posttoday

ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย

28 ธันวาคม 2556

ผมได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย

ผมได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย รวม 4 ปี ตั้งแต่ปี 25482551 ประวัติของสองสถาบันนี้และกิจกรรมหลายๆ ประเภทได้กล่าวไปแล้วในบทต้นๆ จึงจะไม่ขอกล่าวซ้ำอีก

ก่อนนั้นผมเริ่มเข้าไปเป็นกรรมการของหอการค้าไทยตั้งแต่ปี 2524 รวมเวลาที่สละให้กับสองสถาบันนี้จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 30 ปีเศษๆ จึงกล่าวได้ว่าพอๆ กับการทำงานในอาชีพหลักเลยทีเดียว

การเข้ารับตำแหน่งประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทยถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิตครั้งที่สามของผม

ครั้งแรก คือ การตัดสินใจไปเรียนต่างประเทศเมื่อเยาว์วัย

ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย

 

ครั้งที่สอง คือ การเสี่ยงกับความล้มเหลวในชีวิตการทำงานในวัยกลางคน ที่ย้ายไปทำงานที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย

โชคดีที่เวลาพิสูจน์ว่าจุดเปลี่ยนทั้งสามครั้งนี้ช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์ให้ชีวิตเป็นบวกมากกว่าลบ

ตำแหน่งประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย เป็นตำแหน่งสำคัญ ถือว่าเป็นผู้แทนของผู้นำเศรษฐกิจภาคเอกชน หน้าที่หลักประการหนึ่ง คือ การประสานงานกับรัฐบาลในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ต้องกล้าที่จะติหรือชมเชยการปฏิบัติงานของรัฐบาลได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ ต้องสามารถที่จะวางตัวเป็นกลางและไม่เป็นผู้แทนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่

ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย

 

ย้อนหลังไป 4 ปีก่อนที่ผมจะเข้ารับตำแหน่งนี้ ผมได้ตัดสินใจที่จะวางมือจากการเป็นกรรมการบริหารของสองสถาบันนี้ และสละเวลาให้กับวงการศึกษาโดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมากขึ้น

ครั้งนั้น ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานหอการค้าไทย ผู้ซึ่งมีอาวุโสทั้งอายุและประวัติการทำงานในสภาหอการค้าแห่งประเทศและหอการค้าไทยใกล้เคียงกับผม ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการต่อจากคุณวิเชียร เตชะไพบูลย์ ที่ครบวาระลง เป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่ผมจะถอยจากการบริหารและมาสนับสนุนทางวิชาการผ่านสถาบันยุทธศาสตร์การค้าที่มีการเสนอให้จัดตั้งขึ้นเพื่อป้อนข้อมูลทางวิชาการให้กับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย

ผู้เสนอให้จัดตั้งสถาบันนี้คือ ดร.สวราชสัจจมาร์ค ผู้คลุกคลีและช่ำชองทางวิชาการมายาวนาน ในเวลาเดียวกันผมยินดีรับปฏิบัติหน้าที่อุปนายกและประธานคณะกรรมการอำนวยการของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อกำกับและสนับสนุนการบริหารงานประจำของอธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัย

หลังจาก ดร.อาชว์ เตาลานนท์ ดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี คณะกรรมการหันรีหันขวางหาใครที่จะใจง่ายหลวมตัวยอมรับตำแหน่งนี้ไม่ได้ จึงมีมติให้เชิญผมมารับหน้าที่ประธานคณะกรรมการคนต่อไป เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชีวิตวุ่นวายอีกรอบหลังจากที่ทำตัวสบายๆ มาระยะหนึ่ง

ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย

 

จะว่าใครได้ในเมื่อไม่ค่อยฉลาดแล้วใจอ่อนก็ช่วยไม่ได้

ช่วง 4 ปีที่ผมปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการนี้ ต้องทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีถึง 5 คนด้วยกัน เริ่มต้นที่ปีสุดท้ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อด้วย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ คุณสมัคร สุนทรเวช คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกปรารภว่า ใช้นายกรัฐมนตรีเปลืองที่สุด แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่หลากหลาย สามารถเขียนเป็นหนังสือได้อีกเล่มหนึ่ง

นี่ถ้าเปลี่ยนภรรยาได้ง่ายๆ เหมือนเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี คงมีคนอยากทำหน้าที่นี้อีกมากมาย

ผมได้ตั้งใจที่จะนำรายละเอียดการทำงานและผลงานในรอบ 4 ปีมาถ่ายทอดที่นี่ เพราะมีบันทึกเรื่องเหล่านี้อยู่ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทยแล้ว เพียงแต่จะขอนำบางเรื่องบางประเด็นหรือเกร็ดบางอย่างมาเล่าสู่กันฟังพอเรียกน้ำย่อย เพื่อให้ไปหารายละเอียดอ่านต่อที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเท่านั้นพอ

การบริหารองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่นหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ไม่เหมือนการบริหารบริษัทหรือองค์กรที่มีโครงสร้างการจัดการและอำนาจหน้าที่ของการบริหารชัดเจน คณะกรรมการที่มาช่วยงานที่สองสถาบันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน มีฐานะที่มั่นคงและมีความสามารถสูงด้วยกันทั้งนั้น

อาจจะกล่าวได้ว่า ความจริงแล้วไม่มีใครเป็นนายใคร ฉะนั้นจะไปสั่งให้ใครทำโน่นทำนี่เหมือนการบริหารงานแบบบริษัทไม่ได้

ตำแหน่งต่างๆ เช่น ประธาน รองประธาน และเลขาธิการ เป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อกำหนดผู้รับผิดชอบเป็นทางการ เป็นตัวแทนขององค์กรต่อสาธารณชนเท่านั้น การทำงานด้วยกันภายในเป็นเรื่องของการขอร้อง ขอความร่วมมือ เพื่อแบ่งกันรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ ตำแหน่งประธานจึงเป็นเพียง “The first among the equals” ถ้าบารมีไม่สูงพอที่จะกำกับการบริหารงานได้ ก็คงไม่มีผลงานอะไรที่จะเป็นที่ประทับใจได้

ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย

 

นี่คือความท้าทายที่สำคัญประการหนึ่งของผู้ที่มารับตำแหน่งประธานกรรมการฯ

ผมได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ส่งทีมงานมาช่วยบริษัทละ 2 คน คือ คุณสุริยนต์ตู้จินดา คุณทรงยศ สีจร คุณวรชัย กันตะสิริพิทักษ์ และ คุณพรชัย เสตะจันทร์ ต่อมาคุณสุริยนต์ย้ายกลับไปทำงานในตำแหน่งที่สำคัญที่ปูนซิเมนต์ไทย จึงได้คุณภากรณ์ ทิวเจริญ มาช่วยงานต่อ

นอกจากนี้ ยังได้รับความช่วยเหลือจากคุณวรรณวีรา (น้ำผึ้ง) รัชฎาวงศ์ จากสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ในการเขียนสุนทรพจน์ภาคภาษาอังกฤษอีกด้วย

บุคคลเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญที่มาเติมเต็มให้กับทีมงานของประธานกรรมการ ทำให้ผมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนประสิทธิผลนั้น ต้องรอให้ประวัติศาสตร์ตัดสิน อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณบุคคลเหล่านี้ไว้ในบันทึกนี้ด้วย