posttoday

ชงข้อบังคับการประชุมให้สนช.พิจารณาสัปดาห์หน้า

14 สิงหาคม 2557

เลขาฯวุฒิสภาเสนอร่างข้อบังคับการประชุมให้ สนช. พิจารณาในสัปดาห์หน้า มีจำนวนทั้งสิ้น 169 ข้อ

เลขาฯวุฒิสภาเสนอร่างข้อบังคับการประชุมให้ สนช. พิจารณาในสัปดาห์หน้า มีจำนวนทั้งสิ้น 169 ข้อ

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ได้มีการประชุมพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พ.ศ... โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่รองประธานสนช.คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม ร่วมด้วยนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 และนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสนช. พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงาน

โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้นำร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ....ฉบับใหม่ ที่ได้มีการนำข้อบังคับการประชุมสนช.ปี 2549 มาปรับปรุงเบื้องต้นตามมติที่ประชุมผู้บริหาร หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 มีผลบังคับใช้ มาให้ที่ประชุมได้พิจารณา โดยใช้เวลาประชุมเพียง 30 นาที

ทั้งนี้ ร่างข้อบังคับดังกล่าวจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสนช.ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ที่ประชุมตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาข้อบังคับดังกล่าว ก่อนเสนอให้ที่ประชุมสนช.มีมติเห็นชอบต่อไป

สำหรับร่างข้อบังคับการประชุมสนช. ฉบับใหม่ มี 12 หมวด และมีบทเฉพาะกาล โดยมีจำนวน 169 ข้อ เท่ากับฉบับเดิม แต่มีการแก้ไขถ้อยคำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 เช่น เปลี่ยนคำว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ส่วนการลงมติในข้อบังคับที่  60  ซึ่งจะเกี่ยวข้องและมีผลต่อการการขาดสมาชิกภาพสนช. ในกรณีที่จะต้องมีมติของสภา ให้ประธานขอให้ที่ประชุมสภามีสัญญาณให้สมาชิกทราบเพื่อแสดงตนก่อนลงมติ ได้ยกร่างไว้ 3 แบบ เพื่อให้สนช.ได้พิจารณา โดยแบบที่ 1 หากสมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาเกินหนึ่งในสี่ของจำนวนครั้งที่มีการลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลา 120 วัน ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงตามมาตรา 9(5) ของรัฐธรรมนูญ 

แบบที่ 2. หากสมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติเกินหนึ่งในสี่ของจำนวนครั้ง ที่มีการลงมติทั้งหมดต่อการประชุมครั้งหนึ่ง ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง และแบบที่ 3 หากสมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดเกินหนึ่งในสี่ของจำนวนครั้งที่มีการลงมติทั้งหมดต่อการประชุมครั้งหนึ่งให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง

ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดๆ นั้นยังคงมีจำนวน 21 คณะ แต่ลดจำนวนกรรมาธิการจากไม่เกิน 13 คน เป็นไม่เกิน 11 คน รวมทั้งยังให้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น โดยมีจำนวนไม่เกิน 35 คน อีกทั้ง ในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ มีการเพิ่มสัดส่วนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง สามารถเสนอชื่อบุคคลเข้าเป็นกรรมาธิการได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังเพิ่มหมวด 7/1  เรื่องการเสนอและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตาม มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ  ซึ่งเกี่ยวข้องกับขั้นตอนวิธีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสวบแห่งชาติ (คสช.) มีมติร่วมกันให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ได้ โดยได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อสนช.ให้ความเห็นชอบ 

อย่างไรก็ตาม ยังเพิ่มหมวด 8/1 การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี เป็นข้อบังคับที่ 150/1-150/4 โดยให้สมาชิกมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯได้ 1 ชื่อ ซึ่งบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา จึงได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกฯ ส่วนการออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีเปิดเผยโดยให้เรียกชื่อสมาชิกตามลำดับตัวอักษรให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน หากว่าไม่มีบุคคลใดได้คะแนนเห็นชอบมากว่ากึ่งหนึ่ง ให้ทำการลงคะแนนต่อโดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดในการลงคะแนนจะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ