จึงขอให้สำนักงานผู้ตรวจฯ ทำงานด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้ปัญหาที่มีการร้องเรียนถูกแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม นายศรีสุวรรณ ยืนยันว่า จะไม่มีการถอนเรื่องดังกล่าว ตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ปฏิเสธรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะพล.อ.ประยุทธ์คือผู้แต่งตั้งสนช. แต่สนช.เป็นผู้เลือกพล.อ.ประยุทธ์ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเท่ากับเป็นปันผลประโยชน์ระหว่างกัน อีกทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในปัจจุบัน ไม่สมควรที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองพร้อมกัน 2 ตำแหน่ง

"ถ้ามีคสช. เข้านั่งรัฐมนตรีอีก มีความเป็นไปได้ที่ผมจะต้องมายื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ควรนั่งถ่างขาอยู่ 2 เก้าอี้ เพราะปัจจุบันมักอ้างครรลองของประชาธิปไตย แต่พฤติกรรมอย่างนี้ไม่เคยมี" นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายเฉลิมศักดิ์ ชี้แจงต่อประเด็นที่นายศรีสุวรรณเคยยื่นเรื่องตรวจสอบการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่า เรื่องที่เคยรับไว้อยู่ในสถานการณ์พิเศษ จึงต้องต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียด โดยเฉพาะในแง่ของกฎหมาย เพราะหากไม่พิจารณาให้รอบครอบ จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสำนักงานผู้ตรวนการแผ่นดินโดยตรง อย่างไรก็ตามการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีความชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและการผิดต่อจริยธรรม ต่อการที่สนช.มีมติเห็นชอบเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยินดีที่จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นหน้าที่ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องดำเนินการตามกระบวนการ ขั้นตอน และดุลพินิจของคณะกรรมาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน

" ส่วนการที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอชื่อบุคคลเข้าร่วมสรรหาสปช. เนื่องจากเห็นว่า ผู้ตรวจการฯ มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการยุติธรรม จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ กอปรกับกระบวนการสรรหาสปช. มีระบบการสรรหาที่ประชาชนยอมรับ จึงควรใช้ช่องทางนี้ในการเสนอความคิดเห็นและรับรู้ข้อมูลต่างๆ จากสภาดังกล่าว " นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว