posttoday

"คำนูณ"ชี้ออมสินให้ธ.ก.ส.กู้เป็นนิติกรรมอำพราง

15 กุมภาพันธ์ 2557

สว.สรรหา ชี้ ออมสินให้ธ.ก.ส.กู้อินเตอร์แบงก์เป็นนิติกรรมอำพรางเพื่อจำนำข้าว จับตากรุงไทยอาจให้กู้ลักษณะเดียวกัน

สว.สรรหา ชี้ ออมสินให้ธ.ก.ส.กู้อินเตอร์แบงก์เป็นนิติกรรมอำพรางเพื่อจำนำข้าว จับตากรุงไทยอาจให้กู้ลักษณะเดียวกัน

นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา แสดงทัศนะผ่านสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก กรณีการที่ธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 หมื่นล้านบาท ว่า ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นนิติกรรมอำพรางเพื่อหาเงินไปจ่ายชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ เพราะการกู้ระหว่างธนาคาร (อินเตอร์แบงก์) วัตถุประสงค์หลัก คือ เสริมสภาพคล่อง จะมีระยะเวลาชำระหนี้สั้นไม่กี่วัน แต่ในเงื่อนไขการกู้ระหว่างธนาคารออมสินและธ.ก.ส.ครั้งนี้ มีระยะเวลาชำระหนี้ถึง 9 เดือน

ทั้งนี้ การมี หนังสือรับทราบภาระหนี้สิน (Letter of Comfort) จากรัฐบาล ไม่ใช่ (Letter of Gaurantee) หมายความว่า หากมีปัญหาการชำระหนี้ รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบ แต่เป็นความเสี่ยงของ ธ.ก.ส. ที่จะต้องรับไว้เอง จึงขอเรียกร้องให้สหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. ตรวจสอบให้ได้ว่าจะจัดการกับเงิน 2 หมื่นล้านบาทนี้อย่างไรเพื่อไม่ให้ ธ.ก.ส.เสียหาย และส่วนตัวเชื่อว่า คงทำแบบนี้กับธนาคารกรุงไทยด้วยเพื่อหา funding ให้ธ.ก.ส. ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (16 ก.พ.) เวลา 14.00 น. ธนาคารออมสินเตรียมจัดแถลงข่าวด่วนเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ให้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นผู้แถลงข่าว

สำหรับเนื้อหาที่นายคำนูณ โพสต์ในเฟซบุ๊กมีดังนี้

"นิติกรรมอำพราง ??

การที่ธนาคารออมสินให้ ธ.ก.ส.กู้ 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาชำระหนี้ 9 เดือน โดยอ้างว่าเป็นการให้กู้แบบอินเตอร์แบงก์ทั่วไป โดยมี letter of comfort จากกระทรวงการคลังเป็นหลักฐาน ไม่ใช่ให้กู้ใช้ในโครงการรับจำนำข้าว แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือนี่เป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ เพราะการกู้แบบอินเตอร์แบงก์นั้นวัตถุประสงค์คือเพื่อเสริมสภาพคล่อง เป็นการกู้ระยะสั้น ปกติแล้วเพียงแค่วันเดียวสองวัน อย่างที่เรียกกันว่า overnight ด้วยซ้ำ ไม่ใช่ 9 เดือนอย่างที่ทำ มีธนาคารไหนในโลกปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ 9 เดือนบ้างมั้ย และถ้าเป็นธนาคารเอกชนจะกล้าทำอย่างนี้มั้ย ผู้บริหารเงินฝากของลูกผม 2 บัญชีช่วยตอบหน่อย ถ้าไม่ตอบวันนี้ช่วยตอบผมในการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการเงินฯวุฒิสภาอังคารที่จะถึงนี้ด้วย

กูรูทางการเงินยอมรับว่าฉลาดครับ เพราะเรื่องนิติกรรมอำพรางอาจจะพิสูจน์ได้ยาก เมื่ออ้างว่าเป็นการกู้แบบอินเตอร์แบงก์แล้วธนาคารออมสินไม่จำเป็นต้องรับรู้ว่าธ.ก.ส.จะเอาเงินไปใช้อะไร

ปัญหาอยู่ที่ ธ.ก.ส. ถ้าเอาเงินไปปล่อยโดยอิง letter of comfort ที่กระทรวงการคลังออกให้ แล้วรัฐบาลหน้าไม่จ่าย เพราะ letter of comfort ไม่ใช่ letter of guarantee ธ.ก.ส.ก็ต้องรับผิดชอบเอง รัฐบาลนี้ก็ไม่ผิดรัฐธรรมนูญเพราะธ.ก.ส.รับความเสี่ยงเอง

สหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. ต้องตรวจสอบให้ได้ว่าจะจัดการกับเงิน 20,000 ล้านจากออมสินอย่างไรไม่ให้ธกส.เสียหาย !

พวกเขาหวังว่าถ้ารัฐบาลนี้รอดไปได้ จะเปลี่ยน letter of comfort เป็นการค้ำประกันเหมือนเงิน funding ก้อนอื่น ๆ

แม้เบื้องต้นออมสินไม่เสียหายแน่เพราะปล่อยสินเชื่ออินเตอร์แบงก์ให้ธ.ก.ส. แต่ปัญหาคือธ.ก.ส.ทำไมยอมปล่อยสินเชื่อ against letter of comfort ซึ่งไม่มีผลยังคับตามกฎหมาย

ส่วนที่พอพูดได้ว่าออมสินซูเอี๋ยด้วยคือไม่มีธนาคารไหนในโลกปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์นาน 9 เดือน !

คงทำแบบนี้กับธนาคารกรุงไทยด้วยเพื่อหา funding ให้ธ.ก.ส.

ที่ตัองกู้อินเตอร์แบงก์ ก็เพื่อไม่จำเป็นต้องระบุวัตถุประสงค์ในการกู้ไง และที่ต้อง 9 เดือน ก็หวังว่าพ้นรักษาการแล้วจะกลับมาเคลียร์นิติกรรมอำพรางที่ทำไว้เพื่อเลี่ยงรัฐธรรมนูญช่วงรักษาการ

การกู้แบบนี้ควรเป็น term loan ต้องแสดงวัตถุประสงค์ในการขอเงินกู้ไปใช้และที่มาของเงินที่จะจ่ายคืน แต่ที่ไม่ทำเพราะบอกไมได้ว่าจะเอาไปจ่ายหนี้ชาวนา และก็ไม่สามารถระบุว่า repayment จะมาจากไหน ถึงต้องกู้เป็นอินเตอร์แบงก์พิสดารยาว 9 เดือน ทั้งๆ ที่อินเตอร์แบงก์ส่วนใหญ่วันต่อวัน overnight เท่านั้น

สรุปประเด็นด้านออมสิน

1. ทำไมปล่อยอินเตอร์แบงก์ยาวถึง 9 เดือน ปกติแบงก์กู้กันชั่วข้ามคืน เลี่ยงการปล่อนกู้เป็น term loan เพื่อไม่ให้สาวถึงเรื่องจำนำข้าวใช่ไหม

2. การปล่อยกู้มีอะไรเป็นหลักประกันหรือไม่ เพราะอะไร

สรุปประเด็นด้านธ.ก.ส.

1. กู้มาทำไม เพราะเคยบอกว่ามีสภาพคล่องเหลือไม่ใช่หรือ

2. ความเสี่ยงในการกู้ธนาคารรับไว้เองใช่ไหม หรีอรัฐบาลรับประกันเป็น letter of comfort มีหลักฐานเก็บไว้ไหม

3. รู้หรือไม่ว่า letter of comfort ไม่มีผลบังคับให้รัฐบาลชดเชยความเสียหายถ้าปล่อยเงินให้โครงการจำนำข้าวแล้วเสียหาย

ทั้งหมดประมวลมาจากการสนทนากับกูรูทางการเงินที่เป็นกัลยาณมิตรกัน"