posttoday

กกต.ยกคำร้องสอบ"ปู"แก้รธน.ที่มาสว.-ตั้งศรส.

26 มิถุนายน 2557

มติกกต.ยกคำร้องสอบ"ยิ่งลักษณ์"-สมาชิกรัฐสภา ปมลงชื่อแก้ไขร่างรธน.ที่มาส.ว. ระบุ ไม่เข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ ไม่รับคำร้อง ปมตั้งศรส.

มติกกต.ยกคำร้องสอบ"ยิ่งลักษณ์"-สมาชิกรัฐสภา ปมลงชื่อแก้ไขร่างรธน.ที่มาส.ว. ระบุ ไม่เข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ ไม่รับคำร้อง ปมตั้งศรส.

เวลา 13.00 น. วันที่ 26 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต.แถลงผลการประชุมกกต. ว่า ที่ประชุมกกต.ได้มีมติยกคำร้องกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านสมาชิกภาพของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและสมา ชิกรัฐสภาที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว.ว่าเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 (6 ) ประกอบมาตรา115เนื่องจากกระทำการทุจริตในหน้าที่และประพฤติมิชอบในวงราชการหรือไม่หรือเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริยืทรงเป็นประมุข

ทั้งนี้ กกต.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ปรากฎว่าไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์และสมาชิกรัฐสภา มีพฤติกรรมทุจริตต่อหน้าที่ตามคำกล่าวอ้าง จึงเสนอให้กกต.ยกคำร้อง

นายภุชงค์ ยังกล่าวอีกว่าที่ประชุมกกต.ยังมีมติยกคำร้องกรณีที่นายถาวร เสนเนียม อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นคำร้องต่อกกต.คัดค้านการเลือก ตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ จากกรณีสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์อื่นใดอันคำนวนเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งมิชอบในการออกประกาศแต่งตั้งศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) และแต่งตั้งร.ต.อ.เฉลิม เป็นผอ.ศรส.เพื่อออกประกาศคำสั่งแต่งตั้งต่างๆเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ โดยกกต.พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่มีเหตุเป็นการทำให้บุคคลทั้งสองเป็นบุคคลต้องห้ามหรือมีพฤติกรรมทำผิดกฎหมายตามข้อกล่าวอ้าง จึงมีมติไม่รับเป็นเรื่องร้องคัดค้าน

เลขาธิการกกต.กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่นางลีน่า จังจรรจา อดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตส.ว. กทม.เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่ง กกต.มีมติให้ยกคำร้อง เพราะในชั้นของการสมัคร ทาง กกต.กทม. ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติกรณีดังกล่าวไปยังป.ป.ช.แล้ว ก็ได้รับการแจ้งว่า ไม่ปรากฏคำพิพากษาให้ทรัพย์สินของคุณหญิงจารุวรรณตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด แต่ทางป.ป.ช.มีข้อสังเกตว่า คุณหญิงจารุวรรณ เคยถูกป.ป.ช.ชี้มูลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แต่คดียังไม่สิ้นสุด จึงไม่ถือว่าคุณหญิงจารุวรรณมีคุณสมบัติต้องห้ามในการสมัคร


นอกจากนี้ นายภุชงค์ ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และส.ว.กลับมามีผลบังคับใช้ต่อไป โดยห้ามเพียงการเลือกตั้งและการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ซึ่งทางกกต.เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวให้อำนาจกกต.ในการตรวจสอบการรับสมัครส.ส.และส.ว. ว่ามีบุคคลที่รู้ว่าตนเองมีคุณสมบัติต้องห้ามแต่ยังมายื่นสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งจะถือว่าเป็นการให้ข้อความอันเป็นเท็จกับเจ้าหน้าที่ มีความผิดตามกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.เลือกตั้งมาตรา 139 ซึ่งมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 1 -2 แสนบาทและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปีและหากพบว่ากรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำเหล่านี้ตามมาตรา 18 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง ก็มีความผิดอาจถึงขั้นยุบพรรคกกต.จึงจะมีดำเนินการตรวจสอบผู้สมัครส.ว. และส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อจาก 53 พรรคการเมือง โดยเป็นผู้สมัครทั้งระบบบัญชีรายชื่อ และแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 1,174 คน