posttoday

กมธ.ซัดประชานิยมปูสร้างภาระชาติ5แสนล้าน

21 กันยายน 2556

กมธ.การเงินวุฒิสภา ซัดประชานิยม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ สร้างภาระชาติ5แสนล้านบาท ชี้ จำนำข้าวตัวสร้างปัญหา

กมธ.การเงินวุฒิสภา ซัดประชานิยม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ สร้างภาระชาติ5แสนล้านบาท ชี้ จำนำข้าวตัวสร้างปัญหา

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ที่มีนายวิทวัส บุญญสถิตย์ สว.สรรหา เป็นประธานคณะกมธ.กรรมาธิการฯ ได้จัดทำรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “ความห่วงใยนโยบายประชานิยม ต่อหนี้สาธารณะสาธารณะของประเทศ" ต่อที่ประชุมวุฒิสภา

สำหรับสาระสำคัญของรายงานดังกล่าวเป็นการศึกษาและติดตามนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่มีผลกระทบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ตามที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2554 โดยในรอบ1ปีแรกของการเข้ามาบริหารประเทศ สรุปได้ว่า การใช้นโยบายประชานิคมได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศเพราะระบบเลือกตั้งที่คำนึงถึงเฉพาะการได้มาซึ่ง ส.ส.จำนวนมากเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ แทนการคำนึงถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่จะทำให้เกิดความไม่สมดุลของระบอบการเมืองการปกครองด้วย

ทั้งนี้คณะกมธ.ได้มีเสนอแนะต่อรัฐบาลด้วยโดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ ช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงกับวิกฤษเศรษฐกิจโลก ทำให้ไทยไม่สามารถพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศได้ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจะใช้นโยบายประชานิยมต้องมีการวางยุทธศาสตร์เพื่อรองรับและต้องสนับสนุนการบริหารเศรษฐกิจมหภาคดังนี้

1.ต้องสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่อเศรษฐกิจไทยและต้องกระตุ้นการบริโภคของภาคครัวเรือน ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนำร่องไปก่อน เช่น การใช้จ่ายเงินเพื่อระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างอนาคตของประเทศ ทำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนจากภาครัฐกับภาคเอกชน

2.นโยบายประชานิยมต้องรักษาเสถียรภาพทางการคลังและเศรษฐกิจ เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ในแง่ดีถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่แง่ลบคือการลดความสำคัญของภาษีอากรที่เป็นเครื่องมือทางการคลังในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

3.การใช้จ่ายในโครงการประชานิยมต้องเหมาะสมกับสถานการณ์และกลุ่มเป้าหมาย

4.นโยบายประชานิยมต้องสนับสนุนการออมของประเทศเพื่อเป็นการชดเชยการขาดดุลงบประมาณ


ขณะเดียวกันคณะกมธ.ยังได้สรุปนโยบายประชานิยมรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มีผลต่อภาระทางการคลัง ในรอบปีแรกของการบริหารราชการแผ่นดิน โดยนโยบายทั้งหมดรวมเป็นเงินที่เป็นภาระทางการคลังได้ประมาณ 544,300 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.การลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก มีผลตั้งแต่ 22 ก.ย. 54 – 31 ธ.ค.55 ทำให้เกิดภาระการคลัง จำนวน 1.2หมื่นล้านบาท

 2.คืนภาษีรถยนต์คันแรก มีผลตั้งแต่ 16 ก.ย.54 – 31 ธ.ค.55 ทำให้เกิดภาระการคลัง จำนวน 3 หมื่นล้านบาท

3.ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จากร30 %เหลือ23 %และเหลือ20 %ในปี 2556 ทำให้เกิดภาระการคลัง จำนวน  5.2 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2555

4.ลดภาษีน้ำมันดีเซล มีผลตั้งแต่ 21 ส.ค.54- ก.ย.55 ทำให้เกิดภาระการคลัง จำนวน 9,000 ล้านบาทต่อเดือน

5.ปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างของทางราชการที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็น 15,000 บาท มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.55 ทำให้เกิดภาระการคลัง จำนวน 1.8หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2555 และ 2.3หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2556

6.แจกแท็บเล็ตฟรี ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีผลตั้งแต่เดือนต.ค.2555  ทำให้เกิดภาระการคลัง จำนวน  1,600 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2555 และจำนวน 1,200 บาทในปีงบประมาณ 2556

7.พักชำระหนี้เกษตรกร ที่มียอดเงินกู้ค้างชำระ 5แสนบาท มีผลตั้งแต่ 1 ก.ย.55 – 31 ส.ค. 58 โดยรัฐบาลใช้งบสนับสนุนปีละ 1.5หมื่นล้านบาท แต่ทางปฏิบัติรัฐบาลและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องจะรับภาระ 50:50 แต่ในที่สุดคาดว่ารัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้แก่สถาบันการเงินโดยลำพัง

 8.โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ช่วงทำโครงการ 7 ต.ค. 54 -15 ก.ย.55 มีประมาณการค่าใช้จ่าย 3แสนล้านบาทหรือ2.6%ของจีดีพีในปี 2555 ทั้งนี้จำนวนภาระทางการคลังจะเพิ่มขึ้นตามราคาข้าวที่รัฐบาลจะขายได้

9.การปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 ภาระทางการคลังภาคธุรกิจเอกชนเป็นผู้รับภาระโดยตรง

10.กองทุนพัฒนาสตรี เปิดรับสมัครตั้งแต่ 18 ก.ย. 55 ภาระทางการคลัง อยู่ที่จังหวัดละ 100 ล้านบาทรวมเป็นเงิน 7,700 ล้านบาท