posttoday

อดีตสสร.เสนอองคมนตรีลาออกมาเป็นนายกฯคนกลาง

12 พฤษภาคม 2557

อดีตกกต.เชื่อมาตรา 7 ใช้ยาก วอนกปปส.ถอย หลัง"ยิ่งลักษณ์"หลุดและคงไม่กลับมาแล้ว ด้าน รองประธานสสร.2550 เสนอองคมนตรีลาออกเป็นนายกฯคนกลาง

อดีตกกต.เชื่อมาตรา 7 ใช้ยาก วอนกปปส.ถอย หลัง"ยิ่งลักษณ์"หลุดและคงไม่กลับมาแล้ว ด้าน รองประธานสสร.2550 เสนอองคมนตรีลาออกเป็นนายกฯคนกลาง

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ศศนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยข้อมูลการเมืองไทย จัดงานเสวนา “องค์กรอิสระ : ผ่าทางตันประเทศไทย?” โดยมีอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2550, อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ นักวิชาการ เข้าร่วมเสวนา

นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสสร. 2550 เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับการให้องค์กรอิสระและศาลมานั่งเป็นตัวกลาง หรือยื่นมาตรา 7 เนื่องจากไม่ได้มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวคิดว่า คณะรัฐมนตรีชุดนี้หมดอายุรักษาการไปตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมาแล้ว แต่เมื่อขณะนี้ยังคงรักษาการต่อไป ก็ต้องแก้ปัญหาว่าจะอยู่กันอย่างไรต่อไปในสภาพแบบนี้

"อำนาจที่แท้จริงของสังคมไทยอยู่ที่ทหาร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมถึงองคมนตรี ต้องเข้าร่วมแก้ปัญหาด้วยกันวว่าจะทำอย่างไร ลำพังศาลต่างๆ ไม่พอ เพราะไม่มีอำนาจโดยตรง"นายเสรีกล่าว

ทั้งนี้ นายเสรี เสนอให้ องคมนตรีคนใดคนหนึ่ง ลาออกมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนกลาง เพราะโดยส่วนตัวคิดว่าคุณวุฒิ วัยวุฒิ เหมาะสม และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย แต่ก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น เพราะไม่แน่ใจว่า องคมนตรีจะรับข้อเสนอนี้หรือไม่

อดีตรองประธานสสร. 2550 เสนอแนะว่า อีกวิธี ที่ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 7 คือการให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ตั้งรองนายกรัฐมนตรีที่ทุกฝ่ายยอมรับขึ้นมา แล้วให้รักษาการนายกฯ แทน หลังจากนั้น ให้ครม.ชุดปัจจุบันลาออกทั้งหมด โดยหลังจากนั้นให้ รักษาการนายกฯ ตั้งครม.ชุดใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ โดยกำหนดกรอบการปฏิรูป และรักษาการต่อไป

ด้าน นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตกกต. กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะในเมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาออกมาแล้ว ทางออกเดียวก็คือเดินหน้าเลือกตั้งต่อไป โดยขณะนี้ต้องให้กำลังใจกกต.และองค์กรอิสระทุกแห่งในการทำงาน ซึ่งหลักสำคัญที่สุดคือต้องปฏิบัติตามกฎหมาย  ส่วนจะมีผู้ขัดขวางหรือไม่ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ต้องจัดการกันไป ส่วนกกต.ต้องทำหน้าที่ให้เรียบร้อยที่สุด

นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้องค์กรอิสระ ร่วมกันหาทางออก หรือเป็นผู้เสนอนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 ด้วยตัวเอง เนื่องจากอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ และจะสูญเสียความเป็นกลาง รวมถึงทำให้ถูกมองว่าองค์กรเหล่านี้เลือกข้าง

“วันนี้ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ถอย และคงไม่กลับมาแล้ว กปปส.ก็ควรถอยอีกก้าวหนึ่ง ปล่อยให้กลไกทางกฎหมายทำงานบ้าง อย่าไปคิดว่าประชาชนไม่มีความรู้ ในช่วงหลังการตัดสินใจของประชาชนฉลาดขึ้นเยอะ ประชาชนเขาฉลาดขึ้นเยอะ เลือกนายกอบต. จังหวัดหนึ่ง นายกอบต.เก่าสอบตกมากกว่าครึ่ง เพราะชาวบ้านรู้ว่าโกง 6 เดือนมานี้ประชาชนเขาฉลาดขึ้นเยอะ เขามีวิจารณญาณที่จะตัดสินใจได้ มากกว่าจะให้ใครตัดสินใจแทน”นายประพันธ์ระบุ

ขณะที่ นายเจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ กล่าวว่า อาจมีปัญหาหากยื่นมาตรา 7 ตามแนวทางของกปปส. เพราะเปรียบเสมือนการนำทางตันไปทูลเกล้าฯ และโดยสภาพแบบนี้ ซึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ยิ่งเป็นไปได้ยาก สถานการณ์ขณะนี้ เปรียบเหมือนมีมะม่วงหนึ่งใบ ตอนนี้เอาไปคนละครึ่งใบแล้ว ก็ต้องถอย ไม่นั้นมะม่วงอีกครึ่งใบจะเน่า

“ทางออกของสังคมไทย เหลือแค่คุยกันก่อน แล้วหาทางออกร่วมกัน หรือตีกันก่อนแล้วค่อยคุยกัน ซึ่งทุกภาคส่วนที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายปฏิรูป องค์กรเอกชน วุฒิสภา กปปส. หรือ นปช. ต้องเข้ามาร่วมวงนี้สักทีเพื่อให้เกิดการคุยกันเพื่อออกจากวิกฤต”นายเจษฎ์ระบุ

ส่วนการให้ ประธานวุฒิสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด เลือกนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 นั้น นายเจษฎ์บอกว่าทำไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่เคยเป็นประเพณีที่เคยปฏิบัติว่า ประธานศาลสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้