posttoday

ห่วงยึดสำนักงบฯทำเบิกจ่ายล่าช้าฉุดศก.

27 พฤศจิกายน 2556

"เอกนิติ" ห่วงม็อบยึดสำนักงบประมาณกระทบเบิกจ่าย ฉุดเศรษฐกิจไตรมาส 4 โตต่ำ ด้านนักวิเคราะห์ชี้การเมืองยืดเยื้อซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย

"เอกนิติ" ห่วงม็อบยึดสำนักงบประมาณกระทบเบิกจ่าย ฉุดเศรษฐกิจไตรมาส 4 โตต่ำ ด้านนักวิเคราะห์ชี้การเมืองยืดเยื้อซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย


นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในงานเสวนา “เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?” ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน การท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นนักลงทุน และการเบิกจ่ายภาครัฐ  โดยหากการชุมนุมกระทบการทำหน้าที่ของส่วนราชการเกิน 1-2 สัปดาห์ จะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี ไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 27-28% ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 โตต่ำกว่าไตรมาส 3 ทำให้ทั้งปีจีดีพีขยายตัวเพียง 3% จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.7% ซึ่งสศค.เตรียมปรับประมาณเศรษฐกิจของปี 2556 ใหม่ในเดือนหน้า

นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ความเสี่ยงทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ อาจทำให้ชะลอการเข้ามาลงทุนในไทย เพราะปัญหาความขัดแย้งในประเทศมีต่อเนื่องมาถึง 8-9 ปี ขณะเดียวกันปัญหาการเมืองอาจจะทำให้การลงทุนในประเทศตามนโยบายของรัฐ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ล่าช้าออกไป  อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณต่ำกว่าเป้าหมาย  ดังนั้นหากความขัดแย้งทางเมืองรุนแรงขึ้น จะส่งผลต่อแผนการลงทุนทั้งของนักลงทุนไทยและต่างชาติชะลอออกไปแน่นอน ซึ่งจะทำให้การบริโภคในประเทศขยายตัวลดลงตามไปด้วย

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวที่ขณะนี้มี 16-17 ประเทศประกาศเตือนนักท่องเที่ยวมาไทย ซึ่งหากการท่องเที่ยวถูกกระทบ เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จะหมดไป เพราะการบริโภค การลงทุน และการส่งออกแทบไม่เติบโต อาจทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 เติบโตได้ 1.9% และเศรษฐกิจทั้งปีโตต่ำกว่า 3% นอกจากนี้ยังส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจไทยปี 2557 เติบโตเพียง 3-4%

ขณะที่ ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การชุมนุม ส่งผลให้มีเงินต่างชาติไหลออก กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 32.09 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยเป็นการอ่อนค่าลง 1 บาท ในระยะ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันต่อการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. วันพรุ่งนี้ (27 พ.ย.) เพราะหากกนง.ลดดอกเบี้ยลง จะทำให้เกิดเงินทุนไหลออกมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเชื่อว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50%