"จาตุรนต์"กลับลำเห็นด้วยทปอ.ยุบสภาแบบมีเงื่อนไข ตั้งรัฐบาลรักษาการมีข้อแม้ต้องอยู่ในกรอบ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับตัวแทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อาทิ น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะรองประธานทปอ. นายชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร น.พ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ถึงสถานการณ์ทางการเมือง ว่า รัฐบาลสนใจในข้อเสนอของทปอ.ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของนายกฯที่ต้องการรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขวิกฤตการเมืองในขณะนี้
การหารือครั้งนี้มีอธิการบดีและรองอธิการบดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยได้แจ้งให้ทุกคนทราบว่า รัฐบาลยินดีรับฟังข้อเสนอต่างๆ และขอให้ทปอ.อธิการบดี คิดข้อเสนอเพิ่มเติม รวมทั้งอยากให้ช่วยหาทางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุม โดยสอบถามอธิการบดีถึงสาระของแถลงการณ์ทปอ.ที่เป็นสาระสำคัญ และได้ขอให้ช่วยคิดเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นข้อเสนอสำคัญคือ
1.ให้มีรัฐบาลรักษาการที่เป็นที่ยอมรับมาบริหารประเทศ ระหว่างหรือหลังจากการยุบสภา โดยขอให้ช่วยคิดว่าจะได้รัฐบาลรักษาการตามรัฐธรรมนูญได้อย่างไร และจะมีองค์ประกอบอย่างไรจึงจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
2.การตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางจากทุกภาคส่วนเพื่อปฏิรูปประเทศไทยในมิติต่างๆ คณะกรรมการนี้จะมีที่มาอย่างไร มีกระบวนการสรรหาและจะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร รวมทั้งข้อเสนอจะมีสถานะทางกฎหมายในระดับใด
3.การขอให้ทปอ.ช่วยหาทางให้เกิดการเจรจา เนื่องจากในข้อเสนอตามแถลงการณ์และที่อธิการได้อธิบาย ข้อเสนอเหล่านี้จะทำให้เกิดผลได้จะต้องเจรจาหารือกันระหว่างรัฐบาลและผู้ชุมนุม ทั้งก่อนที่จะยุบสภาและระหว่างการยุบสภา เพราะฉะนั้น ข้อเสนอต่างๆ จึงเป็นหลักการที่ต้อการรายละเอียดจากการหารือและเห็นพ้องต้องกันของคู่เจรจา
“ปัญหาสำคัญในขณะนี้คือการเจรจายังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่เกิดการเห็นพ้องต้องกันว่า จะเจรจาของทั้งสองฝ่าย จึงรบกวนท่านอธิการต่างๆ ช่วยคิดต่อ ผมในฐานะรมว.ศธ.เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ดีและจะเป็นประโยชน์ในสาระสำคัญอาจจะต้องทำให้มีความชัดเจน ที่สำคัญคือข้อเสนอในความเห็นผมนั้น ขณะนี้รัฐบาลมีหลักว่าข้อเสนอใดๆ ที่จะทำจะต้องเป็นไปในกรอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนรายละเอียดต้องไปให้อธิการและทปอ.คิดว่าจะให้เกิดเป็นจริงได้อย่างไร ทั้งนี้ ผมจะรวบรวบความเห็นในวันนี้เสนอรัฐบาลต่อไป”นายจาตุรนต์ กล่าว
ด้าน น.พ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ทางรมว.ศธ.อยากรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะให้แนวทางความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่จะทำให้เกิดความสงบขึ้น รมว.ศธ.ต้องการให้มหาวิทยาลัยมีอิสระทางความคิด วันนี้ท่านจึงไม่ได้สั่งการให้มหาวิทยาลัยมา เหมือนที่เรียกข้าราชการมามอบนโยบาย การหารือในวันนี้นำแถลงการณ์ของทปอ.ฉบับที่ 3 ที่ออกเมื่อวันที่28 พ.ย. และฉบับที่ 4 ที่ออกเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา ให้รมว.ศธ.ได้ดูในรายละเอียดและเห็นร่วมกันในหลักการใหญ่ๆ คือ
1.เห็นร่วมกันว่า ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง และเกิดการเสียเลือดเนื้อในประเทศไทย
2.เห็นด้วยในหลักการว่า น่าจะมีการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนแบบมีเงื่อนไขก่อนจะยุบสภา ที่ทุกฝ่ายที่เห็นต่างควรจะมาพูดคุยกันว่าจะยุบสภาแล้วมีขั้นตอน มีระบบต่อไปอย่างไร
3. เมื่อยุบสภาแล้วรัฐบาลที่จะมารักษาการ ควรจะเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย อย่างน้อยก็ฝ่ายที่เห็นต่างในขณะนี้ แล้วมาพูดคุยกันก่อนที่จะยุบสภา แนวทางนั้นควรอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเชื่อว่าทุกฝ่ายมีนักวิชาการที่มีความสามารถ ไปดูแง่มุมของกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ช่องทางที่อยากให้เกิดขึ้นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และในมุมที่เห็นต่างว่าจะทำได้หรือไม่นั้น การพูดคุยน่าจะได้ข้อสรุป
4.อยากให้แต่งตั้งคณะทำงานทำการสรุปเรื่องสำคัญๆ ในระหว่างยุบสภาเสร็จแล้ว ซึ่งมีเวลาก่อนเลือกตั้ง 60 วัน คณะกรรมการชุดนี้น่าจะมาจากสัดส่วนหรือองค์ประกอบที่ตกลงกันได้ก่อนที่จะมีการประกาศยุบสภา และคณะกรรมการชุดนี้ก็เริ่มทำงานนับตั้งแต่มีการยุบสภาและมีครม.รักษาการ เพื่อตกลงในหลักการสำคัญที่คาดว่าน่าจะมีปัญหาหลังจากเลือกตั้งเสร็จ 4-5 เรื่องมาตกลงกัน เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาตรา 190 หรือ พ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท โดยจะหารือในหลักการไม่กระทบเนื้อหา และกรรมการชุดนี้ไม่ได้ทำการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ในช่วงเวลา 60 วัน
5.มีการพูดคุยในหลักการว่า จะทำอย่างไรให้ฝ่ายที่เห็นต่างเริ่มเข้ามาสู่การเจรจา มีการเรียกร้องจาก ทปอ.ในหลักการที่จะยังไม่คุยกัน แสดงความจริงใจที่เป็นรูปธรรม ซึ่งต้องไปหารือว่ามีอะไรบ้าง เมื่อสองฝ่ายได้เสนอความจริงใจมาแล้ว ก็เริ่มพูดคุยกันตามกรอบการยุบสภาแบบมีเงื่อนไข และมีรัฐบาลรักษาการที่ได้รับการยอมรับและมีคณะทำงานช่วง 60 วันก่อนเลือกตั้ง และน่าจะมีสัญญาประชาคมก่อนเลือกตั้งว่า ทุกฝ่ายโดยเฉพาะนักการเมืองจะยอมรับผลการเลือกตั้ง เพราะตกลงกันก่อนแล้วว่าจะใช้หลักเกณฑ์เช่นนี้
“ที่ประชุมไม่ได้ให้ทปอ.เป็นคนกลาง แต่จะไปประชุมกันต่อ และจะเสนอแนวทางและความคิดเห็น เพราะ ทปอ.ไม่ควรผูกขาดเป็นผู้ประสานงาน ควรจะให้ภาคส่วนอื่นๆ ที่อยากเข้ามาประสาน เช่น เอกชน ประชาสังคม แต่วันนี้เราประชุมแค่ทปอ.ซึ่งเรายินดี แต่เราไม่คิดว่าจะมีเราเพียงหน่วยงานเดียว ต้องดึงส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย”น.พ.เฉลิมชัย กล่าว
"จาตุรนต์"ถามกกต.แบบนี้ก็ได้เหรอ? หลังมีป้ายหนุนบิ๊กตู่โผล่
วันที่ 05 ธ.ค. 2561
จาตุรนต์ จวก กกต.แบ่งเขต อัปยศลั่นขอหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ
วันที่ 30 พ.ย. 2561
ไทยรักษาชาติตั้ง "จาตุรนต์" นั่งประธานยุทธศาสตร์พรรค
วันที่ 27 พ.ย. 2561
นี่หรือการปฏิรูป! จาตุรนต์ ถาม บิ๊กตู่ หลังนักการเมืองแต่ละพรรคเพิ่มและลด
วันที่ 26 พ.ย. 2561
"จาตุรนต์-ณัฐวุฒิ"นำทีมซบ"ไทยรักษาชาติ"ปัดขัดแย้งเพื่อไทย
วันที่ 19 พ.ย. 2561