posttoday

เปิดตัวเครือข่ายเดินหน้าปฎิรูปจี้2ฝ่ายเจรจา

30 มกราคม 2557

เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปเรียกร้องทั้ง 2 ฝ่ายยุติรุนแรงหันหน้าเจรจา พร้อมตั้งคณะกรรมการร่วมป้องกันเหตุเผชิญหน้าเลือกตั้ง2 ก.พ.

เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปเรียกร้องทั้ง 2 ฝ่ายยุติรุนแรงหันหน้าเจรจา พร้อมตั้งคณะกรรมการร่วมป้องกันเหตุเผชิญหน้าเลือกตั้ง2 ก.พ. 

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. เวลา 11.00น. ได้มีการเปิดตัวเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ซึ่งประกอบจากการรวมตัวของเครือข่ายต่างๆทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคธุรกิจ เครือข่ายวิชาการ และองค์กรสื่อมวลชน รวม74 เครือข่าย โดยวัตถุประสงค์ของเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป คือผลักดันกระแสการปฏิรูปประเทศในระยะยาว ไม่ให้หายไปกับกระแสความขัดแย้ง โดยเริ่มต้นทำทันที ไม่ต้องรอฝ่ายการเมืองดำเนินการ และใช้รูปแบบการผลักดันในระดับประชาชนเพื่อให้เกิดพลังจนผู้มีอำนาจต้องรับฟัง

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม อ่านแถลงการณ์ของเครือข่าย 3 ข้อ คือ 1.หยุดความรุนแรง การยั่วยุ ลดการเผชิญหน้าและการส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชังระหว่างประชาชนและผู้มีความเห็นต่าง 2.เริ่มต้นเจรจาเพื่อหาทางออกประเทศ เพราะไม่มีความขัดแย้งใดในโลกที่หาทางออกได้โดยปราศจากการเจรจา ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเดินหน้าไปได้หรือไม่ก็ตาม คู่ขัดแย้งและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเจรจาเกี่ยวกับการปฏิรูป 3.เดินหน้าปฏิรูปทันที เพื่อปกป้องวาระการปฏิรูปประเทศไม่ให้ถูกลดความสำคัญลงภายใต้บรรยากาศการเผชิญหน้าของฝ่ายต่างๆและมิให้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศถูกซุกไว้ใต้พรม และสูญเสียโอกาสของความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนที่เห็นพ้องเรื่องการปฏิรูป

นายบัณฑูร กล่าวว่า ที่ผ่านมามีหลายเวที หลายเครือข่ายที่เสนอแนวทางการปฏิรูปให้ฝ่ายการเมือง แต่เมื่อไม่ได้ผล ก็ต้องก่อตัวขับเคลื่อนด้วยกระบวนการทางสังคมเลยเพื่อให้เกิดพลังจนฝ่ายการเมืองต้องรับฟัง ซึ่งเบื้องต้นได้วางลำดับความสำคัญคือต้องปฏิรูปก่อน 3 เรื่อง คือ 1.ปฏิรูปการเมือง ทั้งการเข้าสู่อำนายและการใช้อำนาจ 2.การกระจายอำนาจ และ 3.การต่อต้านการคอรัปชั่น ซึ่งเชื่อว่าเมื่อปฏิรูปทั้ง 3 เรื่องนี้ก่อนจะทำให้การปฏิรูปเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องการกระจายและเข้าถึงทรัพยากรเดินหน้าได้ง่ายขึ้น เบื้องต้นคาดว่าภายใน 1เดือนนับจากนี้จะมีการจัดเวทีเพื่อรับฟังข้อเสนอของการปฏิรูปทั้ง 3 เรื่อง

ด้านนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวว่า เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ไม่ใช่เวทีกลางการเจรจาระหว่างขั้วขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเครือข่ายไม่มีอำนาจไปบังคับให้ต้องมานั่งโต๊ะเจรจา และคงไม่ไปขอเจรจากับใคร แต่จะเดินหน้าเรื่องการปฏิรูปทันที ไม่ว่าจะเป็นใครกลุ่มใด ก็ครรหันหน้าเจรจากัน

"เราไม่ต้องการให้กระแสการปฏิรูปจมหายไปกับความรุนแรง"นายกิตติพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ก็มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันความรุนแรงในการเบือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. นี้เช่นกัน โดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เสนอว่าต้องเคารพสิทธิ ของทั้งผู้ประสงค์ไปเลือกตั้ง และผู้ไม่ประสงค์จะเลือกตั้ง และควรมีกลไกการเจรจาป้องกันการเผชิญหน้า โดยตั้งคณะกาชรรมการร่วมทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อประสานงานป้องกันเหตุรุนแรง รวมทั้งเรียกร้องทุกฝ่ายไม่ให้ส่งเสริมความรุนแรงด้วย

ขณะที่นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ต้องเริ่มต้นจากหลักการเเข้าใจว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีฐานคิดที่มีความชอบธรรมและมีเหตุมีผลทั้งคู่ และต้องท้าทายวิธีคิดว่าต้องเอาระดับแกนนำหรือหัวหน้ามาเจรจากัน เพราะประเทศไทยไม่ได้มีแค่ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ หรือสุเทพ แต่เป็นบ้านของคนทุกคน จึงต้องส่งเสียงเพื่อให้ผู้นำหันมาฟังบ้าง

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า คนที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งก่อนปฏิรูป อาจจะใช้วิธีเข้าคูหาแล้วกาอะไรก็ได้ เช่นกาบาท 2 ครั้งเพื่อให้บัตรเสีย แต่วิธีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ต้องหาวิธีนับบัตรเสียที่สะท้อนว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งด้วย

"การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆมามีบัตรเสียประมาณ 1.3 ล้านใบ โนโหวต6.9-7 แสนใบ ซึ่งหากเลื้อกตั้งครั้งนี้มีตัวเลขที่สูงขึ้นก็สะท้อนว่าคนไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งมีกี่คน วิธี้ก็เป็นการวัดความชอบธรรมได้อย่างหนึ่ง ไม่ใช่ว่าคนที่ไปลงคะแนนจะเห็นด้วยกับการเลือกตั้งทั้งหมด หากมีบัตรเสียมากก็อาจสะท้อนว่าคนไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งก็ได้"นายชัยวัฒน์ กล่าว
 
ทั้งนี 74 องค์กรที่ร่วมเป็นเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป อาทิ เอทีเอว็อชท์ เครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย, เครือข่ายกะเหรี่ยงแห่งประเทศไทย, เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง, สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ, กลุ่มจับตาความรุนแรง, บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด,คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา35, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), ธนาคารกรุงเทพ, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ประชาคมพรรคการเมืองเอเชีย/ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สำนักข่าวอิศรา, องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นต้น

เปิดตัวเครือข่ายเดินหน้าปฎิรูปจี้2ฝ่ายเจรจา

 

เปิดตัวเครือข่ายเดินหน้าปฎิรูปจี้2ฝ่ายเจรจา