posttoday

ปูโยนเกษตรฯจัดการแก้ปัญหาม็อบยาง

27 สิงหาคม 2556

“ยิ่งลักษณ์”โยนกระทรวงเกษตรฯจัดการปัญหาม็อบยาง ย้ำต้องคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน เผยเตรียมใช้แผนโซนนิ่งแก้ปัญหาระยะยาว รับส่งออกลดลงเหตุตลาดโลกทรุด

“ยิ่งลักษณ์”โยนกระทรวงเกษตรฯจัดการปัญหาม็อบยาง ย้ำต้องคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน เผยเตรียมใช้แผนโซนนิ่งแก้ปัญหาระยะยาว รับส่งออกลดลงเหตุตลาดโลกทรุด      

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการแก้ไขปัญหาราคายางพารารวมถึงข้อเรียกร้องเกษตรกร โดยมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับเรื่องไปหารือกับคณะกรรมการกลั่นกรอง ส่วนกรณีแกนนำประกาศยุติชุมนุม แต่มีกลุ่มอื่นเข้ามานั้น ซึ่งมอบหมายให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหา ดังนั้น อยากขอความร่วมมือประชาชนไม่ได้อยู่ในกลุ่มเกษตรกร กรุณาอย่าเข้าไปชุมนุม เพราะการชุมนุมอาจนำไปสู่ความรุนแรง และรัฐบาลพยายามทำอย่างละมุนละม่อมเต็มที่ และใช้หลักความอดทนดูแลประชาชน

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีเหตุอันเลยขอบเขตของกฎหมาย ก็มีความความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย และยืนยันว่ารัฐบาลไม่อยากเห็นเศรษฐกิจหรือปัญหาความเดือดร้อนประชาชนกลายเป็นประเด็นอื่นๆ ที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ส่วนการปิดเส้นทางรถไฟของกลุ่มผู้ชุมนุมขณะนี้ ได้ให้กระทรวงคมนาคมประสานงานไปขึ้นจุดอื่น แต่ขอความร่วมมือ ไม่เช่นั้นการสัญจรไปมาจะเดือดร้อน และรัฐบาลเป็นห่วงในเรื่องนี้ จึงจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปพูดคุยกันตามขั้นตอนกฎหมาย ไม่อยากให้เกิดการใช้กำลังรุนแรงต่อกัน ดังนั้น อยากให้ทุกฝ่ายอยู่ในความอดทนและมาพูดคุยกัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า สำหรับราคายางพาราที่เหมาะสมนั้น ต้องมีการพูดคุยกัน และไปวิเคราะห์ด้านต้นทุนว่าเป็นอย่างไร อย่างน้อยก็ต้องดูแลเกษตรกรให้อยู่ได้ในระดับหนึ่ง และยอมรับว่าราคาที่เสนอมาหนักจริงๆ ตลอดเวลากระทรวงเกษตรฯพยายามติดตามและดูแลสวนยาง รวมถึงมีหลายมาตรการ อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องการเงิน แต่มีเรื่องของการพัฒนาระยะยาว ดังนั้น จึงอยากให้มีตัวแทนประชาชนเข้ามาหารือกับกระทรวงเกษตรฯ ถ้ามีตัวแทนมานั่งคุยกัน จะช่วยแก้ปัญหาทั้งเร่งด่วนและระยะยาว ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาแบบนี้ซ้ำๆ

“ต้องมาคุยกันว่าน้อยอยู่ตรงไหน เพราะถ้าได้คุยหรือวิเคราะห์ต้นทุนในแต่ละภาคต่างกัน ถ้าให้มาตรฐานอย่างไร ก็ต้องดูแลในภาคอื่นๆด้วย ดังนั้น ต้องวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ระดับหนึ่ง ถ้าเลยต้นทุน ก็จำเป็นต้องขอความร่วมมือ เพราะบางครั้งงบประมาณมีจำกัด จึงจำเป็นต้องพูดคุยกันว่า สามารถดูแลช่วยเหลือในรูปแบบอื่นได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯเคยเสนอให้ช่วยในเรื่องขอค่าปุ๋ย เพราะจะได้ระยะยาวมากกว่า อีกทั้ง ยังมีผลิตผลที่ดี แต่ทั้งหมดต้องพูดคุยกันว่าวิธีไหนลงตัวและเหมาะสม ซึ่งก็พร้อมยืดหยุ่นให้ตอบโจทย์ความต้องการ”น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี การที่มีการนำเรื่องดังกล่าวไปเปรียบการรับจำนำข้าว หากให้ดูการรับจำนำข้าว เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะได้รับการดูแลภายใต้โครงการรับจำนำข้าวเพียงปีละหน แต่ราคายางมีหลายมาตรการดูแลตลอดเวลา มีเงินเซฟ หรืออะไรต่างๆดูแล ยืนยันว่ารัฐบาลดูแลอย่างเสมอภาค ดังนั้น จึงอยากขอความเห็นใจจริงๆ ทั้งนี้ จากการติดตามราคาข้าวกับราคายางพารา เนื่องจากราคายางพาราต้องอิงกับราคาตลาดโลก บางครั้งรัฐบาลช่วยหลายวิธี เช่น ปุ๋ย แทรกแซงราคา แต่บางอย่างทำได้ระดับหนึ่งเพราะมีข้อจำกัด

“การจัดโซนนิ่งถือเป็นการแก้ไขระยะยาว โดยถ้าปลูกสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินกว่าปริมาณตลอดรองรับได้ แน่นอนว่าทำให้สินค้าเกษตรเหลือและตกต่ำ ซึ่งพยายามเร่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์ นำงานวิจัยต่างๆ ไปส่งเสริมการทำสินค้าเกษตรแปรรูปเข้ามาช่วย ซึ่งน่าจะเป็นทางอออกให้ดีขึ้น โดยเฉพาะแปรรูปในพื้นที่ต้นน้ำ ก็จะทำให้ลดต้นทุนการขนส่ง”นายกฯ กล่าว 

ส่วนปัญหาการส่งออกยอมรับว่ามีการชะลอตัวลดลง เนื่องจากมีผลกระทบในส่วนภาพรวมตลาดลดลง เมื่อเทียบกับการส่งออกประเทศเพื่อนบ้านก็ลดลง และไทยต้องมีการพัฒนาตลาดใหม่เพิ่มขึ้น ดังนั้น มาตรการใหม่ได้เร่งให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการ คือ ทำเวิร์ดช็อปพูดคุยกับผู้ส่งออกเป็นรายอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหา และดูว่าสินค้าไหนลดลงอย่างมีสาระสำคัญ รัฐบาลจะช่วยได้อย่างไร ซึ่งต้องลงไปดูในรายละเอียด และส่วนอื่นๆก็คงไปดูเรื่องหารือเจรจาระหว่างประเทศว่าอันไหนควรดึงมาทำก่อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกที่มีผลกระทบ