posttoday

เปิดใจสาทิตย์ ผู้กำกับเวทีประชาธิปไตย ผู้ใหญ่บ้าน กปปส.

26 ธันวาคม 2556

เสียรังวัด “ผู้กำกับเวทีราชดำเนิน” ไม่น้อย จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กรณี เด็กอายุ 5 ขวบ ขึ้นปราศรัยบนเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

โดย...ทีมข่าวการเมือง

เสียรังวัด “ผู้กำกับเวทีราชดำเนิน” ไม่น้อย จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กรณี เด็กอายุ 5 ขวบ ขึ้นปราศรัยบนเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ด้วยถ้อยคำรุนแรง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ผู้ควบคุมเวทีปราศรัยของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ต้องส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ว่า

“ไม่สบายใจครับกับที่น้องใช้คำพูดที่แรงๆ บนเวที ต้องขอโทษและยอมรับในความผิดพลาดทุกประการ ทั้งที่คุมเข้มมาตลอดก็พลาดจนได้ในวันนี้”

“ไม่แก้ตัวอะไร แต่ยอมรับคำตำหนิวิจารณ์ทุกประการ และแก้ไขต่อไปครับ ขอโทษอีกครั้งครับ”

“และขออย่าไปต่อว่าเด็กเขาเลยครับ ผมขอรับคำต่อว่าทั้งหมดเอง”

สาทิตย์เปิดใจถึงบทบาทที่เขาเรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้กำกับเวที กปปส.” หรือที่กลุ่มผู้ชุมนุมขนานนามเขาเป็น “ผู้ใหญ่บ้าน” ที่เป็นมือรองของ “ลุงกำนัน” ที่ต้องรับงานหนัก จัดคิวการขึ้นพูดปราศรัย คัดเลือกการแสดง คอยดูแลให้เวทีเป็นไปอย่างเรียบร้อยตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งเขายอมรับว่าเวทีใหญ่อย่างนี้ไม่เคยทำมาก่อนเลย

“ใครจะใหญ่มาจากไหน จะมาเบ่งขอขึ้นพูด หากเนื้อหาไม่ดี ไม่ตรงกับคอนเซปต์ ผมก็ไม่ให้ขึ้น จะโกรธก็โกรธ แม้แต่กำนันสุเทพจะขึ้นปราศรัยก็ต้องถามผมก่อนว่าเวลากี่โมง สั้นหรือยาว บางครั้งผู้ใหญ่มาฝากคนมาขอให้ขึ้นไปพูด ผมก็ต้องให้มาคุยกันก่อน หากเนื้อหาไม่ได้ รุนแรง หยาบคาย ผมไม่เอา ไล่ลงหรือไม่ให้ขึ้นเลย”

สาทิตย์ บอกว่า รูปแบบของเวทีจะแบ่งเป็น 2 หลักใหญ่ๆ คือ เนื้อหาและการแสดง เนื้อหานั้นจะครอบคลุมถึงการให้ความรู้ในเรื่องที่กำลังต่อสู้ ในแต่ละวันจะประเมินว่ามวลชนกระหายข้อมูลข่าวสารอะไรบ้าง เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็จะคัดคน นักวิชาการขึ้นมาพูดให้ประชาชนได้เข้าใจ หรือเรื่องของระบอบทักษิณ ก็จะให้ความรู้เรื่องการโกงของระบอบนี้มีอะไรบ้าง มีใครที่จะพูดได้บ้าง

“ผมกับทีมงานก็จะคิดกันตลอดเกี่ยวกับเนื้อหา คัดคนขึ้นมาพูด บางคนระดับแม่เหล็กเลย อย่าง ดร.เสรี วงษ์มณฑา หรือแม้แต่ไตรรงค์ สุวรรณคีรี แต่ขณะเดียวกันก็ต้องผสมสูตรใหม่เข้าไปด้วย คือดึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ขึ้นมาพูดเช่นกัน เพราะเวทีนี้ตลอดการชุมนุมกว่า 50 วัน จะเห็นได้ว่ามีคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับเราจำนวนมาก ถือว่าเยอะที่สุดแล้ว”

การจัดสรรเวลาแต่ละช่วงวันนั้น สาทิตย์บอกว่ามีการจัดสรรอย่างเป็นระบบตลอด 24 ชั่วโมง โดยช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 09.0011.00 น.จะเป็นการพูดคุยข่าวสารเบาๆ ทั้งรายการข่าวภาษาอีสาน หรือรายการของอัญชะลี ไพรีรัก 12.00 น.ก็จะเข้าสู่เวทีอย่างสมบูรณ์ จะมีดนตรีเบาๆ สลับกับการแจ้งข่าวภายในของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งสำคัญเพราะหากมีปัญหาจะระดมขอความช่วยเหลือทันที 13.0017.00 น. จะเติมสีสันด้วยดนตรีมากขึ้น ช่วงไพรม์ไทม์คือเวลา 18.00 น. จะไม่มีดนตรีแล้ว แต่เป็นการพูดคุยให้ความรู้ โดยเหล่าแกนนำ จะมีดนตรีการแสดงอีกครั้งในเวลาประมาณ 23.00 น. ช่วงเช้ามืดก็จะมีพูดคุยธรรมะกับมวลชน

“นอกจากเนื้อหาที่เป็นเรื่องหลักแล้ว ผมจะใส่ใจเรื่องศิลปะการแสดงด้วย เพราะเวทีเราต้องควบคู่ไปกับวัฒนธรรมและดนตรี แม้แต่โขนก็นำมาแสดง เนื้อหาของบทเพลง เนื้อหาการแสดงจะต้องสอดรับ มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของมวลชน วงดนตรีที่ติดต่อมา หากเนื้อหาไม่ผ่านผมก็ไม่ให้ขึ้น แม้ว่าจะดังแค่ไหน ตั้งใจอยากมาแค่ไหน แต่เนื้อหาไม่ได้ ผมบอกไม่ทันที เพราะจะทำให้เสียรูปขบวน เสียรูปแบบการต่อสู้”

สาทิตย์ บอกว่า เวทีของเขาเหมือนกับคอนเสิร์ต ทีมงานก็มาจากบริษัทของเพื่อนที่ผ่านการจัดงานประกวดดนตรีอย่างอะคาเดมี่แฟนเทเชียมาแล้ว เขานั่งมองดูเวทีด้วยแววตาประกายแห่งความสุข และภาคภูมิใจกับผลงาน

ส่วนเรื่องที่หลายคนอยากรู้ อยากจะถาม หนีไม่พ้นเรื่อง “ค่าใช้จ่าย” สาทิตย์ไขข้อข้องใจนี้ว่า “ไม่มีปัญหาเลย บนเวทีเรื่องเงินไม่มีปัญหาเลย เพราะผมเป็นคนที่พวกพ้องเยอะ เวทีแห่งนี้มีแต่คนช่วยเหลือกัน ทำให้เวทีนี้เป็นของทุกๆ คน ค่าใช้จ่ายสำหรับเวทีตกวันละแค่หลักหมื่นบาทเท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายที่เยอะจะไปอยู่ที่ค่าอาหารที่เลี้ยงดูผู้ชุมนุม อย่างน้อยวันละ 2 ล้านกว่าบาท”

สาทิตย์ เล่าต่อว่า “อย่างเช่นทีวีขนาดใหญ่ ผมก็ไปทำข้อตกลงกับบริษัทเพื่อขอเช่ามา เขาก็บอกว่า สาทิตย์ คุณจ่ายแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งเราจ่ายให้นะ คือการมาช่วยชาติร่วมกัน หรือดอกไม้ที่นำมาประดับเวทีวันที่ 5 ธ.ค. มูลค่านับล้านบาท แต่เจ้าของก็บอกไม่คิดเงิน หากจะคิดเงินถือว่าไม่ให้เกียรติเขา แม้แต่วงดนตรีอย่างมาลีฮวนน่าค่าจ้างต่องานสูงถึง 1.7 แสนบาท แต่เขาให้เราจ่ายแค่ 1.5 หมื่นบาท เป็นค่าลูกน้องที่ยกของเท่านั้น โดยรวมคือทุกคนมาด้วยใจ เรื่องเงินค่าจ้างไม่ใช่เรื่องสำคัญ มาเพื่อชาติมันสำคัญกว่า”

สิ่งจรรโลงต่างๆ ที่สาทิตย์นำมาให้กับผู้ชุมนุม นอกจากเนื้อหาที่เข้มข้น การแสดงศิลปะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโขน หรือดนตรี แม้แต่การให้ความรู้ทางด้านศิลปะจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ควบคู่ไปกับเนื้อหาที่เข้มข้นของเหล่านักปราศรัยมีชื่อบนเวที บริบทโดยรวมสาทิตย์ย้ำว่า ก็เพื่อไม่ต้องการให้เวทีการชุมนุมทางการเมืองเป็นเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา

“เวทีเสื้อแดง แกนนำปลุกระดมมวลชนเพิ่มความเกลียดชัง สั่งให้ล่าหัว ตั้งค่าหัวอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรีขณะนั้น) สั่งให้ไปทำร้าย ไปฆ่า ไปเทเลือด เวที กปปส.จะไม่มีแบบนั้น เราจัดการชุมนุมอย่างสันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรง”

แม้ทีท่าจะดูก้าวร้าว แต่การจัดการเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาสำเร็จ สมบูรณ์ สาทิตย์ก็ต้องยอมหักหาญน้ำใจของเพื่อนๆ นักการเมืองของเขาหลายคน

“หากคุมไม่อยู่ ทุกอย่างก็จะพัง เวทีนี้เป็นหัวใจของการชุมนุมผมก็ต้องทำออกมาให้ดีที่สุด หากพังขึ้นมา รูปขบวนการชุมนุมก็จะพังตาม เวทีจะต้องเป็นศูนย์หลักของการชุมนุมจนกว่าจะได้รับชัยชนะ”