posttoday

"นิพิฏฐ์"ขอโทษทายาทจอมพลถนอม

22 ตุลาคม 2556

นิพิฏฐ์ขอโทษทายาทจอมพลถนอม หลังพาดพิงจอมพลถนอมเป็นหนึ่งในสามอดีตนายกฯที่ทุจริตและถูกยึดทรัพย์

นิพิฏฐ์ขอโทษทายาทจอมพลถนอม หลังพาดพิงจอมพลถนอมเป็นหนึ่งในสามอดีตนายกฯที่ทุจริตและถูกยึดทรัพย์

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอโทษ ทายาทจอมพลถนอม - ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร ที่ได้ระบุว่า จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นหนึ่งในสามอดีตนายกรัฐมนตรีที่ทุจริตและถูกยึดทรัพย์

นายนิพิฏฐ์ ได้ระบุเรื่องดังกล่าวในการตอบโต้ทางการเมืองกับนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้วพาดพิงมาถึงจอมพลถนอม  ทายาทของจอมพลถนอม - ท่านผู้หญิงจงกล  กิตติขจร จึงได้ทำหนังสือถึงนายนิพิฏฐ์   เพื่อให้ข้อเท็จจริงว่าการที่จอมพลถนอมถูกยึดทรัพย์นั้นมิได้เกิดจากการทุจริต พร้อมทั้งระบุด้วยว่า ได้มีการดำเนินการตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมจนเป็นที่ยอมรับแล้วว่า จอมพลถนอมไม่ได้เป็นผู้เข่นฆ่านิสิต นักศึกษา ประชาชน

สำหรับรายละเอียดดังกล่าวมีว่า

เรียน คุณนิพิฏฐ์   อินทรสมบัติ

ตามที่ท่านได้ลงในเฟสบุ๊คว่า “..... ประเทศไทยมีอดีตนายกรัฐมนตรีที่ทุจริตและถูกยึดทรัพย์เป็นของแผ่นดินมาแล้ว 3 คน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  จอมพลถนอม  กิตติขจร และคุณพ่อของโอ๊ค ทั้งจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอมพยายามขอทรัพย์สินคืนมาตลอด  แต่ศาลไม่คืนให้และรัฐบาลทุกรัฐบาลก็ไม่นิรโทษกรรมให้.....” 

ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า กรณีของ จอมพลถนอม  กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น มิได้เหมือนกับกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีอีก 2 ท่านเลย  เนื่องจาก อดีตนายกรัฐมนตรี 2 ท่านนั้น  ถูกยึดทรัพย์เฉพาะส่วนที่ศาลพิพากษาตัดสินเท่านั้น  แต่ของจอมพลถนอมนั้นถูกยึดทรัพย์ทั้งที่ไม่มีความผิดใด ๆ และมิได้ถูกพิพากษาจากศาลหรือองค์กรใดว่ามีความผิด จึงมิใช่กรณีที่ต้องมีการนิรโทษกรรม   โดยในขณะนั้นคณะกรรมการยึดทรัพย์มิได้ดูหลักฐานการได้มาของทรัพย์สิน หรือเรียกพยานต่าง ๆ เช่น ผู้ที่ขายที่ดิน หรือผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านหรืออาคารต่าง ๆ ไปให้ปากคำเลยแม้แต่รายเดียว  คงสรุปเอาง่าย ๆ ว่าดูจากเงินเดือนแล้วไม่น่าจะมีทรัพย์สินได้ ทั้ง ๆ ที่ดินที่บ้านถกลสุข ถนนระนอง 2 นั้นตอนที่ซื้อเมื่อเกือบ 70 ปีมานั้น ราคาเพียง ตารางวาละ 34 บาท 1,000  ตารางวาก็ราคารวม 34,000 บาท เท่านั้น  ค่าสร้างบ้านราคาเพียง 175,000 บาท  ขณะนั้น จอมพลถนอมเป็นพันเอก มีฐานะดีกว่านายทหารส่วนใหญ่  เพราะภรรยาทำงานหารายได้พิเศษจุนเจือครอบครัวและญาติพี่น้อง อีกทั้งบิดามารดาของภรรยาก็ทำธุรกิจต่าง ๆ มาตั้งแต่ออกจากราชการ มีฐานะมั่นคงมาตั้งแต่สมัยคุณย่าของท่านผู้หญิงจงกล  เงินซื้อที่ดินและสร้างบ้านจึงมิได้มีปัญหาแต่อย่างใด  แต่กรรมการยึดทรัพย์ก็มิได้พิจารณา  เมื่อไม่มีหลักฐานการทุจริตใด ๆ ปรากฏ จึงต้องอ้างว่า การยึดทรัพย์ครั้งนั้น “เพื่อความมั่นคงของประเทศ” ยึดทรัพย์สินจอมพลถนอมและท่านผู้หญิงจงกล ทั้งหมดรวมทั้งบ้านเกิดของจอมพลถนอม ที่จังหวัดตาก  บ้านและที่ดินของพันตรีหลวงจบกระบวนยุทธ และคุณหญิงเครือวัลย์ จบกระบวนยุทธ  ที่อยุธยาและกรุงเทพ ทั้ง ๆ ที่เป็นชื่อของทั้งสองท่านก็ถูกยึดไปด้วย

ดังนั้น  จึงเห็นได้ชัดเจนว่า เหตุผลในการยึดทรัพย์ครั้งนั้นเป็นเหตุผลทางการเมืองในสมัยนั้นโดยแท้  เพราะจอมพลถนอมมิได้มีความผิดแต่อย่างใดเลย ขณะนั้นมีความพยายามที่จะเอาผิดจอมพลถนอมให้ได้  ในช่วงปี 2517 ได้มีคนฟ้องร้องว่าจอมพลถนอมและพวกได้สั่งให้มีการเข่นฆ่านิสิต นักศึกษา ประชาชน แต่หลังจากมีการสอบสวนโดยละเอียดแล้วก็ปรากฎว่าจอมพลถนอมและพวกมิได้สั่งการ ผิด ๆ เลย ในทางตรงกันข้าม พลโท ยุทธศักดิ์   คล่องตรวจโรค ได้นำหลักฐานการสั่งการไม่ให้ใช้อาวุธร้ายแรงแก่ผู้ชุมนุมและให้พยายามปล่อยให้กลับบ้านไป  แต่หลักฐานชิ้นนี้ได้ถูกสั่งให้เผาทิ้งเสียหลังจากที่จอมพลถนอมเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว  แต่พลโทยุทธศักดิ์ เห็นว่าเป็นการกระทำที่พยายามใส่ร้ายจอมพลถนอมและพวกอย่างไม่ยุติธรรมเลย  จึงได้เก็บเอาไว้และนำไปให้จอมพลถนอมที่สิงคโปร์  หลังจากการสอบสวน อัยการจึงสั่งไม่ฟ้อง  แต่การสั่งไม่ฟ้องนี้ก็มิได้มีการประกาศให้เป็นที่ทราบโดยทั่วไป  จึงทำให้คนจำนวนมากยังเข้าใจจอมพลถนอมผิด  รวมทั้งกรณียึดทรัพย์ด้วย 

ขอย้ำอีกครั้งว่าเหตุผลในการยึดทรัพย์นั้น มิได้เกี่ยวกับการเอาเงินของหลวงไปหรือคอรัปชั่นแต่อย่างใดเลย  แต่เป็นการยึดตามกระแสการเมืองในสมัยนั้น ซึ่งแม้แต่ พณฯ นายสัญญา  ธรรมศักดิ์  ซึ่งเป็นผู้ใช้มาตรา 17 ในการยึดทรัพย์ครั้งนั้น  ก็ยังปรารถหลายครั้งว่า  ท่านเป็นผู้พิพากษามาก่อน เห็นว่าการยึดทรัพย์บุคคลที่ไม่มีหลักฐานว่าทำความผิดอย่างใดเป็นการไม่ถูกต้อง  เพราะการตัดสินลงโทษคนที่มิได้ถูกพิพากษาว่าทำความผิดย่อมไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย  แต่ท่านก็จำใจต้องทำไปเพราะกระแสการเมืองที่ถูกโหมด้วยการกล่าวร้ายป้ายสีต่าง ๆ

ภายหลังได้มีคณะกรรมการสอบสวนการได้มาของทรัพย์สินอีกครั้งหนึ่งตามคำร้องของทายาทท่านจอมพลถนอม และท่านผู้หญิงจงกล  กิตติขจร คณะกรรมการได้พิจารณาหลักฐานทั้งหมดแล้วเห็นควรให้คืนทรัพย์สินที่ถูกยึด แล้วส่งผลสรุปไปยัง ฯพณฯ พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น พร้อมทั้งร่างพระราชบัญญัติคืนทรัพย์สินให้แก่จอมพลถนอม ซึ่งจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา  แต่ยังมิได้ดำเนินการแต่อย่างใด  ท่านก็ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปเสียก่อน  เมื่อพลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการเสนอเรื่องการคืนทรัพย์สินให้แก่จอมพลถนอม และท่านผู้หญิงจงกล แต่มีคนที่ไม่ประสงค์ดีคัดค้านมิให้นำเรื่องเข้าสภา  หลังจากนั้นครอบครัวจอมพลถนอมและท่านผู้หญิงจงกลก็ยังมิได้รับความเป็นธรรมแต่อย่างใด  จอมพลถนอมซึ่งทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร เชิดชูชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยิ่งชีวิต  จึงต้องรับกรรมในสิ่งที่ตนมิได้ก่อ 

ข้าพเจ้าจึงขอแจ้งข้อเท็จจริงให้ทราบโดยทั่วกัน

ทายาทจอมพลถนอม - ท่านผู้หญิงจงกล  กิตติขจร