posttoday

ปชป.แฉโรงสีเปิดรับจำนำข้าวแค่19จุด

10 ตุลาคม 2556

ปชป.แฉโรงสีเปิดแค่ 19 จุดรับจำนำฤดูกาลใหม่ อัดรัฐต้องใช้ 9 พันล้านจ่ายข้าว 4.5 แสนตัน "วราเทพ"ยันยอดโรงสีสมัคร 647 แห่ง

ปชป.แฉโรงสีเปิดแค่ 19 จุดรับจำนำฤดูกาลใหม่  อัดรัฐต้องใช้ 9 พันล้านจ่ายข้าว 4.5 แสนตัน "วราเทพ"ยันยอดโรงสีสมัคร 647 แห่ง                     

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีเรื่องโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว โดย นพ.วรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้โครงการรับจำนำฤดูกาลใหม่เริ่มมาถึงวันที่ 10 ต.ค.แล้ว แต่พบว่ามีโรงสีเข้าร่วมโครงการเพียง 19 แห่งเท่านั้น ทั้งที่รัฐบาลบอกว่าจะเปิด 250 โรงสี โดยปีที่แล้วเปิดถึง 800 โรงสี จึงกังวลว่าหากโรงสียังไม่พร้อมทั้งที่รัฐดำเนินนโยบายมาแล้วถึง 3 ปี สุดท้ายชาวนาจะต้องขายข้าวเป็นเงินสดและได้เงินเพียง 8 พันบาทเท่านั้น นอกจากนี้ชาวนาร้องเรียนว่าไม่ได้รับเงินหลายรายจากการรับจำนำข้าวจำนวน 4.5 แสนตันรอบฤดูกาลที่ผ่านมาวงเงิน 6 พันล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะโครงการใหม่ปี 2556/2557 วงเงิน 2.7 แสนล้านบาทรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะหาเงินมาจากแหล่งใด

นายวราเทพ รัตนากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังเป็นเพียงต้นฤดูกาล ยืนยันว่ายังไม่มีปัญหาข้าวออกมาจนไม่มีโรงสีรองรับ อีกทั้งโรงสีบางแห่งยังส่งข้าวในฤดูกาลเก่าไม่ครบและยังไม่สามารถปิดโครงการเดิมได้ จึงทำให้จำนวนโรงสีน้อย อย่างไรก็ตามจุดที่ยังไม่มีโรงสีเข้าร่วมโครงการนั้น แต่ละจังหวัดมีคณะอนุกรรมการสามารถรับฝากข้าวได้ ทั้งนี้ล่าสุดมีรายงานแจ้งมาว่ามีโรงสีเข้าสมัครถึง 647 แห่งแล้ว

นายวราเทพ กล่าวต่อว่า กรณีที่ชาวนายังไม่ได้เงินจากโครงการก่อนหน้านี้ เพราะรัฐบาลกำหนดเป้าหมายรับจำนำ วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ไม่เกิน 22 ล้านตัน เพื่อกำหนดกรอบวินัยการเงิน การคลัง แต่เนื่องจาก 2 ฤดูกาลที่ผ่านมามีการจำนำเกินกว่ากำหนด ทำให้มีเกษตรกรที่นำข้าวมาเข้าโครงการรับใบประทวนไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงิน ประมาณ 4 แสนกว่าตัน วงเงิน 6 พันล้านบาท แต่คาดว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ต.ค.นี้จะมีการอนุมัติจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรได้

“ส่วนเงินฤดูกาลใหม่ 2.7 แสนล้านบาทนั้นรัฐบาลจะจัดสรรเงินมาได้แน่นอน โดยจะมีกรอบวงเงินให้ ธกส.ดำเนินการจ่ายไปก่อน แล้วให้รัฐบาลชำระคืน และให้ ธกส.หาเงินกู้โดยให้รัฐบาลค้ำประกัน” นายวราเทพกล่าว

ด้าน นพ.วรงค์ กล่าวว่า จำนวนโรงสี 647 แห่งเป็นแค่การสมัคร แต่ยังไม่ได้เปิดรับข้าว อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้าประชุม กขช.แต่นายวราเทพไม่สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงได้ ขนาดตนไม่ได้เข้าประชุมด้วยแต่มีข่าววงในแจ้งมาว่าแท้จริงแล้วรัฐบาลต้องใช้เงินถึง 9 พันล้านบาท ไม่ใช่ 6 พันล้านบาท เพื่อจ่ายให้แก่เกษตรกร เพราะตัวเลข 6 พันล้าน 4.5 แสนตันนั้นต้องจ่ายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการก่อนวันที่ 15 ก.ย.แต่หลังจาก 15 ก.ย.รัฐบาลบอกว่าจะชดเชยให้เกษตรกร 2,500 บาทต่อเกวียน ประมาณ 3 พันล้านบาท ดังนั้นจึงรวมเป็น 9 พันล้านบาทที่รัฐบาลต้องจ่าย ดังนั้นรัฐบาลจะบริหารเงินอย่างไรเพราะในวงเงิน 2.7  แสนล้านบาทยังมีความสับสนในแหล่งเงินเพราะทาง ธกส.ยืนยันแล้วว่าจะไม่จ่ายก่อนล่วงหน้า

“สิ้นเดือน ธ.ค.นี้ รัฐบาลบอกว่ากรอบวินัยการเงิน การคลัง ต้องไม่เกิน 5 แสนล้านบาท 4.1 แสนล้านเป็นเงินที่รัฐบาลค้ำให้ ส่วนอีก 9 หมื่นล้าน ธกส.กู้ การที่รัฐยืนยันว่าต้องอยู่ในกรอบ 5 แสนล้าน แต่ปรากฏว่า 2.7 แสนล้านก็ต้องไปกู้ สะท้อนว่ารัฐไร้ซึ่งวินัยการเงิน การคลังอย่างชัดเจน” นพ.วรงค์กล่าว

นพ.วรงค์ ยังระบุว่า ปกติราคาข้าวสารจากเดิม 2.4 หมื่นบาทแพงกว่าราคาข้าวเปลือก 1.5  หมื่นบาท แต่ปรากฏว่าขณะนี้ราคาข้าวสารลดลงเหลือเพียง 1.2 หมื่นเท่านั้น ต่ำกว่าราคาข้าวเปลือก จึงขอถามรัฐบาลว่าสูญเสียการควบคุมราคาข้าวจนปล่อยให้ราคาข้าวสารตกต่ำใช่หรือไม่

นายวราเทพ ชี้แจงว่า วันที่ 31 ธ.ค.เป็นตัวกำหนดว่าโครงการรับจำนำข้าวเกินกรอบวินัยการเงิน การคลังหรือไม่ แต่ขณะนี้อยู่ในเดือน ต.ค.เท่านั้นเท่ากับ นพ.วรงค์ ด่วนสรุปไปก่อนล่วงหน้า และขณะนี้ที่ ธกส.จ่ายไม่ได้ เพราะยังไม่มีมติในการจ่าย จึงต้องมีการพิจารณาผ่านมติครม.เพื่อให้มีการจ่ายเงินในยอดที่มีจำนวนข้าวเข้าโครงการเกินไปจากกรอบเดิม

“ส่วนราคาข้าวสารนั้น กระบวนการต้องยอมรับกลไกของการขายและระบายข้าว รัฐบาลมีข้าวจำนวนมาก ผู้ซื้อก็กดราคา กระทรวงพาณิชย์จึงไม่อยากบอกข้อมูลสต็อกข้าว เพราะราคาจะตกลง ข้าวสารที่มีราคาถูกนั้นผู้มีหน้าที่ต้องดำเนินการ แต่หากถามว่าทำไมข้าวเปลือกแพง ก็ต้องบอกว่าให้สูงเพื่อให้ชาวนาได้ประโยชน์” นายวราเทพกล่าว