posttoday

นายกฯยืนยันไม่เคยบอกจะรับคำตัดสินศาลโลก

13 พฤศจิกายน 2556

ยิ่งลักษณ์ ยืนยัน ไม่เคยบอกจะรับคำพิพากษาศาลโลก ย้ำ รักษาอธิปไตยชาติไม่ละเมิดมาตรา 190

ยิ่งลักษณ์ ยืนยัน ไม่เคยบอกจะรับคำพิพากษาศาลโลก ย้ำ รักษาอธิปไตยชาติไม่ละเมิดมาตรา 190

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหารตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 ว่า ที่ผ่านมามีการกล่าวหาตนเองจะไปรับคำพิพากษาของศาลโลกไม่ว่าจะมีคำพิพากษาออกมาอย่างไรนั้น ขอยืนยัน ณ ที่นี้ว่า ไม่เคยที่จะรับคำพิพากษา ไม่เคยพูดคำนี้

"สิ่งที่ดิฉันพูดอยู่เสมอ ก็คือ ไม่ว่าผลการตัดสินออกมาอย่างไร ในส่วนของการดูแลความสงบเรียบร้อยและบรรยากาศความสัมพันธ์นั้นต้องคงอยู่ ถ้าท่านจำได้ก่อนวันที่ศาลโลกจะมีการตัดสินนั้น ดิฉันได้มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่มีการยืนยันตรงนี้เช่นกันว่า เราจะรักษาความสัมพันธ์กันแต่ไม่เคยพูดคำว่าเราจะรับคำพิพากษา สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเนื้อหาที่ต้องกราบเรียน การพูดทุกคำก็เป็นความละเอียดอ่อนที่เราต้องรักษาความสัมพันธ์ แต่ขณะเดียวกันหน้าที่ของเราก็ต้องรักษาอธิปไตยของประเทศและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศประชาชนเป็นหลัก" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า หลังจากที่ไทยได้รับฟังคำพิพากษามีสิ่งที่ต้องเร่งทำ คือ การศึกษาคำพิพากษา ซึ่งการศึกษาดังกล่าวยังยืนยันในเรื่องการรักษาอธิปไตยเช่นเดิม และไม่ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะมีการรับฟังความคิดเห็นและมติของรัฐสภาภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญมาตรา 190

"รัฐบาลนี้จะไม่ทำการใดๆจนกว่าจะได้รับการเห็นชอบจากสภา และรัฐบาลนี้เรียนยืนยันว่าการดำเนินการใดนั้นจะทำโดยคณะกรรมการ โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งสิ้น" นายกฯ กล่าว

ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ กล่าวเสริมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดมีความต่อเนื่องมาตลอด ทุกรัฐบาลมีความรับผิดชอบร่วมกันที่จะต้องหาทางแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม ยืนยันในฐานะรมว.ต่างประเทศ ไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะรับคำตัดสินของศาลโลก

"ไม่เคยมีคำพูดอย่างนั้นออกมาจากปากผมอย่างเด็ดขาด" นายสุรพงษ์ กล่าว

รองนายกฯ กล่าวอีกว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 190 จะมีการแก้ไขใหม่ไปแล้ว แต่ไม่ต้องกังวลเพราะจะนำกรอบการเจรจากับกัมพูชามาหารือกับรัฐสภาไทย ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวและเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ท้วงติงว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 190 ฉบับที่รัฐสภาลงมติวาระ3 ไปแล้วมีความแตกต่างกับมาตรา 190 ในปัจจุบัน เพราะมาตรา 190 ที่รัฐสภาแก้ไขไปแล้วบัญญัติให้เมื่อรัฐบาลไปเจรจาข้อตกลงใดเสร็จแล้วจึงค่อยมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่มาตรา 190 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันบัญญัติไว้ว่าก่อนที่รัฐบาลจะไปเจรจากับต่างประเทศจะต้องมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนพร้อมกับกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วม

"ผมว่าวันนี้สิ่งที่ผมอยากเห็นมากที่สุด คือ นายกฯไปหาทางดำเนินการอย่าให้มาตรา 190 ที่ได้แก้ไขไปแล้วมีผลบังคับใช้และเป็นอุปสรรคต่อเรื่องนี้ที่จะให้ประชาชนมีสิทธิ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ว่าถ้าในอนาคตรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ฉบับที่รัฐสภาแก้ไขล่าสุดมีผลบังคับใช้ แต่รัฐบาลยินดีและพร้อมให้ภาคประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ ขณะเดียวกันยังมีกลไกตามมาตรา 179 เพื่อให้รัฐสภาแสดงความคิดเห็นได้และในขั้นตอนสุดท้ายต่อให้รัฐบาลได้ไปเจรจากับต่างประเทศมาแล้วก็ต้องนำเรื่องนั้นเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และหากรัฐสภาไม่ให้เห็นความชอบการเจรจาทั้งหมดก็จะไม่มีผลบังคับใช้