posttoday

คสช.ถ่วงดุลรัฐบาลใหม่คงอำนาจตามรธน.ชั่วคราว

11 กรกฎาคม 2557

พล.อ.ประยุทธ์แจงมีรัฐบาลเดือนก.ย คสช.ยังคุมอำนาจฝ่ายมั่นคงตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตั้งสมาชิกสภาปฎิรูป250คน

พล.อ.ประยุทธ์แจงมีรัฐบาลเดือนก.ย คสช.ยังคุมอำนาจฝ่ายมั่นคงตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตั้งสมาชิกสภาปฎิรูป250คน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. ) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่า  เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งที่สังคมคงอยากทราบคือในเรื่องของการจะที่เราจะเดินไปข้างหน้ากันอย่างไร

เรื่องแรกคือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่ง คสช. จะทำไว้โดยฝ่ายกฎหมาย ก็จะมีไม่เกิน 50 มาตรา ระบุให้รัฐบาลที่จะได้มีการจัดตั้งขึ้นมาภายในเดือนกันยายน 2557 ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะแก้ปัญหาของชาติบ้านเมืองที่มีเป็นจำนวนมากให้เป็นผลสัมฤทธิ์ตามความคาดหวังของประชาชน ซึ่งอาจจะต้องมีข้อจำกัดบางประการอยู่บ้างในรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ทั้งนี้หากใช้วิธีการบริหารราชการปกติทุกเรื่องอย่างที่ทุกคน หลาย ๆ ฝ่ายต้องการ ก็จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้แน่นอน ฉะนั้นจะไม่เกิดประโยชน์ ต้องให้เวลา คสช. ให้โอกาส และเครื่องมือในการทำงานนี้ด้วย

เรื่องอำนาจ คสช./รัฐบาล มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันเท่านั้น การบริหารจะเน้นหนักให้รัฐบาลเป็นผู้บริหารราชการ ด้านความมั่นคงจะเน้นหนักให้ คสช. ดูแลรับผิดชอบ สำหรับความร่วมมือระหว่าง 2 ฝ่าย คือการหารือร่วม ประชุมร่วม แลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลกัน มีการประชุมเมื่อจำเป็น และเสนอแนะข้อพิจารณาต่าง ๆ ให้รัฐบาลนำไปสู่การปฏิบัติ ในเรื่องอื่นๆ เป็นไปในลักษณะคำแนะนำที่ คสช. จะมีต่อรัฐบาล

การปรองดอง

ต้องการให้สังคมเข้าใจ และแยกออกจากกันว่า การปรองดองคืออะไรการปฏิรูปคืออะไร การปรองดองคือ การสร้างสภาวะแวดล้อมสู่การปฏิรูป เพื่อให้ลดความขัดแย้งลงมีการพบปะพูดคุยกัน ระบายความคิดเห็นได้บ้าง ถ้าเราปรองดองกันไม่ได้ ก็ไปปฏิรูปกันไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นต้องหาทางออกจากความขัดแย้งให้ได้ก่อน จากทุกพวกทุกฝ่าย ในประเด็นของการปรองดองนั้นต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจ/ทุกกลุ่มฝ่ายต้องลดความบาดหมาง กินใจ หรือความไม่ไว้วางใจต่อกัน และต้องทำอย่างต่อเนื่อง วันนี้เราทำให้ไม่เกิดการรับรู้ร่วมกัน มีการคบค้าสมาคมกัน มีความสุขร่วมกัน สดชื่น รื่นเริง แต่ขณะเดียวกันก็มีการรับฟังความคิดเห็นของทุกพวกทุกฝ่าย ในระดับพื้นที่ จนกระทั้งถึงระดับสำนักงานคณะกรรมการปรองดองและการปฏิรูปของ คสช. โดยทุกฝ่ายจะต้องหาจุดที่จะเข้าไปร่วมกันตรงนั้น ว่าจะหาทางออกของความขัดแย้งได้อย่างไร ทั้งในระยะเร่งด่วน และยั่งยืนในอนาคต ต้องทราบว่าขัดแย้งกันด้วยอะไร และจะแก้ด้วยอะไร ถ้าทุกคนไม่เห็นชอบก็จะเดินหน้าไปไม่ได้ ต่อให้มีดนตรีทุกวัน มีเพลงฟังทุกวัน แต่ถ้าใจไม่ยอมรับกัน ก็ไม่สามารถแก้อะไรได้เลย แล้วจะอยู่กันอย่างไรต่อไปในอนาคต วันนี้ต้องช่วยกัน จะทะเลาะเบาะแว้งกันต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องยอมรับในความต่าง ความชอบส่วนตัว ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้

ผมอยากให้ไปดูบทเรียนของต่างประเทศ ที่น่าติดตามอยู่ขณะนี้คือประเทศอินโดนีเซีย ที่กำลังเลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่ วันนี้ก็มีผลการเลือกตั้งในระยะที่ 1 ออกมาแล้ว ได้ฟังเขา เขามีประชาธิปไตยที่ผ่านมาประมาณ 20 ปีเท่านั้นเอง แต่ปัจจุบันนี้เขามีประชาชนเป็นอันดับ 3ของโลก และเขาก็ยอมรับในความเห็นต่าง ความชอบที่แตกต่างกัน วันนี้เขาก็ยอมรับในผลของการเลือกตั้งในระยะที่ 1 โดยได้บอกว่า เขาได้ยอมรับในกติกาว่า ควรจะต้องเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้เราก็ต้องนำเขามาเป็นแบบอย่างเหมือนกัน ต้องนำอดีตมาเป็นบทเรียนว่าเราขัดแย้งกันอีกไม่ได้ ในเรื่องของประชาธิปไตย ดูตัวอย่างประเทศใหญ่ ๆ แต่ถ้าเราสร้างกลไกของประชาธิปไตยให้ดีแล้ว เหมือนที่เรากำลังจะทำในขั้นของการปฏิรูป ถ้าทุกคนร่วมมือกัน ก็จะไม่เกิดความขัดแย้งต่อไปในอนาคต เราก็จะเป็นอย่างที่เขาเป็น เราเสียเวลามามากแล้วเกี่ยวกับเรื่องของการเป็นประชาธิปไตยของไทย หลายสิบปีมาแล้ว นี่คงต้องแก้ไขให้ได้โดยเร็ว

การปฏิรูป

ขณะนี้ทางสำนักงานปฏิรูปฯ ของ คสช. ได้รวบรวมคน/ข้อมูลจากหลายภาคส่วนไว้แล้ว ในการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ต้องการให้ทุกส่วนมีการเตรียมการจัดผู้แทน เพื่อไปสมัครเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป ในระยะที่ 2 โดยจะมีกระบวนการคัดสรรที่กำหนดไว้แต่เดิมประมาณ 11 กลุ่ม น่าจะประมาณ 550 คน และจะต้องไปเพิ่มเติมในส่วนของการคัดเลือกจากจังหวัดต่าง ๆ ด้วย เพื่อเป็นผู้แทนจังหวัด น่าจะจังหวัดละ 5 คน รวมเป็น380 คน ในส่วนของจังหวัดต้องคัดเลือกให้เหลือจังหวัดละ 1 คน โดยประมาณ ซึ่งจาก 380 คน ก็จะเหลือ 76 คน รวมกับจากกลุ่มปฏิรูป ที่รับสมัครจากทั่วไปอีก 11 กลุ่ม (550 คน) เหล่านั้นก็จะคัดสรรให้เหลือไม่เกิน 250 คน และแบ่งลงกลุ่มต่าง ๆ ให้ได้ทั้ง 11 กลุ่ม โดยจะต้องมีส่วนร่วมในทุก ๆ กลุ่ม ฉะนั้นเมื่อถึงเวลานั้นผู้ที่สมัครจากหน่วยงาน หรือจากทุกภาคส่วนที่มีสิทธิในการเข้ามาสมัครนั้น จัดอยู่ในนั้นรวมหมดแล้ว ถ้าไปสมัครไว้ตรงนั้น แล้วเมื่อตั้งขึ้นมาได้จำนวน 550 บวก 76 ก็จะประมาณ 630 เป็นตัวเลขโดยรวมก่อน เสร็จแล้วจะคัดเลือกออกมาให้ได้เหลือ 250 ใน 250 ก็จะแบ่งลง 11 กลุ่มให้ได้ ในกลุ่มต่าง ๆ จะต้องมีคนทุกภาคส่วนเข้าร่วม ท่านสมัครอะไรมาก จากกลุ่มที่ 1 กลุ่มการเมืองมีจำนวนมากไปก็ต้องเฉลี่ยไปยังกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เพื่อจะได้รับรู้รับทราบโดยทั่วกัน ทั้งหมดก็จะเป็นผลของการปฏิรูปขึ้นมา และนำเสนอสู่ที่ประชุมของสภาปฏิรูป เป็นมติออกมา ก็เสนอมาให้สภานิติบัญญัติส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็เสนอไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะรับข้อมูลจากทั้ง 2 ส่วนคือ สภาปฏิรูป สภานิติบัญญัติ โดยรวบรวมปัญหา/ข้อขัดข้องต่าง ๆ ที่เป็นความขัดแย้งมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข จัดทำ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพื่อจะนำไปใช้ในการเลือกตั้งในโอกาสต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชอบธรรม และเป็นธรรมแก่ทุกพวกทุกฝ่าย เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกันอีกต่อไปในอนาคต

จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาระยะที่ 2 เป็นระยะเวลาที่มีความสำคัญยิ่งกับประเทศชาติและประชาชนในอนาคตของเรา เวลาจะเห็นว่าไม่มากนักที่ได้ประกาศโรดแมปไปแล้ว คสช. ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ทุกพวก ทุกฝ่าย ต้องรวมใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อจะช่วยกันแก้ปัญหาทุกอย่าง ทุกด้าน ได้รับการแก้ไขให้ได้ในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปี ให้ได้อย่างยั่งยืน ทุกคนกลัวว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นอีก ถ้าการปฏิรูปยังเกิดขึ้นไม่ได้ ก็จะมีการต่อต้านมีความขัดแย้ง มีความวุ่นวาย มีความไม่สงบเกิดขึ้นอีกในอนาคตในปีข้างหน้าต่อไป เราต้องเตรียมการวันนี้ให้พร้อม ฉะนั้นในช่วงของการปฏิรูปมีความสำคัญ ทุกคนต้องลดอัตตาตนเองลงบ้าง ทุกคนต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติในอนาคตทำอย่างไรที่จะอยู่ร่วมกัน แม้จะมีความเห็นต่าง โดยต้องมองที่ประเทศชาติเป็นหลักว่าจะเดินไปอย่างไร ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม พลังงาน การศึกษา การทุจริตคอรัปชั่น กฎหมาย มีปัญหาอยู่มากมาย จริง ๆ แล้ว 1 ปี ค่อนข้างจะน้อยด้วยซ้ำไป แต่ คสช. ไม่ต้องการที่จะรบกวนเวลาท่านมากนัก หากท่านไม่ช่วยผมปัญหาก็จะกลับมาเหมือนเดิม วันนี้เราใช้วิธีการตามกฎหมาย ที่ไม่ปกติในการควบคุมอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินในเวลานี้ ฉะนั้นหากท่านบอกว่าในห้วงที่ 2 จะเป็นปกติมากกว่านี้ จะต้องเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ผมถามว่าจะแก้ไขอะไรได้ไหม ถ้าแก้ได้ง่ายขนาดนั้น ผมก็ไม่จำเป็นต้องออกมา ไม่ต้องออกมาควบคุมอำนาจอยู่แล้ว ท่านกลับไปถามตัวเองว่าจะทำได้ไหม ถ้าทำได้มาบอกผม