posttoday

"บวรศักดิ์"ชี้ซื้อเสียง-ทุจริตถูกตัดจากการเมืองตลอดชีวิต

24 กรกฎาคม 2557

เปิดเนื้อหา ปาฐกถาพิเศษของ "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" ชี้ใครซื้อเสียง-ทุจริตเสี่ยงถูกตัดจากระบบการเมืองตลอดชีวิตตามรธน.ชั่วคราว

เปิดเนื้อหา ปาฐกถาพิเศษของ "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" ชี้ใครซื้อเสียง-ทุจริตเสี่ยงถูกตัดจากระบบการเมืองตลอดชีวิตตามรธน.ชั่วคราว

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายในงานสัมมนา (ครั้งที่ 2 ) “การปฏิรูปประเทศไทย:การเข้าสู่อำนาจของสมาชิกรัฐสภา” ณ ห้องพินิตประชานาถ ศาลาว่าการกลาโหม ถนนสนามไชย ตอนหนึ่งถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ของ คณะทำงานด้านกฎหมาย ส่วนงานรักษาความสงบสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาดังนี้

ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว  มีองค์กรสำคัญๆ 5 องค์กร  คือ 1.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2.คณะรัฐมนตรี (ครม.) 3.คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 4.สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปร.) และ 5.คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ต้องตั้งข้อสังเกตรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนอำนาจหน้าที่รัฐมนตรี ต่างจากรัฐธรมนูญฉบับอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ระบุว่า “รัฐมนตรีคนหนึ่ง และคณะรัฐมนตรีอีก 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน”

แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ มาตรา 19  บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนไม่เกิน 35 คนตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ”

ครม.ที่จะตั้งขึ้นใหม่ มีหน้าที่ เพิ่มขึ้นอีก 2 หน้าที่ เป็นหน้าที่ “เฉพาะกาล” คือ การปฏิรูปในด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ โดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวต้องเขียนไว้เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ คสช. และไม่ต้องการให้การยึดอำนาจ “เสียเปล่า” อย่างที่มีการกล่าวถึงการยึดอำนาจที่ผ่านมา

ขณะที่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมาชิก 250 คนนั้น มีข้อน่าสังเกตอายุของสมาชิกสภาปฏิรูปฯ รัฐธรรมนูญได้ลดอายุลง จาก 40 ปี ซึ่งเป็นคุณสมบัติขององค์กรอื่นทั้งหมด เป็น 35 ปี ทำหน้าที่ปฏิรูปใน 11 ด้าน ได้แก่  การเมือง, การบริหารราชการแผ่นดิน,กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม,การปกครองท้องถิ่น, การศึกษา, เศรษฐกิจ,พลังงาน,สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม,สื่อสารมวลชน,สังคม และ อื่น ๆ ขณะที่ที่มาสภาปฏิรูปฯ ก็ต่างจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ จัดทำรัฐธรรมนูญเอง แต่กำหนดให้มี คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง ตามมาตรา 32 จำนวน 36 คนเท่าจำนวน ครม.  ที่สำคัญ รัฐมนตรีจะมาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ ขณะที่สมาชิกสนช. สมาชิกสภาปฏิรูป หรือแม้แต่คนนอก ก็เป็นได้

ครั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ชัดเจนว่า มีกรอบให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไปดู ซึ่งเป็นบัญญัติ 10 ประการ ในมาตรา 35  ที่ต้องขีดเส้นใต้ มีดังนี้

(1) การรับรองความเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

(2) การให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย

“รัฐธรรมนูญนี้ไม่ต้องการเห็นไปลอกฝรั่งมาทั้งดุ้น อะไรเหมาะให้สมกับสังคมไทยต้องทำ”

(3) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกำกับและควบคุมให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน

“เมื่อก่อนปราบแต่ภาครัฐแต่ภาคเอกชนไม่คิด วันนี้ให้คิดด้วย”

(4) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้ง ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

“แปลว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวบอกว่า ต่อไปนี้คนซื้อเสียง หากพิสูจน์ได้ว่าซื้อจริง ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี อย่างที่เขียนในรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว ดังนั้นใครคิดจะซื้อเสียงให้อ่านมาตรา 35 (4) ให้ดี เสี่ยงมากที่จะถูกตัดออกจากระบบการเมืองไปตลอดชีวิต รวมถึงคนทุจริตด้วย”

(5) กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำ โดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“แปลว่า หุ่นเชิดทางการเมืองจะมีไม่ได้อีกแล้วต่อไปนี้”

(6) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม และการสร้างเสริม คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนและทุกระดับ

(7) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

“พูดง่ายๆ สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่ต้องแก้ แก้ให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมเพื่อให้การพัฒนายั่งยืน และแม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้ใช้คำว่า ประชานิยมก็จริง แต่นี่คือประชานิยม ไม่ได้ห้ามประชานิยมทุกประเภท แต่ประชานิยมที่ก่อให้เกิดผลดีไม่ได้ห้าม แต่ ห้าม “การบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

(8) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนโดยสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ และกลไกการตรวจสอบและเปิดเผยการใช้จ่ายเงินของรัฐที่มีประสิทธิภาพ

“เงินนอกงบประมาณต้องถูกดึงเข้ามาตรวจสอบ รวมถึงเงินรัฐวิสาหกิจที่นำไปแจกสิทธิประโยชน์ต่างๆ กันมากมายมหาศาล”

(9) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้

“อันนี้สำคัญ หากรัฐธรรมนูญกำหนดหลักการสำคัญไว้แล้ว หากให้ส.ส.หรือ ส.ว.มาแก้ได้ตามใจชอบ แปลว่า ก็ไม่มีความหมาย”

(10) กลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ต่อไปให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่จำเป็นต้องมี ให้พิจารณามาตรการที่จะให้การดำเนินงานขององค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย

“เขารู้ว่า 1 ปีปฏิรูปไม่สำเร็จ จึงกำหนดให้รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดกลไกให้มีการปฏิรูปต่อเนื่อง รวมถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หากจะให้มีต่อก็ต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลด้วย”

หากกางรัฐธรรมนูญและอ่านทุกมาตราจะพบว่า เมื่อมีการตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว ยังไม่มีการนับอะไรทั้งสิ้น จะนับหนึ่งของกระบวนการทั้งหมดเมื่อมีการเรียกประชุมสภาปฏิรูปฯ ครั้งแรก

นับหนึ่งตั้งแต่วันที่มีการเรียกประชุมสภาปฏิรูปฯ ครั้งแรก ฉะนั้นคาดว่า จากนั้นอีก 11 เดือนจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรื่องทั้งหมดก็จะเป็นที่ยุติชัดเจน เว้นแต่สภาปฏิรูปฯ จะถูกยุบเพราะทำไม่เสร็จ หรือพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบ