posttoday

ยุติเงื่อนไขการเกิดสงครามกลางเมือง !

07 พฤษภาคม 2553

โดย รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"การทำให้เกิดการยอมรับร่วมกันได้ และนำมาซึ่งการยุติการชุมนุม และการยุบสภาที่รัฐบาลกำหนดเวลาขึ้นเองน่าจะเป็นวิธีการที่อารยะกว่าการต้องบาดเจ็บล้มตายและก็ยังไม่รู้ว่าจะลง เอยกันอย่างไร"

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่พอใจกับข้อเสนอเพื่อการปรองดองของที่ นายกรัฐมนตรีเสนอให้ทางแกนนำ นปช. พิจารณา   เหตุผลที่ไม่พอใจมีหลายประการ

ประการแรก การยอมยุบสภาตามข้อเรียกร้องของแกนนำ นปช. จะกลายเป็นตัวอย่างที่ทำให้มีการใช้วิธีการดังกล่าวกดดันรัฐบาลในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นระดมคนมาชุมนุมปิดถนนสร้างความเดือดร้อนละเมิดสิทธิเสรีภาพการ ใช้ชีวิตและการทำมาหากินของผู้คน  หรือใช้กำลังความรุนแรงทำร้ายร่างกายหรือข่มขู่ (อย่างเช่น ในกรณีที่ มีการทำร้ายสารวัตรทหารที่รัฐสภา การใช้วาจาข่มขู่คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีการข่มขู่กรรโชกทรัพย์และตั้งด่านตรวจประชาชนตามอำเภอใจ ฯลฯ)   การเสนอการยุบสภาก็เท่ากับยอมรับวิธีการดังกล่าว นายกรัฐมนตรีไม่สามารถรักษานิติรัฐไว้ได้ เพราะปล่อยให้กฎหมู่และการใช้การชุมนุมที่ไม่สงบและใช้ความรุนแรงอยู่เหนือ กฎหมาย

สอง  หลายคนคิดว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์โรงพยาบาลจุฬา  ฝ่ายรัฐบาลมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ที่จะสลายการชุมนุมของ นปช.  นอกจากจะไม่ใช้โอกาสนี้แล้ว ยังกลับอ่อนข้อหาทางลงให้แกนนำ นปช. เสียอีก 

สาม  เมื่อแกนนำ นปช. ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว และหากเมื่อมีการยุติการชุมนุมแล้ว  ปัญหาปริศนากองกำลังชุดดำไม่ทราบฝ่าย  รัฐบาลก็ไม่น่าจะสืบสาวราวเรื่องอะไรได้ และกองกำลังดังกล่าวก็ยังลอยนวลอยู่  หากกองกำลังดังกล่าวเป็นคนในสังกัด นปช.  การยอมยุบสภาก็เท่ากับยอมพ่ายแพ้ต่อการใช้กำลังความรุนแรงในการขับเคลื่อน เพื่อเป้าหมายทางการเมือง  หากกองกำลังดังกล่าวไม่ใช่คนของ นปช.  และรัฐบาลไม่สามารถสืบสวนจับตัวมาลงโทษได้ ก็ยิ่งเป็นการปล่อยให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศตกอยู่ในสภาวะที่น่าหวาดวิตก สะพรึงกลัวอย่างยิ่ง

สี่ ความชอบธรรมของการชุมนุมของ นปช. กำลังหดหายไปเรื่อยๆ นับจากเหตุการณ์โรงพยาบาลจุฬา  และยิ่งใกล้วันเปิดเรียน หากยังมีการชุมนุมต่อไป นปช. ก็ยิ่งจะเน่ามากขึ้นในสายตาของสังคม และคนที่มาร่วมชุมนุมก็น้อยลงเรื่อยๆ  การชุมนุมก็น่าจะล้มเหลวไปในที่สุด หรือหากจะมีการเข้าสลายในช่วงเวลาก่อนเปิดภาคเรียน รัฐบาลก็ย่อมจะได้แรงสนับสนุนจากสังคมส่วนใหญ่อยู่แล้ว  ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องยื่นข้อเสนอเพื่อหาทางลงให้พวกแกนนำแต่อย่างไร

ห้า  ในเมื่อรัฐบาลประกาศผังเครือข่ายล้มเจ้าและประกาศว่า แกนนำจำนวนหนึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายแล้ว   ทำไมต้องยื่นข้อเสนอเพื่อปรองดองหรือเจรจากับคนที่รัฐบาลเชื่อว่ามุ่งทำลาย สถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นผู้ก่อการร้ายด้วย มันไม่ขัดแย้งกันในหลักการหรืออย่างไร ?

หก  คนป่วยที่ต้องสูญเสียชีวิตไปจากการเคลื่อนย้ายออกจากโรงพยาบาลจุฬา  ใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบ  และเมื่อเกิดความเสียหายขนาดนี้อันเกิดจากการคุกคามโรงพยาบาลโดยคนของ นปช.   รัฐบาลยังจะหาทางปรองดองกับคนเหล่านี้เพื่ออะไร ?

แน่นอนว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์โรงพยาบาลจุฬา  การชุมนุมของ นปช. สูญเสียความชอบธรรมและแนวร่วมไปมาก  และได้สร้างบรรยากาศความรู้สึกของคนในสังคมถึงความชอบธรรมในการสลายการ ชุมนุม ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจจะฉกฉวยเป็นโอกาสในการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมก็ได้  แต่แน่นอนว่า หากมีการเข้าสลายการชุมนุม ย่อมไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บล้มตายของคนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทหารตำรวจหรือคนที่มาชุมนุม 

ดังนั้น ในสถานการณ์ที่รัฐบาลเป็นต่อนี้  การยื่นข้อเสนอเพื่อให้เกิดการยุติการชุมนุม ก็เท่ากับเป็นการให้โอกาสแกนนำได้ไตร่ตรองยุติการชุมนุมเสียโดยที่ไม่จำเป็น ที่จะต้องให้เกิดการเสียเลือดเนื้อใดๆเลย   ในทำนองเดียวกันกับที่แม่ทัพที่ยกกองกำลังทหารมหาศาลมาเพื่อตีเมืองข้าศึก ซึ่งอยู่ในสภาพที่ด้อยกว่าในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นกำลังหรือความชอบธรรม  แต่แม่ทัพตัดสินใจยื่นข้อเสนอเพื่อให้โอกาสอีกฝ่ายหนึ่ง

และแน่นอนว่า ในสถานการณ์ที่เป็นต่ออยู่นี้  มีความเป็นไปได้สูงว่าอีกฝ่ายจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรับข้อเสนอ หากไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขดังกล่าวนี้  การยื่นข้อเสนอเพื่อปรองดองย่อมจะถูกปฏิเสธ ดังที่ทราบกันดีว่า ก่อนหน้านี้ แกนนำ นปช. ประกาศกร้าวอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องการให้นายกรัฐมนตรียุบสภาทันทีเท่านั้นจึงจะยอมยุติการชุมนุม

นอกจากนี้  เป็นไปได้ว่า ในการรับมือกับการสลายการชุมนุม แกนนำ นปช. อาจจะใช้วิธีจุดไฟเผาหรือระเบิดถังแก๊สทำลายตึกรามบ้านช่องรวมทั้งชีวิตของ ผู้คนทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายประชาชน  และแกนนำก็ต้องเสี่ยงชีวิตของตนจากการถูกล่าสังหารในขณะที่มีการสลายการ ชุมนุม 

แต่ที่ผ่านมา แกนนำ นปช. เชื่อว่า นายกรัฐมนตรีและผู้นำทหารไม่ต้องการให้มือเปื้อนเลือดมากไปกว่าเหตุการณ์วัน ที่ ๑๐ เมษายน อีกทั้งฝ่ายรัฐก็ไม่กล้าเสี่ยงกับการทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตผู้คนด้วย แต่หลังจากเหตุการณ์โรงพยาบาลจุฬา  แกนนำ นปช. เริ่มรู้สึกแล้วว่า สังคมอาจจะยอมรับให้รัฐบาลเข้าสลายและแม้ว่ามือจะเปื้อนเลือด แต่ก็ยังมีความชอบธรรม

หากเกิดการสลายการชุมนุมขึ้นจริงๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่าย นปช. อยู่ในสภาพที่ไม่แน่ใจว่าจะมีมือที่สามผสมโรงเพื่อให้เหตุการณ์บานปลายจน เป็นสงครามกลางเมือง จนไม่มีฝ่ายใดคุมสถานการณ์ได้อีกต่อไป 

ดังนั้น ในเงื่อนไขข้อเสนอที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์โรงพยาบาลจุฬา จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้สำหรับทุกฝ่าย  หากแม้นแกนนำ นปช. จะดื้อดึงไม่ยอมรับข้อเสนอ ก็ยิ่งจะเพิ่มความชอบธรรมให้กับฝ่ายรัฐบาลใช้มาตรการสลายการชุมนุม หรือหากรัฐบาลไม่สลาย  นานวันไป การชุมนุมของ นปช. ก็จะเหือดหายไปเอง ซึ่งจะทำให้การต่อสู้ตลอดสองเดือนที่ผ่านมาไม่ได้อะไรเลย

หากนายก รัฐมนตรีไม่ยื่นข้อเสนอในสถานการณ์ขณะนี้  และคิดจะปล่อยให้ นปช. อ่อนแรงไปเอง แน่นอนว่า สังคมกรุงเทพฯและในจังหวัดอื่นๆก็จะต้องเดือดร้อนต่อไป และการปะทะกันระหว่างประชาชนสองฝ่ายก็อาจจะเกิดขึ้นได้  ขณะเดียวกัน ก็ไม่แน่อีกเหมือนกันว่า อาจจะเกิดประเด็นอะไรขึ้นมาให้แกนนำ นปช. หยิบยกขึ้นมาสร้างกระแสการชุมนุมและความชอบธรรมให้กลับขึ้นมาอีกก็ได้

การสลายการชุมนุมอาจจะสลายได้สำเร็จ แต่แน่นอนว่า จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวอย่างกว้างขวางของผู้คนที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล ได้   นั่นคือ สลายได้ แต่ไม่มีทางปราบให้สิ้นซากได้โดยการใช้กำลัง  โดยเฉพาะประเด็นความคิดเรื่องการล้มเจ้า  ดังนั้น การดึงให้แกนนำ นปช. (และแน่นอนว่าควรดึงสังคมในวงกว้างด้วย) เข้าสู่เวทีเปิดที่เป็นทางการเพื่อร่วมการทำข้อเสนอห้าประการของนายก รัฐมนตรีให้เป็นจริง โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติย่อมจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการหาทางออกจากความ ขัดแย้งและปูทางไปสู่พัฒนาการในอนาคต

ส่วนประเด็นเรื่องการก่อการร้ายนั้น ก็ต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และแน่นอนว่าฝ่าย นปช. ก็ย่อมมีสิทธิในการฟ้องร้องกล่าวโทษต่อนายกรัฐมนตรีจากเหตุการณ์วันที่ ๑๐ เมษายน ซึ่งก็อยู่ในข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว นั่นคือ การตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว  รวมทั้งสืบสวนเกี่ยวกับกองกำลังชุดดำต่อไปด้วย ซึ่งน่าจะทำได้ง่ายกว่าในสถานการณ์ที่มีการชุมนุมอยู่

การทำให้เกิดการ ยอมรับร่วมกันได้ และนำมาซึ่งการยุติการชุมนุม และการยุบสภาที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเวลาขึ้นเองโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อกันต่อ ไปน่าจะเป็นวิธีการที่อารยะกว่าการต้องบาดเจ็บล้มตายและก็ยังไม่รู้ว่าจะลง เอยกันอย่างไร

สำหรับความวิตกว่า การมีการเลียนแบบวิธีการของ นปช. ขึ้นในอนาคตนั้น  ผู้เขียนเชื่อว่า การออก พ.ร.บ. การชุมนุมในที่สาธารณะที่กำหนดชัดเจนว่าสถานที่ใดชุมนุมไม่ได้ การชุมนุมยืดเยื้อข้ามคืนทำไม่ได้ ฯลฯ อย่างที่ปรากฏในกฎหมายการชุมนุมของประเทศอังกฤษและหลายๆประเทศจะช่วยตัดไฟ ตั้งแต่ต้นลมได้ 

แต่ที่ผู้เขียนเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือ ในตอนที่พี่น้อง นปช. ยุติการชุมนุม อาจจะมีมือที่สามเข้าป่วนเพื่อทำให้เกิดการจลาจลได้ รวมทั้งการพยายามที่จะลอบสังหารนายกรัฐมนตรี เพราะคนที่ต้องการให้เกิดสงครามกลางเมืองย่อมผิดหวังอย่างยิ่งต่อการปรองดอง ที่จะเกิดขึ้น