posttoday

"มีชัย"ย้ำครม.รักษาการลาออกได้ไม่มีกม.บังคับ

12 ธันวาคม 2556

"มีชัย"ระบุ นายกฯ-คณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกได้ไม่มีกม.ห้าม จากนั้นใช้องค์กรอำนาจตั้งครม.ขึ้นได้ตามมาตรา7

"มีชัย"ระบุ นายกฯ-คณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกได้ไม่มีกม.ห้าม จากนั้นใช้องค์กรอำนาจตั้งครม.ขึ้นได้ตามมาตรา7

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ตอบคำถามในเว็บไซต์"มีชัยดอทคอม" เกี่ยวกับข้อสงสัยทางกฎหมายว่า นายกรัฐมนตรีลาออกในระหว่างรักษาการณ์ได้ และหากเป็นเช่นนั้น ก็ใช้องค์กรอำนาจที่มีตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศตามาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญได้ โดยมีรายละเอียดของคำถามและคำตอบดังนี้

คำถาม - เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 คืออะไร - มาตรา 7 จะใช้ได้เมื่อได้ และ ขอบเขตการใช้อยู่ที่สถานการณ์ หรือบริบทแบบไหน พระราชดำรัส 25 เม.ย.2549 จะเป็นบรรทัดฐานของการใช้หรือไม่ใช้ มาตรา 7 ไหม

คำตอบ - มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้สำหรับกรณีที่เกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ไม่มีบทบัญญัติเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าจะให้ทำอย่างไร ก็ให้ทำไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น ในกรณีมีการยุบสภา รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติรองรับไว้ว่า จะต้องทำอย่างไรกันต่อไป กล่าวคือ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งให้อยู่รักษาการต่อไป ก็ต้องรักษาการต่อไป จะไปใช้มาตรา 7 ก็ไม่ได้ เพราะเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ แต่ถ้านายกรัฐมนตรีเกิดตายไป หรือง่อยเปลี้ยเสียขา หรือเบื่อขี้หน้าเต็มทีไม่อยากอยู่รักษาการต่อไป ลาออกเสียดื้อ ๆ ก็มีกฎหมายรองรับว่า รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งก็ขึ้นรักษาการต่อไป อย่างนี้ก็นำมาตรา 7 มาใช้บังคับไม่ได้อีก

แต่ถ้านายกรัฐมนตรี ก็ตาย หรือง่อยเปลี้ยเสียขา หรือเบื่อขี้หน้าขึ้นมาพร้อม ๆ กับรัฐมนตรีคนอื่น ๆ จนไม่มีใครเหลืออยู่ สภาผู้แทนก็ไม่มีแล้ว เพราะยุบไปแล้ว อย่างนี้ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราใดบอกไว้ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บ้านเมืองจะต้องมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องหาทางตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศให้จงได้ เหลือองค์กรอำนาจอะไร ก็ต้องใช้องค์กรอำนาจนั้นเท่าที่มีอยู่เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้

ที่มีคนบอกว่าในระหว่างรักษาการนั้นลาออกไม่ได้น่ะ น่าจะเข้าใจผิดอะไรบางอย่าง

การลาออกเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ถ้าไม่อยากอยู่ในตำแหน่งอะไร ก็ไม่มีใครบังคับให้ต้องอยู่ต่อไปได้ ขนาดคนเป็นข้าราชการตำแหน่งเล็ก ๆ น้อย ๆ วันดีคืนดีไม่อยากเป็นข้าราชการต่อไปจะลาออกเสียเมื่อไรก็ได้ อย่างมากที่ทางราชการจะทำได้ ก็คือ การยับยั้ง ซึ่งก็ทำได้เพียงชั่วคราวไม่เกินสามเดือน หลังจากนั้นก็ต้องยอมให้เขาออกไป แต่ตำแหน่งรัฐมนตรีไม่มีกฎหมายอะไรบังคับไว้ว่าใครจะยับยั้งได้ บทบัญญัติที่ให้รักษาการกันอยู่ต่อไปน่ะ ใช้เฉพาะกรณีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเท่านั้น ไม่ได้ใช้กับกรณีที่ต่างคนต่างทยอยลาออกหรือล้มหายตายจากไป อย่าว่าแต่เรื่องลาออกเลย ถ้าในระหว่างรักษาการ เกิดมีรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งทำทุจริตคิดมิชอบเสียจนรับต่อไปไม่ได้ หรือเกิดเบื่อขี้หน้าขึ้นมานายกฯก็ยังมีอำนาจกราบบังคมทูลเพื่อเอาออกจากตำแหน่งเสียได้ มิใช่หรือ

ก็ทีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 126 ชัด ๆ ว่า "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ" ยังมีรัฐมนตรีออกมาแถลงอย่างโจ่งแจ้งว่าไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ แล้วพอมาตรา181 บัญญัติว่า "คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป" ถึงกับจะยอมผูกมัดจนแปลไปว่าลาออกก็ไม่ได้ทีเดียวหรือ