posttoday

ปชป.โวยรัฐเมินแก้ราคายาง

29 สิงหาคม 2556

ปชป.ขุดภาพยาง 2 เเสนตันเน่าโชว์กลางสภา โวยรัฐเมินแก้ราคายางอัดงบข้าวสูงกว่า 13 เท่า ‘ยุคล’ โต้ยันเก็บในโกดังอ้างมีประกันภัย เผยรอผลตรวจจากคณะกรรมการ

ปชป.ขุดภาพยาง 2 เเสนตันเน่าโชว์กลางสภา โวยรัฐเมินแก้ราคายางอัดงบข้าวสูงกว่า 13 เท่า ‘ยุคล’ โต้ยันเก็บในโกดังอ้างมีประกันภัย เผยรอผลตรวจจากคณะกรรมการ  

เวลา 11.45 น.ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ สส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยนพ.สุกิจ กล่าวว่า เวลานี้เกษตรกรสวนยางพาราเดือดร้อนทั่วประเทศจากปัญหาราคายางพาราตกเหลือเพียงกิโลกรัมละ 74 บาท น้ำยางกิโลกรัมละ 68 บาท ส่งผลให้เกิดม็อบประท้วงที่ จ.นครศรีธรรมราช จึงอยากถามรัฐบาลว่าจะผลักดันราคายางพาราให้ถึง 120 บาทได้อย่างไร

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯ และรมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า ยางพารากำหนดราคาโดยตลาดโลก ดังนั้นภาวะราคาขึ้นลงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก วันนี้รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและแก้ไขเป็นระบบ โดยส่งเสริมให้ประชาชนลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเข้มแข็ง โดยการแปรรูปยางพาราผ่านระบบอุตสาหกรรม  เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น

นพ.สุกิจ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ รมต.พูดฟังมาตั้งแต่เกิดแล้ว แต่ไม่มีอะไรดีขึ้น หากปล่อยไปตามกลไกตลาดโลกทั้งหมดคงไม่ต้องมีกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ขอถามว่าโครงการจำนำข้าวเป็นการปล่อยตามกลไกตลาดโลกหรือที่รัฐบาลใช้งบประมาณถึง 2.7 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลกลับรับข้อเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยเตรียมงบ 2 หมื่นล้านบาทเพื่อดันราคายางพารา  โดยงบข้าวกับงบยางห่างกันลิบลับถึง 13 เท่าตัว อยากถามว่ารัฐบาลจะนำงบประมาณ 2.7 แสนล้านบาทมาช่วยให้ราคายางสูงเป็น 120 บาทต่อกิโลกรัมได้หรือไม่

นายยุคล ตอบว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าแต่ละชนิด ไม่สามารถใช้มาตรการเดียวกันในการแก้ปัญหา ถึงแม้ว่าจะทุ่มงบประมาณซื้อยางในราคา 120 บาทได้ แต่ก็ต้องมีการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นภาระที่ค่อนข้างหนัก ดังนั้นต้องมีมาตรการเฉพาะของยางพารา

ด้านนพ.สุกิจ กล่าวว่า รัฐบาลลำเอียงสองมาตรฐาน อยากถามว่าชาวสวนยางไม่ใช่คนไทยไม่ได้เสียภาษีให้กับประเทศหรือ อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลไม่ช่วย วันที่ 3 ก.ย.นี้ก็เตรียมรับม็อบให้ดี และอย่าทำให้พี่น้องประชาชนเจ็บ เพราะประชาชนเดือดร้อนจริง ๆ

ทั้งนี้นพ.สุกิจ กล่าวอีกว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์และอดีต รมช.เกษตรฯ ใช้งบประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาททำโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร แต่กลับมีหนังสือจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งหนังสือถึงนายกฯ ระบุว่า โครงการแทรกแซงราคายางไม่ได้ผล ไม่เป็นไปตามเป้า 120 บาทต่อกิโลกรัม และมีการสวมสิทธิทุจริต จึงอยากถามว่ากรมสวบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีความคืบหน้าในการสอบสวนคดีนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม นพ.สุกิจ ยังกล่าวพร้อมนำภาพมาแสดงกลางห้องประชุมสภาฯ ว่า ขณะนี้พบว่ายางพารา 2 แสนตันที่จัดเก็บในโครงการ 2 หมื่นล้านบาทมีสภาพเน่าเสีย เนื่องจากมีการนำมาวางกลางแดด ทั้งที่เสียค่าเช่าโกดังและการจัดการ

นพ.สุกิจ กล่าวต่อว่า อยากให้รัฐบาลติดตามคดีเผาโรงยางพารา ที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีตำรวจมาชี้แจงในคณะกรรมาธิการตรวจสอบทุจริตฯ สภา ว่าเป็นการลอบวางเพลิง คดีนี้เสียหาย 3 ร้อยกว่าล้าน ทราบหรือยังว่าใครวางเพลิง ใช่คนที่แอบเอายางไปเวียนเทียนขาย หรือพวกที่ซื้อขายบนกระดาษและเผาอำพรางใช่หรือไม่    

ด้านนายยุคล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากดีเอสไอเรื่องการทุจริต ส่วนยางทั้งหมด 2  แสนตันอยู่ที่ไหนและสภาพของยางเป็นอย่างไรนั้นกำลังรอการรายงานจากคณะกรรมการที่ไปตรวจสอบ เท่าที่ทราบวันนี้ยางพารา 2 แสนตันเก็บในโกดัง โดยที่มีประกันภัยอยู่ และมีแผนที่จะใช้ในประเทศเป็นหลัก