posttoday

ทูตวีรชัยรับบอกไม่ได้ว่าไทยได้หรือเสีย

13 พฤศจิกายน 2556

"วีรชัย" ยอมรับ บอกไม่ได้ไทยได้หรือเสีย ต้องรอจนกว่าเจรจาเสร็จ แต่ไทยได้ประโยชน์เพราะกัมพูชาอ้างแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนไม่ได้

"วีรชัย" ยอมรับ บอกไม่ได้ไทยได้หรือเสีย ต้องรอจนกว่าเจรจาเสร็จ แต่ไทยได้ประโยชน์เพราะกัมพูชาอ้างแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนไม่ได้

การประชุมรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับฟังข้อเสนอแนะจากสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร ในช่วงเย็นเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา อภิปรายว่า เมื่อปี 2505 เมื่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลกตัดสินไทยแพ้ทำให้เสียพื้นที่ จำนวน 153 ไร่ คนไทยเสียใจทั้งประเทศและบอกว่าศาลพระภูมิ น่าเชื่อถือว่าศาลโลก มาถึงคำพิพากษาวันนี้กลับบอกว่าเป็นผลดีกลับไทยแต่กลับจะเสียดินแดนเล็กและแคบๆ ซึ่งเป็นพื้นที่มากกว่าเดิม

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า อยากถามว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยเฉพาะการจัดกำลังทหารตามแนวพื้นที่พิพาท นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐบาลรับปากว่าการเจรจากับกัมพูชาทั้งทางบกและทะเล จะต้องนำเรื่องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาทุกขั้นตอน เพราะหากไทยยอมทำตามคำพิพากษาก็ทำให้แผนการจัดการฝ่ายเดียวของกัมพูชาเพื่อขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกประสบความสำเร็จ

ด้านนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าทีมต่อสู้คดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า คำว่า ยอดเขา หรือ "Promontory" ไม่ได้เป็นคำที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก คิดขึ้นมาใหม่ในปี 2556 แต่เป็นการอ้างถึงคำพิพากษาเดิมเมื่อปีพ.ศ.2505 เพื่อชี้ให้เห็นถึงที่ตั้งของปราสาทพระวิหารและเป็นพื้นที่พิพาทของทั้งสองประเทศ

นายวีรชัย กล่าวว่า การที่คำพิพากษาของศาลโลกให้ความสำคัญกับด้านภูมิศาสตร์จะเป็นประโยชน์กับไทยเพราะเท่ากับเป็นการลดบทบาทเส้นตามแผนที่ของกัมพูชาในอัตราส่วน 1 ต่อ 2แสน ซึ่งเป็นการทำเพียงฝ่ายเดียว ส่วนการเจรจาในอนาคตคงจะหนีไม่พ้นการที่ศาลบอกว่าต้องเป็นโดยสุจริตและตราบใดที่การเจรจายังไม่เสร็จคงบอกไม่ได้ใครจะเสียหรือใครจะได้อะไร จึงไม่อาจสรุปได้ในชั้นนี้

"สิ่งที่เราวางแผนกับคณะที่ปรึกษา คือ ต้องวางแผนกันภายในให้ดีก่อนว่าจะเข้าพื้นที่และจะเริ่มเข้าไปเจรจาอย่างไร ถ้ามาถามผมและคณะที่ปรึกษาวันนี้ว่าพื้นที่จะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไรพวกเราก็ยังตอบไม่ได้จริงๆครับ อาจต้องรอจนกระทั่งเรามีท่าทีแล้วและไปเริ่มเจรจาทำให้อาจพอมีสิ่งบ่งชี้ได้" นายวีรชัย กล่าว

นายวีรชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากคำพิพากษาที่ออกมาถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อไทยในอนาคต โดยมี 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.เส้นแผนที่ทำให้เกิดพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ต้องตกไป เพราะเป็นจัดทำของกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว และ 2.กัมพูชาจะไม่สามารถอ้างได้ว่าแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนมีผลผูกพันไทยโดยผลของคำพิพากษาเมื่อปี 2505

"สิ่งที่เขาทำมาตลอด50ปีว่าเส้นนี้ผูกพันไทย ต่อจากนี้จะจำกัดเฉพาะตามขอบภูมิศาสตร์ของยอดเขาที่จะต้องมีการเจรจากันต่อไปจะเลยไปกว่านี้ไม่ได้" นายวีรชัย กล่าว