posttoday

ศาลชี้พรบ.กู้2ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ

12 มีนาคม 2557

มติเอกฉันท์! ศาลรัฐธรรมนูญชี้ ร่างพ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ ชี้กระบวนการตรา-เนื้อหาขัดต่อกฎหมาย พร้อมรับวินิจฉัยปมเลือกตั้งโมฆะ

มติเอกฉันท์! ศาลรัฐธรรมนูญชี้ ร่างพ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ ชี้กระบวนการตรา-เนื้อหาขัดต่อกฎหมาย พร้อมรับวินิจฉัยปมเลือกตั้งโมฆะ

เมื่อวันที่ 12 มี.ค.เวลา 13.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านบาท (ร่างพรบ.กู้2ล้านล้าน) ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 ด้วยมติ 9 ต่อ 0 และกระบวนการตราร่างพ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญ ด้วย มติ 6 ต่อ 2 โดยมีตุลาการ 1 คน งดออกเสียง เนื่องจากเห็นว่า ที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ในประเด็นเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไปแล้ว ส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปจากสภา จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงมติในประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายอีก

นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการ ศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.กู้2ล้านล้าน ขัดรัฐรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ร่างพ.ร.บ.ฯดังกล่าวต้องตกไป เนื่องจากเนื้อหาและกระบวนการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

สำหรับ มาตรา169 ระบุว่า การจ่ายเงินแผ่นดินจะต้องกระทำผ่านกฎหมายงบประมาณรายจ่ายกฎหมายด้วยวิธีงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ดังนั้นการใช้วิธีพิเศษตาม ร่างพ.ร.บ.นี้จึงขัดรัฐธรรมนูญ ขณะที่กระบวนการพิจารณากฎหมายมีการลงคะแนนแทนกัน

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ได้ยื่นความเห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัตอของรัฐธรรมนูญ ไว้พิจารณาวินิจฉัย และกำหนดให้มีการรับฟังคำชี้แจงของประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้แทน นายกรัฐมนตรี หรือผู้แทนและประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือผู้แทน ในวันที่ 19มี.ค. เวลา09.30น.

ในคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า การเลือกตั้งเป็นการทั่วไป ตามพ.ร.ฎ.ยุบสภาพ.ศ.2556 ไม่ได้กระทำขึ้นเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จากกรณีที่มีการกำหนดให้เลือกตั้งใหม่ภายหลังวันที่27เม.ย.พ.ศ.2557 และการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาจำนวน 28เขต เป็นการเลือกตั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 รวมทั้ง กกต.ได้ดำเนินการรับสมัครเลือกตั้งทั่วไป โดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ประกอบมาตรา 30จากกรณีที่พรรคการเมืองที่ประสงค์จะยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ไม่สามารถเข้าไปยังสถานที่รับสมัครได้ จึงขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2ก.พ.และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ต่อไป

ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยคำร้องของกกต.ได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะรัฐมนตรี ในการดำเนินการรับสมัครเลือกตั้งใหม่ในการเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไป

ทั้งนี้กรณีที่เกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่นั้น เนื่องจากปัญหา 28เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผูัสมัคร สส. โดยทาง กกต.มีความเห็นว่าไม่มีบทบัญญัติมาตราใดที่ให้อำนาจ กกต.ประกาศกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งขึ้นใหม่หรือกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติม แต่ทางคณะรัฐมนตรี มีความเห็นว่า กกต.สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว. จึงเป็นที่มาของความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ อันเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป