posttoday

นิติราษฎร์อัดกกต.ไม่ทำหน้าที่

16 กุมภาพันธ์ 2557

นิติราษฎร์แถลงซัดกกต.ไม่ทำหน้าที่ จี้เร่งกำหนดวันเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว ระบุดำเนินการล่าช้ามความผิดอาญา

นิติราษฎร์แถลงซัดกกต.ไม่ทำหน้าที่ จี้เร่งกำหนดวันเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว ระบุดำเนินการล่าช้ามความผิดอาญา

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. คณะนิติราษฎร์นำโดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ ออกแถลงการณ์เรื่อง "อำนาจและความรับผิดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณีกำหนดวันลงคะแนนใหม่ไปเป็นเดือนเมษายน" โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ได้แถลงข่าวโดยอ้างว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติเมื่อ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 กำหนดจัดวันลงคะแนนใหม่ทดแทนการลงคะแนนเลือกตั้งที่มีการประกาศงดการลงคะแนนไป โดยกรณีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 มกราคม 2557 ให้ลงคะแนนใหม่ในวันที่ 20 เมษายน 2557 และกรณีการลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ให้ลงคะแนนใหม่ในวันที่ 28 เมษายน 2557 ส่วนกรณีการลงคะแนนเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งที่ กกต. ไม่สามารถจัดการรับสมัครได้นั้น กกต.ยังไม่ได้พิจารณากำหนดวันลงคะแนน เพราะต้องรอความเห็นจากคณะรัฐมนตรีก่อนว่า จะยินยอมตราพระราชกฤษฎีกา ประกาศรับสมัครใน 28 เขตตามข้อเสนอของ กกต.หรือไม่

คณะนิติราษฎร์ มีความเห็นต่อมติของ กกต. ดังนี้

1.กกต.มีมติกำหนดวันลงคะแนนในวันที่ 20 เมษายน 2557 และวันที่ 27 เมษายน 2557 โดยให้เหตุผลว่า "หากให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ผนวกเข้าไปด้วยกันกับการลงคะแนนการเลือกตั้ง ส.ว. จะทำให้เกิดการคัดค้านรุนแรง และประชาชนอาจเกิดความสับสน ที่ประชุมจึงขอให้มีการคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.หลังการเลือกตั้ง ส.ว.แล้ว ในวันที่ 30 มีนาคม ซึ่งไม่เกินกำหนด 180 วัน" และคาดการณ์ว่า "ในช่วงดังกล่าวสถานการณ์ความขัดแย้งน่าจะคลี่คลายลง"

เหตุผลที่ กกต.ให้นั้น เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าไปเองว่าจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย และในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ขัดขวางการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะ ณ เวลานี้ หรือในวันที่ 20 และ 27 เมษายน 2557 กกต.ก็มีหน้าที่เข้าจัดการไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตามภายในกรอบของกฎหมาย เพื่อให้การออกเสียงลงคะแนนสำเร็จลุล่วงไปได้ แต่ตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า กกต.ได้พยายามใช้อำนาจตามกฎหมายที่ตนมีอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันและแก้ไข สถานการณ์ความวุ่นวายแต่อย่างใด กกต.จึงไม่อาจหยิบยกความขัดแย้งทางการเมืองหรือความชุลมุนวุ่นวายที่กลุ่ม การเมืองใดก่อขึ้น เพื่อนำมาใช้อ้างเพื่อละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เพื่อหน่วงเหนี่ยวการเกิดขึ้นของสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพราะมิฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่มีเหตุการณ์ความวุ่นวาย หรือการชุมนุมที่ต้องการขัดขวางการเลือกตั้ง กกต. ก็จะใช้เป็นเหตุอ้างเพื่อไม่จัดการเลือกตั้งให้สมบูรณ์ได้เสมอ

2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 127 บัญญัติว่า "ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก" ระยะเวลาดังกล่าวเป็นระยะเวลาเร่งรัดให้บรรดาองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องจัดให้ ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก กรณีที่ กกต. กำหนดวันลงคะแนนใหม่ไปไกลถึงวันที่ 20 และ 27 เมษายน 2557 โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จึงเป็นการกำหนดวันลงคะแนนใหม่ให้ทอดยาวออกไป จนไม่อาจมีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ได้ กรณีดังกล่าว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่มีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 20 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 และมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา

3.กรณี 28 เขตเลือกตั้งที่มีปัญหารับสมัครเลือกตั้งไม่สำเร็จนั้น กกต.ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีตราพระราชกฤษฎีกาประกาศรับสมัครเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตเลือกตั้ง ข้อเสนอเช่นนี้เป็นข้อเสนอที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรองรับ เนื่องจาก ขณะนี้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ การเสนอให้ตราพระราชกฤษฎีกาประกาศรับสมัครเลือกตั้งใหม่ มีผลให้เกิดพระราชกฤษฎีกาสองฉบับทับซ้อนกัน และส่งผลให้อาจเกิดการตีความว่าการกำหนดวันเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่ว ราชอาณาจักรได้ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง นอกจากนี้ หากพิจารณาสาเหตุที่การสมัครรับเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์นั้น ก็เป็นความบกพร่องของ กกต. ที่ไม่ขยายระยะเวลาการรับสมัครออกไปตั้งแต่แรก การเสนอให้คณะรัฐมนตรีตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงอาจมองได้ว่า กกต. กำลังผลักความรับผิดชอบ เพื่อลบล้างการกระทำอันบกพร่องของตน

4.ข้อเสนอของ กกต. เกี่ยวกับการกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ และข้อเสนอของนักวิชาการหรือผู้ตั้งตนเป็น "คนกลาง" ทั้งหลาย ต้องคำนึงและให้ความสำคัญแก่ประชาชน 20 ล้านคนที่ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และรอคอยการเกิดขึ้นของสภาผู้แทนราษฎรอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจของรัฐดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ย่อมเป็นความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องมีสภาผู้แทนราษฎรและคณะ รัฐมนตรีชุดใหม่ที่มีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ทั้งหมด คณะนิติราษฎร์เสนอให้ กกต.พิจารณาใช้ดุลพินิจกำหนดวันลงคะแนนใหม่โดยเร็วที่สุด การกำหนดวันลงคะแนนใหม่ที่ล่าช้า และปราศจากเหตุผลอันสมควร ย่อมทำให้ กกต. มีความผิดอาญา โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้เสียหายที่จะริเริ่ม ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษได้