posttoday

เล็งใช้โมเดลจัดเลือกตั้งแทน5จว.แก้ปัญหาที่เหลือ

03 มีนาคม 2557

กกต.เตรียมนำรูปแบบเลือกตั้งทดแทน 5 จังหวัด ใช้กับจังหวัดปัญหาที่เหลือ เผยตัวแทนพรรคการเมืองอาจไม่เข้าร่วมประชุม 7 มี.ค. ที่จ.สงขลา เตรียมยื่นศาลรธน.ตีความเลือกตั้ง 28 เขต

กกต.เตรียมนำรูปแบบเลือกตั้งทดแทน 5 จังหวัด ใช้กับจังหวัดปัญหาที่เหลือ   เผยตัวแทนพรรคการเมืองอาจไม่เข้าร่วมประชุม 7 มี.ค. ที่จ.สงขลา เตรียมยื่นศาลรธน.ตีความเลือกตั้ง 28 เขต

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกต.รับทราบผลการจัดลงคะแนนเลือกตั้งใน 5 จังหวัดเมื่อวันที่ 2มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องมาจาก กกต.ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ ในการเข้ามาช่วยจัดการเลือกตั้ง ดังนั้นจะนำรูปแบบดังกล่าวไปใช้เป็นต้นแบบในการจัดลงคะแนนเลือกตั้งในพื้นที่ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าจะให้มีการลงคะแนนเมื่อใด

ทั้งนี้ในการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการเลือกตั้ง 28 เขตเลือกตั้ง ภาคใต้ที่ยังไม่มีผู้สมัคร ในวันที่ 7 มี.ค. ทาง กกต.จะให้กกต.ทั้ง 14 จังหวัดไปร่วมประชุมเท่านั้น เพราะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กต.จังหวัด) จะต้องทำหน้าที่ผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งในการรับสมัคร สว.ดังนั้นจะมีแต่ประธาน กกต.จังหวัดเท่านั้น ที่จะเข้าร่วมประชุมกับผู้แทนพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยังไม่มีผู้แทนพรรคการเมืองใดตอบกลับมา และมีแนวโน้มว่า 4 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลจะไม่เข้าร่วม ซึ่งคาดว่าในวัน 4 มี.ค.จะทราบว่ามีใครเข้าร่วมประชุมบ้าง ในส่วนของ กกต.กลาง นอกจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งแล้ว ยังมีนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ไปร่วมประชุมด้วย

นายภุชงค์ กล่าวอีกว่า การยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีความขัดแย้งระหว่าง กกต.กับรัฐบาล ในการออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง 28 เขต ที่ประชุม กกต.ได้เห็นชอบกับคำร้องที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หลังจากที่ในช่วงเช้า ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย แต่เนื่องจากมี กกต.บางคนติดภารกิจ จึงยังไม่ได้มีการลงนามครบทั้ง 5 คน แต่มีการนัดที่จะลงนามในเช้าวันพรุ่งนี้ และคาดว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน โดยประเด็นที่จะมีการยื่นต่อศาลมี 3 ประเด็น เป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่จะครอบคลุมทุกประเด็น แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรไม่สามารถเปิดเผยได้

นอกจากนี้ในวัน 4 มี.ค.ที่ประชุม กกต.จะพิจารณาคำร้องที่รัฐบาลขอให้ กกต.อนุมัติให้รัฐบาลให้งบกลาง 2 หมื่นบ้านบาท เพื่อชำระหนี้ให้กับชาวนา ในโครงการรับจำนำข้าว โดยจะมีผู้แทนของกระทรวงพาณิชย์ สำนักงบฯ กระทรวงการคลัง เข้าชี้แจง

นายภุชงค์ กล่าวอีกว่า กกต.ได้มีการกำหนดให้มีการับสมัคร สว.ทั่วประเทศ 77 จังหวัด เริ่มตั้งแต่วัน4-8 มี.ค. และกำหนดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตเลือกตั้งวันที่ 23 มี.ค. เลือกตั้งนอกราชการอาณาจักร 16 ถึง 23 มี.ค. ส่วนวันเลือกตั้ง คือ วันที่ 30 มี.ค. โดยกรุงเทพฯ จะใช้อาคารวุฒิสภา เป็นที่รับสมัคร

ส่วนค่าใช้จ่ายของผู้สมัครในการหาเสียงในแต่ละจังหวัดจะไม่เท่ากัน สูงสุดคือ 5 ล้านบาท ต่ำสุด 1ล้านบาท ซึ่งผู้สมัครสามารถหาเสียงได้แต่ต้องเป็นการหาเสียงในเรื่องของบทบาทหน้าที่ในการเป็น สว. เช่น หาเสียงว่าจะทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไร จะตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ รับบาล อย่างไร แต่จะไม่สามรรถหาเสียงเหมือนกับ ส.ส.ได้ เช่น จะจัดสรรงบประมาณไปลงพื้นที่ เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จากการประเมินของ กกต.จังหวัด เชื่อว่าจากบทบาทหน้าที่ของ สว.ที่ไม่เกี่ยวข้องการเมือง จะทำให้การเลือกตั้ง สว.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเหตุความรุนแรงใดๆ