posttoday

รสนาชี้เหตุสังคมไม่ไว้ใจรัฐบาลรักษาการ

15 ธันวาคม 2556

สว.รสนาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงยิ่งลักษณ์ และประชาชน ชี้5สาเหตุที่สังคมไม่ไว้วางใจรัฐบาลรักษาการ

สว.รสนาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงยิ่งลักษณ์ และประชาชน ชี้5สาเหตุที่สังคมไม่ไว้วางใจรัฐบาลรักษาการ

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาดังนี้

จดหมายเปิดผนึกถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ และประชาชน (ฉบับที่ 5)

ตามที่ท่านได้ตัดสินใจยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยกล่าวอ้างว่าเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2กุมภาพันธ์ 2557 นั้น ได้เกิดข้อถกเถียงรอบใหม่ในสังคมไทยอย่างกว้างขวางเป็น 2แนวทางว่า จะเลือกตั้งก่อนการปฏิรูปประเทศไทย หรือเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยก่อนเลือกตั้ง

แนวทางแรกเป็นของรัฐบาลที่เดินตามพระราชกฤษฎีกาการยุบสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108(2)ที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60วัน ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งในระบอบรัฐธรรมนูญที่ปฏิบัติในสภาวการณ์ปกติ แต่ในสภาพการณ์ทางการเมืองที่คุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ การดำเนินตามแนวทางของรัฐบาลนอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังจะก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมืองรอบใหม่

แนวทางที่2 ที่เป็นเจตจำนงของมวลมหาประชาชนผ่าน กปปส. คือขอคืนอำนาจประชาธิปไตยทางตรงให้กับประชาชนเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ก่อนการเข้าสู่การเลือกตั้งตัวแทนตามปกติ โดยมีเหตุผลที่ว่า การคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อไปกาบัตรเลือกตั้งเพียง 4 นาทีแต่สูญเสียอำนาจไปตลอด 4ปี ซึ่งประชาชนไม่มั่นใจว่าจะเกิดฝันร้ายทางการเมืองซ้ำซากอีกหรือไม่

แม้รัฐบาลจะกล่าวหาว่า การเรียกร้องของกปปส. ที่จะไม่เอาการเลือกตั้งในวันที่ 2กุมภาพันธ์เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีข้อโต้แย้งอย่างหนักแน่นว่าการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป สามารถกระทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนหนึ่งของปวงชนชาวไทยที่ออกมาแสดงตน ในนามมวลมหาประชาชนในวันที่ 24พฤศจิกายน และวันที่ 9 ธันวาคม 2556 มีเจตจำนงอันแน่วแน่ในการใช้อำนาจทางตรงในการพัฒนา และสร้างเสถียรภาพให้กับระบอบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสองนครา ที่เป็นภาคสังคมเมืองและสังคมชนบท อันเป็นต้นเหตุความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองมาหลายทศวรรษจนกระทั่งปรากฎชัดในปัจจุบัน

ในทางกลับกันประชาชนเห็นว่าการที่รัฐบาลเร่งรัดการเข้าสู่การเลือกตั้งตามการตีความอย่างแคบในรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงกลอุบายในการคืนอำนาจทางการเมืองให้กับผู้แทนซึ่งพิสูจน์มาครั้งแล้วครั้งเล่าว่าสร้างความล้มเหลวให้กับระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด เป็นวงจรสลับกันไปมาระหว่างการคอรัปชันของนักการเมือง และการรัฐประหาร

ประชาชนจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ

ปัญหาใจกลางที่ทำให้ประชาชนจำนวนมหาศาลลุกขึ้นมาทวงอำนาจทางตรงคือความไม่พอใจสิ่งที่เรียกว่า " ระบอบทักษิณ " ซึ่งหมายถึงการผูกขาดกินรวบประเทศไทยโดยใช้การคอรัปชันเชิงระบบผ่านนโยบายประชานิยมที่สร้างฐานการตลาดทางการเมืองของตน โดยไม่คำนึงถึงการพังทะลายของระบบเศรษฐกิจและความล้มเหลวทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองอันใหญ่โตมโหฬารที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ 2พรรค แต่เป็นเรื่องของความขัดแย้งของประชาชน กับ ระบบคอรัปชันที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมการเมืองไทย และถูกขยายให้ใหญ่โตขึ้นด้วยการเมืองเครือญาติของ "ระบอบทักษิณ"

แนวทางของรัฐบาลที่จะให้มีการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูปจะไม่ได้รับการตอบสนองจากประชาชน หากตัวแทนของ "ระบอบทักษิณ" ยังคงอยู่ทั้งเบื้องหน้า ( เครือญาติของตระกูลชินวัตร) และเบื้องหลัง (พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร )

เหตุผลที่ประชาชนไม่ไว้วางใจให้รัฐบาลรักษาการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในการจัดการเลือกตั้ง และเป็นเจ้าภาพจัดเวทีปฏิรูปประเทศไทย คือ

1) พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร ไม่ให้ความเคารพต่อระบบตุลาการของไทย เห็นได้จากการหนีคดีที่ตัดสินโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และความพยายามที่จะผลักดันให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมคดีของตนเอง (ทั้งที่ตัดสินเป็นที่สุดแล้ว และที่อยู่ในระหว่างการพักคดีเพราะ พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตรหนีคดี) พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ใช่วิสัยของนักการเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบุรุษ และวีรสตรีอย่าง รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา, และ ท่านอองซาน ซูจี ที่พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร มักยกตนเทียบชั้นกับปูชนียบุคคลทางการเมืองเหล่านี้

2) พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร ไม่ทำตามสัญญาประชาคมในนโยบายสำคัญที่เคยหาเสียง เช่น เคยสัญญาว่าถ้าได้เป็นรัฐบาล จะฉีกกฎหมายขายชาติ11ฉบับอันเป็นกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาล ก็เตรียมการแปรรูป "ปตท" ทันทีภายใน3เดือนแรกที่เข้ามาเป็นรัฐบาล และขายหุ้นปตท หมดภายใน 1นาที 17 วินาที และมีความพยายามจะแปรรูป กฟผ.ต่อไปอีก ทั้งที่เคยทำสัญญา 3ฝ่าย (รัฐบาล , บอร์ดกฟผ.และ สหภาพแรงงานกฟผ.) ว่าจะไม่แปรรูกฟผ.อย่างเด็ดขาด
โชคดีที่ประชาชนนำคดีฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลสั่งเพิกถอนการแปรรูป และเดชะบุญที่รัฐบาลทักษิณหมดอำนาจไปก่อน

3) รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เช่นกันที่ หาเสียงว่าถ้าได้เป็นรัฐบาล จะกระชากค่าครองชีพลงมา และยกเลิกกองทุนน้ำมันเพื่อให้น้ำมันมีราคาถูก เพราะเป็นต้นทุนของสินค้าทุกอย่าง แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาลก็มีการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันอยู่ไม่เกิน3เดือน จากนั้นก็มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น และขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นอีก เป็นเหตุให้ข้าวของแพงและค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนถ้วนหน้า โดยเฉพาะพี่น้องคนยากจนยิ่งเดือดร้อนหนักที่สุด

4) รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรหาเสียงว่าจะสร้างความปรองดอง แก้ไขไม่แก้แค้น คืนความสุขให้ประชาชน แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลก็มุ่งเน้นการทำเพื่อประโยชน์ของครอบครัวตัวเองเป็นหลัก ด้วยการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยในสภาผู้แทนราษฎรในยามวิกาล ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมความผิดทั้งปวงของพ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่มกราคม 2547 - 8สิงหาคม 2556 นอกจากการนิรโทษกรรมความผิดทั้งปวงของ พ.ต.ท ทักษิณแล้ว ยังจะได้เงินที่ถูกยึดจำนวน 46,000 ล้านบาทคืนพร้อมดอกเบี้ย 7.50% ต่อปี

ประชาชนได้ให้โอกาสรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรมาเป็นเวลากว่า 2ปีในการบริหารบ้านเมืองและอดทนต่อการดำเนินนโยบายประชานิยมที่มีการทุจริตอย่างมโหฬาร และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศจนแทบย่อยยับ และฟางเส้นสุดท้ายของความอดทนของมวลมหาประชาชนก็คือ กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยที่ขัดทั้งหลักนิติรัฐ และนิติธรรม ตลอดจนศีลธรรมอันดีของประชาชน

5) ประชาชนไม่ไว้ใจแนวทางการปฏิรูปของรัฐบาลภายใต้ " ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ " ดังจะเห็นได้จากแนวทางการปฏิรูปที่พรรครัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้ว กล่าวคือ การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ รัฐบาลอ้างว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญของคมช.ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่แนวทางการแก้ไขจริงกลับเป็นการเพิ่มอำนาจเบ็ดเสร็จให้นักการเมือง บั่นทอนอำนาจการตรวจสอบของประชาชน องค์กรศาล และองค์กรอิสระ รวมทั้งองค์กรวุฒิสภา เห็นได้จากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว เป็นไปเพื่อควบรวมอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติให้อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นอกจากนี้ การให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร ที่จะยกเลิกและแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 67 มาตรา 68 และ มาตรา 190 อันเป็นการสะท้อนทัศนะการรวมศูนย์อำนาจ ลดทอนสิทธิเสรีภาพและอำนาจการตรวจสอบของประชาชน ซึ่งสวนทางกับแนวคิดการกระจายอำนาจในระบอบประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ การปฏิรูปประเทศไทยของพ.ต.ท.ทักษิณ หมายถึงการแปรรูปสาธารณสมบัติของประชาชนให้เป็นสมบัติของกลุ่มธุรกิจการเมืองแบบผูกขาด

6)การปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของส.ว ทำให้ประชาชนหมดความไว้วางใจในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์
ถึงขั้นไม่ยอมให้ทำหน้าที่รักษาการเพื่อจัดการเลือกตั้ง หรือเป็นเจ้าภาพจัดเวทีปฏิรูป

เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การเผชิญหน้าดังกล่าว ขอเสนอทางออกจากความรุนแรงดังนี้

1) เรียกร้องจิตสำนึกเสรีของพ.ต.ท ทักษิณ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในการตัดสินใจถอยออกจากการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองของประเทศไทย ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ซึ่งเป็นโอกาสที่จะมีการเจรจาทุกฝ่ายเพื่อให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2กุมภาพันธ์ 2557 อย่างเรียบร้อยและไม่เกิดเหตุรุนแรง

2) ปฏิรูประบบพรรคการเมืองไทยให้เป็นพรรคของมหาชนอย่างแท้จริง ไม่เป็นพรรคของตระกูลหรือกลุ่มเครือญาติของนักการเมืองอีกต่อไป รวมทั้งต้องไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของนายทุนที่สนับสนุนพรรค เพื่อให้ประชาชนมีความศรัทธาต่อระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

3) ถึงเวลาที่พรรคการเมืองต้องดำเนินนโยบายหาเสียงโดยใช้แนวทางการปฏิรูปด้านต่างๆที่ประชาชนเรียกร้องต้องการ ซึ่งไปพ้นจากนโยบายประชานิยมแบบลดแลกแจกแถม และการซื้อเสียงเข้าสู่ระบบการเมือง

4) กปปส. ต้องไม่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองในองค์กรที่เรียกว่า " สภาประชาชน " และ " สมัชชาปฏิรูปของมวลมหาประชาชน " และต้องเปิดโอกาสให้มวลชนทุกภาคส่วน ทุกค่ายความคิดเข้ามามีส่วนร่วมจนเกิดฉันทมติในการปฏิรูปร่วมกัน แกนนำของกปปส.รวมทั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันควรพิจารณาตัวเองเว้นวรรคตำแหน่งทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เพื่อไม่ถูกครหาว่าการเคลื่อนไหวการเมืองนอกสภาเพื่อมุ่งหวังความได้เปรียบทางการเมืองในระบบ

5) หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองทุกพรรคควรถือเป็นวาระแห่งชาติในการปฏิรูปประเทศโดยเสนอพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง " สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย" เพื่อนำเสนอการปฏิรูปเชิงประเด็น ระดับพื้นที่ และระดับประเทศที่ต้องนำไปสู่การนำเสนอกฎหมายใหม่เพื่อบังคับใช้ให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรมในระดับที่น่าพอใจ

ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นจริงได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจอิสระในการตัดสินใจของพ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ

ขอฝากคำสั่งเสียของท่านประเสริฐ นาสกุล อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญที่เคยกล่าวไว้ว่า

" ปัญหาของบ้านเมืองบางอย่าง อาจแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองเลย เพียงแต่ผู้นำของประเทศต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี โดยการ คิด พูด และทำตรงกัน และชี้นำประชาชนในชาติว่า ปัญหาของชาตินั้นอยู่ที่ทุกคนจะต้องร่วมใจกันแก้ไข ด้วยการลด ละ และเลิก "ความเห็นแก่ตัว" เป็นอันดับแรก ยิ่งทำได้มากและรวดเร็วเท่าใด จะสามารถนำพาชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติสู่ความเป็นปกติรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น หากไม่แก้ไขความเห็นแก่ตัวก่อนแล้ว เห็นว่าหมดหวัง เพราะไม่มีทางอื่นใดที่จะแก้ไขปัญหาของชาติในเวลานี้ได้ "

อย่างไรก็ตามไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนในฐานะประชาชนมีความฝันร่วมกันว่า จะต้องทำการเมืองไทย และทำสังคมไทยให้ดีกว่าวันนี้ให้จงได้

ด้วยจิตคารวะ
รสนา โตสิตระกูล
สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ
14 ธันวาคม 2556