posttoday

"ปู"ยันไม่คิดโกงอัดฝ่ายค้านจินตนาการใส่ร้าย

28 พฤศจิกายน 2556

ยิ่งลักษณ์ ยันต่อสภาฯไม่คิดทำทุจริต อัดปชป.จินตนาการสร้างข้อหาใส่ร้าย ด้าน ‘ฝ่ายค้าน’ สรุปศึกซักฟอก เหน็บมีครม.ชุดเดียวแต่มีนายกฯ 3 คน นัดลงมติก่อนปิดฉาก 28 พ.ย.9.30น.

ยิ่งลักษณ์ ยันต่อสภาฯไม่คิดทำทุจริต อัดปชป.จินตนาการสร้างข้อหาใส่ร้าย ด้าน ‘ฝ่ายค้าน’ สรุปศึกซักฟอก เหน็บมีครม.ชุดเดียวแต่มีนายกฯ 3 คน นัดลงมติก่อนปิดฉาก 28 พ.ย.9.30น.

เมื่อวันที่ 27 พ.ย.เวลา 21.40น.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้กล่าวสรุปชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า 2 วันที่ผ่านมาถือว่าเป็นวันสำคัญ เป็นอีกครั้งที่รัฐสภาแห่งนี้ ได้มีโอกาสได้ตรวจสอบการทำงาน ถือว่าเป็นการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ในโอกาสนี้ขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างทุมเท ตลอด 2 วันเต็มๆในการอภิปรายประเด็นต่างๆ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เชื่อว่าได้ทำหน้าที่ชี้แจงในประเด็นครอบคลุมที่สมาชิกสงสัยไปแล้ว  แต่ในระหว่างการอภิปรายก็มีหลายประเด็นนอกประเด็น และการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปไม่ได้ที่นายกฯจะลอยตัวเหนือปัญหา เพราะหน้าที่สำคัญของผู้บริหารคือการตัดสินใจและไม่ได้ลอยตัวเหนือปัญหาแต่อย่างใด รัฐบาลเน้นการทำงานแบบบูรณาการ รูปแบบคณะบุคคลมีขั้นตอนระดับนโยบายและปฏิบัติ เราให้ผู้ที่มีความรู้ผู้เชี่ยวชาญทำงานให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่

"สิ่งที่ผู้อภิปรายในประเด็นส่วนตัวหรือต่างๆนานา มีประกอบการด้วยการจินตนาการ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นตามที่กล่าวหา ทั้งในเรื่องจงใจวางแผนต่างๆเพื่อให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น เรามีการปฏิบัติตาม ป.ป.ช. เน้นยำให้มีการตรวจสอบทุกนโยบาย หากพบมีการกระทำความผิดต้องลงโทษตามขั้นตอน ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ถือนโยบายนี้จะทำผิดเสียเอง” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีนโยบายจะพัฒนาประเทศผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมวงเงิน 2 ล้านล้านบาท แต่การดำเนินการนั้นจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยยืนยันจะปฏิบัติตามระเบียบพัสดุอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีกลไกการตรวจสอบ ส่วนที่กล่าวหาได้หลอกพี่น้องชาวหนองคายก็ไม่จริง เพราะรถไฟฟ้าความเร็วสูงถูกบรรจุไว้แล้วในร่างพ.ร.บ.กู้เงิน

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับโครงการรับจำนำข้าวจะยังไม่มีการยกเลิกเพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อชาวนา และมั่นใจไม่มีการทุจริตในระดับนโยบายแต่อย่างใดโดยได้ตรวจสอบอย่างเคร่งครัด และหากพบก็จะลงโทษ ส่วนข้อเสนอต่างๆที่สร้างสรรค์ก็จะนำไปศึกษา อีกทั้งขอยืนยันว่าสภานี้เป็นหนึ่งในเสาหลักที่จะได้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย      

ต่อมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้อภิปรายสรุปการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า สาเหตุที่ต้องเปิดอภิปรายครั้งนี้เพราะสภาพของประเทศตอนนี้มีนายกฯก็เหมือนไม่มีหรือถ้าคิดว่ามีนายกฯก็มีนายกฯหลายคนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมากกว่ากัมพูชาในอดีต ทั้งนี้คิดว่าประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 3 คน ได้แก่ คนที่1อยู่ต้นน้ำคอยกดปุ่มสั่งการอยู่เมืองนอก คนที่ 2 อยู่กลางน้ำที่อยู่ตรงนี้และคอยชิ่งหนีปัญหา และคนที่ 3 ปลายน้ำคอยอ้าปากรับน้ำอิ่มหมีพลีมัน แต่คนไทยกลับผอมลงเพราะหนี้เพิ่มขึ้น

"ผมเชื่อครับว่ามีคณะรัฐมนตรีเพียงคณะเดียวแต่มีนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน จะมีบ้างที่รัฐมนตรีบางคนที่มาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี แต่อีกจำนวนมากนำเข้ามาจากต่างประเทศ จนคิดว่าควรจะส่งออกรัฐมนตรีบ้าง" นายจุรินทร์ กล่าว

ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าว่า นายกฯควรรับผิดชอบต่อประชาชนที่ได้หาเสียง ควรรับผิดชอบกับรัฐสภาเพราะมีภาระต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนเข้ารับตำแหน่ง และควรบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ความรับผิดชอบต่อคำปฎิญาณที่ถวายต่อพระมหากษัตริย์พร้อมกับควรมีจริยธรรมโดยมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี 

"2ปีที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีสอบตกวิชาสภา เพราะมีกระบวนการไม่ให้นายกฯมาสภาในทุกวันพฤหัสบดีเพื่อตอบกระทู้ของสส. ทั้งหมดมี125กระทู้แต่นายกรัฐมนตรีมาตอบเพียง 2 กระทู้ นอกจากจะสอบไม่ผ่านแล้วยังจะขอดูสอบก่อนด้วยซ้ำจากการขอข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อน และแถมยังไม่ลงคะแนนเห็นชอบในกฎหมายสำคัญอย่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี" นายจุรินทร์ กล่าว 

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า การบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวทุกกรณี ปีแรกนายกฯถูกถอดถอน 3 เรื่อง ได้แก่ การแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม การทำผิดพระราชกำหนดกู้เงินบริหารจัดการน้ำ3.5แสนล้านบาทหลังจากศาลปกครองมีคำพิพากษาว่าต้องสอบความเห็นของประชาชนก่อนการก่อสร้างโครงการน้ำ และ การไม่สั่งการให้หน่วยงานราชการประกาศราคากลางและวิธีคิดราคากลางเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง

"ต่อมานายกรัฐมนตรียังบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการหลอกประชาชนด้วยการบอกว่าจะสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย ทั้งที่ในร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมวงเงิน 2 ล้านล้านบาทไม่ได้กำหนดเอาไว้ เพราะเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะสิ้นสุดแค่จังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น และที่สำคัญยังพบหลักฐานว่ามีการลงคะแนนแทนกันของสส.ในระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย" นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า นายกฯเคยสัญญาว่าจะแก้ไขไม่แก้แค้น นายกฯทำจริง คือ แก้ไข แต่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้แค้นด้วยการใช้กลไกรัฐอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)เป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีเงินบริจาคพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)มีความเห็นก่อนหน้านี้ว่าไม่มีความผิด เช่นเดียวกับการเคยบอกว่าจะไม่ทำอะไรเพื่อคนคนเดียว แต่ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์แล้ว คือ นายกฯโกหกและไม่ควรเป็นนายกฯอีกต่อไป เพราะมีการพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรม

"นายกฯอาจคิดว่าท่านมี 300 เสียง และต่อให้พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคถอนตัวท่านก็ยังอยู่ต่อไปได้ ทำให้คิดว่ามี 15 ล้านเสียงจะทำอะไรก็ได้ กล้าใช้เสียงข้างมากเพื่อประโยชน์ของตัวเองและคนในครอบครัว ปัญหาของประเทศลุกลามและยากต่อกการแก้ไขปัญหาโดยมีนายกฯเป็นตัวปัญหา ถ้านายกฯเห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองควรแสดงความรับผิดชอบด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่ถ้ายังลังเลอยู่อาจจะเสียยิ่งกว่าอำนาจก็ได้ นายกฯอาจหนีสภาได้แต่ไม่อาจหนีกกฎแห่งกรรมไปได้" นายจุรินทร์ กล่าว

จากนั้นนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯได้สั่งปิดประชุมในเวลา 23.40น.และนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 28 พ.ย.เวลา 9.30น.เพื่อให้สส.ลงมติว่าจะไว้วางใจให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่

สำหรับการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นรัฐธรรมนูญมาตรา 158 กำหนดให้ผู้ที่ถูกอภิปรายจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงไว้วางใจมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสภาฯ ซึ่งขณะนี้มีสส.ที่สามารถลงมติได้จำนวน 480 คนจากสส.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสภาฯทั้งหมด 492 คน ส่วนสส.จำนวน 12 คนที่หายไปนั้นเป็นสส.ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งไม่สามารถลงมติได้เพราะจะขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้รัฐมนตรีมีผลประโยชน์ทับซ้อน

โดยสส.ที่มีสถานะเป็นรัฐมนตรี ได้แก่ 1.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯและรมว.กลาโหม (สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย) 2.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ (สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย) 3.นายพ้อง ชีวานันท์ รมช.คมนาคม (สส.อยุธยา พรรคเพื่อไทย) 4.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สส.กทม.พรรคเพื่อไทย) 5.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ (สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย) 6.นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย (สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย)

7.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน (สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย) 8.นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย) 9.นายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข (สส.สระแก้ว พรรคเพื่อไทย) 10.นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง (สส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย) 11.นายประเสริฐ บุญชัยสุข (สส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา) และ12.นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ (สส.พิจิตร พรรคชาติไทยพัฒนา)