posttoday

คำต่อคำ!มาร์คติงศาลโลกไม่ตัดสินบนพื้นฐานปี05

13 พฤศจิกายน 2556

“อภิสิทธิ์” ติงศาลโลกตัดสินหลุดกรอบคำพิพากษาปี 05 จี้นายกฯใช้มาตรา 190 ปัจจุบันก่อนทำกรอบเจรจากัมพูชา

“อภิสิทธิ์” ติงศาลโลกตัดสินหลุดกรอบคำพิพากษาปี 05 จี้นายกฯใช้มาตรา 190 ปัจจุบันก่อนทำกรอบเจรจากัมพูชา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายในการประชุมร่วมรัฐสภา ตามมาตรา 179 ถึงกรณีผลคำตัดสินปราสาทพระวิหาร โดยเชื่อว่า ในฐานะที่เป็นคนไทยต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ประชาชนคนไทย และรักษาอธิปไตยของไทย ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันกำลังก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเดียวกัน

อย่างไรก็ดี การดำเนินการที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศต้องแสวงหาจุดร่วม เพื่อนำไปสู่คำตอบการแก้ไขปัญหา การพิพากษาเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา เป็นการตีความคำพิพากษาที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ กว่า 50 ปี เป็นข้อพิพาทที่คนไทยจำนวนมากแม้เกิดไม่ทัน แต่รับรู้และรู้สึกมาตลอด เหมือนเป็นบาดแผลในจิตใจ

ทั้งนี้ สิ่งที่ดีที่สุดสามารถให้ประชาชนแสวงหาคำตอบได้ คือ ความจริง ถ้าไม่เริ่มต้น ก็จะหาคำตอบถูกต้องไม่ได้ และคิดว่ารัฐบาลยังไม่ให้ความจริงเรื่องนี้เท่าที่ควร อีกทั้ง ที่ผ่านมาหลายฝ่ายก็ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน วันนี้(13พ.ย) จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาต่อไป จำเป็นต้องทำความจริงปรากฏให้แน่ชัด

คำพิพากษาเมื่อปี 2505 เคยมีการพยายามทำความเข้าใจกันมาตลอดเรื่องปราสาทพระวิหารตกอยู่ภายใต้อธิปไตยของใคร และเข้าใจตรงกันว่าศาลตัดสินเมื่อปี 2505 ว่าเป็นของกัมพูชา แต่ประเด็นคำพิพากษาเกินเลยไปถึงการถอนทหาร กำลังเจ้าหน้าที่ และอื่นๆ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2505 ได้ตัดสินใจกำหนดแนวปฏิบัติการขึ้นมา (ล้อมรั้วลวดหนามบริเวณที่เกี่ยวข้อง)

จากนั้นความเห็น 2 ประเทศแตกต่างกันมาตลอด ไทยถือว่ายกเว้นเฉพาะกรณีคำพิพากษาที่เกิดขึ้นปี 2505 ซึ่งมองว่าเส้นเขตแดน คือ สันปันน้ำ กัมพูชาก็พยายามกล่าวอ้างว่าถึงแผนที่ 1:200,000 ความขัดแย้งตรงนี้ดำรงมาตลอด แต่ปัญหาคือว่า ท่ามกลางความขัดแย้งกว่า 50 ปี แต่ทำไมในที่สุดมันเป็นข้อขัดแย้งที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ แล้วต้องไปชี้ขาดการตีความ

“คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการระบุชัดว่าข้อขัดแย้งดำรงมายาวนานจริงๆ และที่พูดอย่างนี้ เพราะมีการกล่าวทำนองว่า เรื่องนี้ทำไมต้องไปที่ศาล ทำไมต้องไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ผมว่ารัฐบาลจำเป็นต้องทำความเข้าใจ คดีนี้ ไม่ใช่คดีใหม่ ถ้าเป็นคดีใหม่เราไม่ได้เป็นภาคี ไม่จำเป็นต้องยอมรับอำนาจศาลโลก แต่กรณีนี้เป็นการตีความคำพิพากษาเดิม ถือเป็นคดีเดิมเมื่อปี 2505 ที่ขณะนั้นไทยยอมรับอำนาจศาล”

ทั้งนี้ เมื่อกัมพูชาเสนอตีความ รัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจงตามธรรมนูญของศาลโลก ซึ่งบอกชัดว่ากรณีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ไปขึ้นศาล ศาลสามารถตัดสินตามคำขอของฝ่ายที่ขอได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ จึงเป็นเหตุผลทำไมต้องมีคณะทนายความและคณะทำงานไปต่อสู้ เพราะถ้าไม่ศาลอาจให้ตามคำขอกัมพูชา และความปราถนาสูงสุดของกัมพูชา คือ ต้องการให้ศาลประทับรับรองสถานะแผนที่ 1:200,000 เพื่อเป็นแนวทางการกำหนดเส้นเขตแดนตลอดแนวบริเวณดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ศาลรับเรื่องนี้ดูจากว่ามีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และที่ศาลรับว่ามีข้อขัดแย้ง เพราะมี 3 เหตุการณ์ คือ 1.ปี 2505 หลังจากศาลมีคำพิพากษา ครม.ของไทยได้กำหนดรั้วลวดหนาม ขณะนั้น เจ้าสีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชา เสด็จฯมา และไม่มีการทักท้วง แต่ปรากฏคำพิพากษา กัมพูชาได้เสนอหลักฐานว่าไม่ยอมรับการล้อมรั้วขณะนั้น

2.กัมพูชานำปราสาทไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ที่ศาลอ้างถึงในปี 2550 มีการทำแผนที่ไปว่าจะบริหารจัดการปราสาทในฐานะที่จะเป็นมรดกโลกอย่างไร ฝ่ายไทยขณะนั้นเห็นว่าแผนที่ดังกล่าวกินพื้นที่เข้ามาในไทย และ 3.ศาลระบุวันที่ 18-19 ก.ค. 2551 สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ได้ส่งกำลังทหารขึ้นไป และกัมพูชาประท้วงว่ากำลังทหารไทยเข้าไปในเขตแดนกัมพูชา ซึ่งไทยตอบโต้ไปไม่ใช่ จึงเป็นจุดให้ศาลเห็นว่ามีข้อขัดแย้ง

หลังจากนั้น ต้นปี 2554 เกิดการปะทะกันจริง สืบเนื่องกัมพูชาได้ใช้กำลัง และไทยจำเป็นต้องตอบโต้ ถือเป็นปกติธรรมดา แต่ประเด็นที่รัฐบาลต้องทำความเข้าใจ คือ ที่มาคดีนี้ คือ ความขัดแย้งปรากฏออกมาใน 3 เหตุการณ์ รอบ 50 ปี เมื่อศาลเห็นว่ามีข้อพิพาท ก็มาจำกัดความให้ชัด คือ เรื่องอะไรบ้าง ก็ต้องมาดูว่าในที่สุด ข้อต่อสู้ ความปราถนา และคำพิพากษา เป็นอย่างไร

“การชี้แจงหลายครั้งหลังคำพิพากษา และการที่ทูตได้ย้ำเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในลักษณะที่ เราบอกว่าน่าจะเป็นคุณกับเรา ความหมาย คือ คำพิพากษา 2505 ผูกพันเฉพาะพื้นที่พิพาทเท่านั้น ไม่ใช่กำหนดเส้นเขตแดน โดยเฉพาะเส้นเขตแดนตามแนวแผนที่ทั้งระวางหรือทั้งชุด และข้อผูกพันนำไปสู่การปฏิบัติจำกัดอยู่ในพื้นที่พิพาท ตรงนี้ นายกฯ รัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นคุณกับเรา มันก็ช่วยเราในการทำงานต่อไป แต่ในแง่กัมพูชามักจะพูดกับเราว่าเมื่อไหร่มีปัญหาจะไปให้ศาลตัดสินว่าแผนที่ 1:200,000 กำหนดเส้นเขตแดน และพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ตกเป็นของกัมพูชา”

ทั้งนี้ เมื่อศาลได้ยืนยันจากการตีความครั้งนี้ว่า อำนาจของศาลจะพิจารณาเฉพาะพื้นที่พิพาทซึ่งเล็กหรือแคบกว่าปัญหาตรงทั้งหมด หรือ 4.6 ตร.กม. หมายความว่ากัมพูชาไม่สามารถนำเรื่องนี้กลับขึ้นไปให้ศาลวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้อีก ดังนั้น ที่เป็นคุณกับประเทศไทก็ฟันได้ แต่รัฐบาลต้องชี้แจงตรงไปตรงมาความสูญเสียจากคำพิพากษามีแน่นอน ทำไมต้องพูดความจริง เมื่อปี 2505 รัฐบาลไทยได้กำหนดแนวรั้วลวดหนาม

หลังจากนั้นได้ดำเนินการจัดทำแผนที่ ในลักษณะถือว่าเส้นเขตแดน คือ สันปันน้ำ ไต่บริเวณหน้าผา ยกเว้นพื้นที่กันรั้วลวดหนามไว้ตามคำพิพากษาของศาลเมื่อปี 2505ไทยยืนยันว่าพื้นที่ที่เหลือตรงนั้นเป็นของไทย วันนี้ศาลตีความคำพิพากษาระบุชัดเจนว่า ไทยไม่สามารถถือในลักษณะนั้นต่อไปได้ แต่รัฐบาลไม่ได้พูดกับประชาชน ไม่บอกความจริง ศาลบอกว่าเป็นพื้นที่พิพาทและได้ตัดสินตีความเป็นของกัมพูชาแค่ไหน วันนี้ไม่มีใครระบุชัดกี่ตร.กม.

“ผมเห็นมีคนตีความตั้งแต่ 0.3 ไปจนถึง 2 ตร.กม. แต่จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ต้องยอมรับว่าเป็นพื้นที่อยู่นอกรั้วลวดหนามเดิม ซึ่งเราถือเป็นดินแดนไทย ถือว่าเจ็บปวด แต่เราปฏิเสธคำพิพากษาไม่ได้ ผมเสียใจผิดหวังว่าที่ศาลวินิจฉัย ศาลไม่ได้ตัดสินตามเหตุผลของปี 2505 อย่างเคร่งครัด ผมเชื่อว่าคณะที่ไปต่อสู้คงคิดอยู่เหมือนกันทำไม”

นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงต่อว่า เมื่อปี 2505 ศาลไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องพื้นที่หรือสันฐานทางภูมิศาสตร์ ไม่ได้สนใจสันปันน้ำ ศาลบอกว่ามาดูกฎหมายปิดปากประเทศไทยยอมรับแผนที่ แต่วันนี้คำสำคัญที่สุดอยู่ในคำพิพากษา คือ promontory ทางคณะแปลว่ายอดเขา สื่อใช้คำว่าชะง่อนผา แต่จากการค้นคำพิพากษาเมื่อปี 2505 คำนี้ปรากฏในคำพิพากษา 3 ครั้ง อ่านอย่างไรไม่คิดว่าใครตีความได้ว่าหมายถึงอาณาบริเวณของปราสาท และอ่านอย่างไรก็เข้าใจว่าใหญ่กว่าตรงนี้แน่นอน แต่วันนี้ศาลโลกกลับตีความว่าพื้นที่พิพาท คือ ทั้งหมดของ promontory

จะแปลเป็นไทยอย่างไร ไม่สำคัญเท่าศาลกำหนดขอบเขตให้ชัดว่า promontory คืออะไร จะไปคิดว่าเป็นแหลมยื่นออกไป จะต้องเป็นพิ้นที่อยู่สูงมองลงไปแล้วมีแผ่นดินข้างล่าง มันไม่ใช่ประเด็น promontory ตามคำพิพากษาของศาล คือ พื้นที่บรรยายไว้ในย่อหน้าหรือวรรค 98 พูดให้เห็นภาพทิศตะวันออก ศาลบอกว่าความเป็นหน้าผาปรากฏชัด แต่ทางตะวันตกจากเดิมตีเป็นเส้นตรงไว้ในเขตรั้วลวดหนามบริเวณปราสาท วันนี้ศาลบอกว่ากินพื้นที่ไปถึงเชิงเขาหรือตีนเขาภูมะเขือ

“ไทยอาจจะดีใจว่าศาลบอกภูมะเขืออยู่นอกพื้นที่ตรงนี้ แต่พื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่น้อย และสภาพทางภูมิศาสตร์มีที่ราบหรือหุบเขาระหว่างภูมะเขือกับเขาพระวิหาร ศาลระบุชัดว่า  promontory ตกเป็นของกัมพูชาให้กินไปจนถึงตีนเขาภูมะเขือ และผมข้องใจว่าทำไมไม่เป็นตีนเขาพระวิหาร ส่วนทิศเหนือศาลบอกว่าให้ยึดเส้นตามแผนที่ 1:200,000 แล้วดูว่าเส้นนั้นทางตะวันออกไปตัดกับหน้าผาตรงไหน ทางตะวันตกไปตัดกับพื้นที่เชิงเขาภูมะเขือตรงไหน”

ทั้งนี้ จะเรียกว่าเล็กหรือแคบอย่างไรก็ตาม เป็นพื้นที่ที่มีความหมาย สิ่งเดียวที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนคือตรงไหน แผนที่ 1:200,000 ไทยได้ยกเป็นข้อต่อสู้ ซึ่งต้องขอบคุณว่าไม่สามารถแปลงลงไปบนพื้นที่จริงได้ มีความกำกวม ไม่ชัดเจน ศาลจึงเขียนในวรรค 99 ว่าเส้นนี้ 2 ประเทศต้องไปดำเนินการด้วยกันว่าอยู่ตรงไหน เฉพาะทางทิศเหนือ แต่ตะวันออกและตะวันตกศาลจำกัดความไว้หมดว่ากินพื้นที่เท่าไหร่

ส่วนประเด็นมรดกโลกการบริหารจัดการเพื่อดูแลรักษาปราสาท ศาลบอกว่า 2 ประเทศต้องร่วมมือกัน แต่อย่าลืมว่าปัจจุบันปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนในนามกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว และหนีความจริงไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่รัฐบาลต้องบอกความจริง หากรัฐบาลรับหรือปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ความสูญเสียเกิดขึ้นจริง แต่ นายกฯ รัฐมนตรี ยังไม่พูดชัดว่าตกลงรับหรือไม่รับปฏิบัติ สงวนท่าทีไว้ถือว่าถูกต้อง

นอกจากนี้ จากที่ฟังผบ.ทบ. นายกฯ ยืนยันยังไม่มีการถอนหทาร แต่ความจริงไม่แน่ใจว่าพื้นที่นั้นมีกำลังทหารไทยอยู่หรือไม่ในปัจจุบัน และปราถนาจะเห็นทั้งทหารสองฝ่ายอยู่ในพื้นที่ร่วมจนกว่าหาคำตอบได้ในระดับรัฐบาล แต่นายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คระบุว่า “ศาลตัดสินบริเวณเขาพระวิหารทั้งหมดเป็นของกัมพูชาแล้วขอให้ไทยถอนทหาร” ตรงนี้จะเป็นประเด็นให้รัฐบาลเข้าไปแก้ไขจัดการ จะหาแนวทางดำเนินการอย่างไรต่อไป

“ตัวอย่างความจริงคดีนี้รัฐบาลที่แล้ว กัมพูชาไปขอคำสั่งชั่วคราวให้ไทยถอนทหารเพียงฝ่ายเดียว ทีมไปต่อสู้ประสบความสำเร็จ คือ ศาลไม่ให้ปฏิบัติ แต่กำหนดเขตกว้างใหญ่ให้ทั้งสองประเทศถอนทหารออกไป วันนั้นเป็นช่วงรอยต่อเลือกตั้ง รัฐบาลขณะนั้นไม่พูดรับไม่รับ แต่พูดว่าการถอนทหารเป็นเรื่องที่ไทยและกัมพูชาต้องไปตกลงกัน ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการปฏิบัติ และเป็นการยืนยันไม่ผลีผลามรับตรงนั้น ทำตรงนี้ แล้วมีผลผูกพัน”

ดังนั้น อยากถามนายกฯไปถึงรัฐมนตรี ไม่ทราบว่าจุดยืนคืออะไร แต่ความจริงที่ต้องพูดกับคนไทย ถ้าพูดว่ารับหมายถึงพื้นที่ promontory คือ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทันที แนวทางที่จะทำต่อไปเป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องใหญ่ รัฐบาลจะดำเนินการและมุ่งไปสู่คำตอบว่ารับหรือไม่รับ ต้องชี้แจงว่ารับผลคืออะไร ไม่รับผลคืออะไร แต่ถ้าจะรับหรือไม่รับ ก็ต้องมีการไปพูดคุยกับกัมพูชา ทว่า ประเด็นนี้เป็นเหตุบังเอิญหรือจงใจไม่ทราบ มีการผลักดันแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 จนผ่านสภาไปแล้ว

“รมว.ต่างประเทศได้บอกกับสภาว่าวันนี้มาฟังความเห็นตามมาตรา 179 แต่จะไปเจรจาต้องดำเนินการตามมาตรา 190 ปัจจุบัน คือ การเสนอกรอบการเจรจาต่อสภา เป็นกรอบแนวคิดจุดยืนยืดหยุ่นได้มาขอสภาแล้วไปเจรจา เมื่อเจรจาได้ข้อตกลงก็กลับมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ระหว่างการนำเสนอกรอบเจรจาและการให้ความเห็นชอบของรัฐสภา รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วม มาตรา 190 ที่แก้ไขผ่านไป เปลี่ยนแปลงกระบวนการนี้ ข้อตกลงเกี่ยวข้องเขตแดนอธิปไตย มาขอความเห็นชอบเมื่อได้ไปทำการตกลงมาแล้ว จึงอยากถามนายกฯ มาตรา 190 มีผลบังคับใช้จะทำอย่างไร”

อย่างไรก็ดี ยืนยันได้หรือไม่จะไม่นำผลประโยชน์เรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พลังงาน พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล มรดกโลก ไปตกลงแลกเปลี่ยนกันเองสองรัฐบาล คนไทยไม่มีสิทธิมีส่วนร่วม ถ้ารัฐธรรมนูญมาบังคับใช้ จะมาเสนอกรอบเจรจา ไม่แน่ใจว่าจะเสนอได้ จะอ้างบทบัญญัติมาตราใดที่ให้รัฐสภามีอำนาจประชุมและพิจารณา และจะมาอ้างใช้มาตรา 179 เหมือนวันนี้ก็ได้ ไม่เหมือนกัน

ทั้งนี้ มาตรา 190 ปัจจุบัน ต้องนำเสนอกรอบการเจรจาเข้ามา คำถาม คือ นายกฯได้ทูลเกล้าฯหรือยัง และที่ผ่านมา จึงพยายามทักท้วง และขอให้นายกฯมาฟังการพิจารณา จะได้ทราบว่ามีปัญหาอะไรตามมา แต่ช้าสุดต้องทูลเกล้าฯภายในวันที่ 24 พ.ย. หรือที่ได้รับเรื่องจากสภา ถ้านายกฯมีความจริงใจในการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการเข้าถึงข้อมูล รัฐบาลมีความโปร่งใสในการเจรจาและมีกรอบการเจรจากลับมาที่สภา

นายกฯต้องไปคิดว่าจะมีวิธีการใดหยุดยั้งมาตรา 190 แก้ไข มีผลบังคับใช้ แต่มีสิ่งหนึ่งทำได้ คือ กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำตามประเด็นนี้ และถ้ากฎหมายไม่ได้ทรงพระราชทานคืนมา นายกฯยืนยันจะดูแลช่วยกัน สภาจะไม่ยืนยันกลับไปรัฐธรรมนูญจะได้ตก มาตรา 190 เดิมขอกรอบการเจรจาจะได้ปฏิบัติได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องเขตแดนมีบันทึกความเข้าใจ มีกลไกตามบันทึก แน่นอนเรื่องนี้ไม่ได้กำหนดเรื่องเส้นเขตแดน แต่มีผลกระทบเกี่ยวพันกัน นายกฯและรองนายกฯพยายามเน้นย้ำว่ากลไกมาทำงานเรื่องนี้ คือ เจซี ไม่ใช่กลไกเดิม และรวมถึงการพัฒนาด้วย ตรงนี้ให้ความมั่นใจได้หรือไม่ว่าถ้าไปทำจะไม่มีเรื่องผลประโยชน์อื่นๆเข้าไปเกี่ยวข้องหรือกระทบงานกลไกตามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเขตแดน