posttoday

สุรนันท์ยันปูลงนามทูลเกล้าฯแก้รธน.แล้ว

01 ตุลาคม 2556

เลขานายกฯเผย"ยิ่งลักษณ์"ทำตามอำนาจยื่นทูลเกล้าฯแก้รัฐธรรมนูญ

เลขานายกฯเผย"ยิ่งลักษณ์"ทำตามอำนาจยื่นทูลเกล้าฯแก้รัฐธรรมนูญ

นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าขั้นตอนการยื่นทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่มาสว. ซึ่งขณะนี้ทางเลขาฯครม.ร่วมกับเลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้จัดทำเอกสารเรียบร้อย และนายกรัฐมนตรีได้ลงนามทูลเกล้าฯถวายการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว

“โดยอยู่ในขั้นตอนที่เลขาฯครม.ประสานงานกับสำนักพระราชวัง ซึ่งจะเป็นขั้นตอนทางธุรการที่เสนอขึ้นไป ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็เป็นไปตามขั้นตอนที่ระบุอยู่ ทั้งนี้ การลงนามทางเลขาฯครม.และกฤษฎีกา มีความเห็นชัดเจน” นายสุรนันท์ กล่าว

อย่างไรก็ดี การลงนามในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นที่ชัดเจน ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ได้มีการบัญญัติไว้โดยเฉพาะ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ได้บัญญัติว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์ (7) เมื่อมีการลงมติแล้ว ให้นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทูลเกล้าฯ และให้บทบัญญัติมาตรา 150 และ 151 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ดังนั้น มาตรา 291 บัญญัติหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนำเฉพาะมาตรา 150 และ 151 มาใช้บังคับใช้เท่านั้น มิได้บัญญัติให้นำมาตราอื่นใดของรัฐธรรมนูญมาบังคับด้วย การดำเนินการหลังจากที่รัฐสภาเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว นายกฯ จึงมีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน20 วันนับตั้งแต่ได้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังมีความเห็นด้วยว่า สำหรับกรณีที่สว. และฝ่ายค้าน ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 68 นั้น ซึ่งตามมาตรา 68 มิได้บัญญัติให้ระงับการดำเนินการมาตรา 291 และมิใช้ตามกรณีมาตรา 154  เพราะมาตรา 154 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 291 มิได้บัญญัติให้นำมาบังคับใช้ด้วยแต่อย่างใด เป็นไปตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2554 กรณีร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตร 154 วรรค 1 ว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยกรณีนั้นว่า มาตรา 291 (7) ได้บัญญัติให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติ เฉพาะมาตรา 150 และ 151 มาบังคับใช้โดยอนุโลม มิได้บัญญัติให้นำมาตรา 154  มาบังคับใช้ เมื่อพิจารณาแล้ว กรณีตามคำร้องดังกล่าวจึงไม่ได้ต้องด้วยหลักเกณฑ์ 154 วรรค 1 ที่ศาลรัฐธรรมจะรับวินิจฉัยได้ เมื่อการวินิจฉัยดังกล่าวเป็นบรรทัดฐาน ครั้งนี้ก็เชื่อว่าเป็นไปตามนั้น โดนให้ใช้มาตาม 150 และ 151 โดยอนุโลม เป็นความเห็นที่ทำให้นายกฯพิจารณาแล้วและได้ลงนามแล้ว ส่วนมาตรา 154 ประธานรัฐสภา ยังไม่ได้ทำหนังสือแจ้งมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า ถ้าเทียบมาตรา 154 กับปี 2554 ซึ่งรัฐบาลสมัยนั้นไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ จะเทียบเคียงกับกรณีนี้ได้หรือไม่ นายสุรนันท์ กล่าวว่า สมัยนั้นแก้รัฐธรรมนูญก็ได้ทูลเกล้าฯเรียบร้อยเป็นรายมาตรา ซึ่งครั้งนั้นศาลไม่รับฟ้อง แต่ครั้งนี้ในส่วนของกฤษฎีกาชัดเจนว่าเป็นส่วนที่ไม่เกี่ยวข้อง ฉะนั้น ตรงนี้สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯได้

ทั้งนี้ นายกฯไม่ได้มีทางเลือก เพราะเป็นกระบวนการของรัฐสภา เมื่อรัฐสภาเสร็จสิ้น นายกฯต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน ส่วนร่างพ.ร.บ.ที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯใน 20 วัน แต่ไม่ดำเนินการ เรื่องนี้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องร่างพ.ร.บ.ชัดเจนว่าถ้ามีข้ออาจขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็มีบทบัญญัติชัดเจน แต่ไม่ได้บอกถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ต้องให้ชัด คนละเรื่องกัน ถ้าอำนาจปวงชนชาวไทยไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ผมคิดว่าประเทศนี้อาจจะเหนื่อยหน่อย ตอนนี้เราทำตามขั้นตอนกฎหมาย และท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ค่อยมาดูคำวินิจฉัยนั้น แล้วมาตีความกันต่อ ทางกฎหมายไม่ได้มีข้อขัดแย้ง แต่ละคนทำหน้าที่ตัวเอง รัฐสภาทำหน้าที่ครบถ้วน นายกฯก็ทำตามหน้าที่ที่บอกและบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เมื่อนายกฯทำหน้าที่และศาลรัฐธรรมนูญเห็นแตกต่าง มีคำวินิจฉัยแตกต่างก็ต่างมาพิจารณากันว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นอย่างไร การตีความกฎหมายมีได้หลากหลาย แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญใครจะทำบทบาทใดจะตีความกฎหมายอย่างไร ต้องทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ อย่าทำให้ประเทศถึงทางตัน”นายสุรนันท์ กล่าว

ส่วนประเด็นเรื่องความเหมาะสม ถือว่าไม่มีปัญหา อย่าไปคิดมาก อยากให้คิดถึงข้อกฎหมายที่นายกฯต้องทำตามรัฐธรรมนูญ สำหรับประเด็นกระทบต่อพระราชอำนาจหรือไม่ เรื่องนี้เป็นไปตามข้อกฎหมาย และไม่มีใครต้องการส่งผลกระทบหรือให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ทุกคนทำหน้าที่ตัวเองตามรัฐธรรมนูญกำหนด และไม่อยากให้คิดถึงปัญหาตามมา เพราะวันนี้ชัดเจนกฎษฎีกาว่าอย่างไร และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ยืนยันไม่มีการโยนปัญหาให้กับสถาบัน