posttoday

ครม.สั่งทบทวนกฎหมายยุคสนช.

20 สิงหาคม 2556

ที่ประชุมครม.สั่งทบทวนกฎหมายยุค สนช. อ้างมีปัญหาไม่ชอบธรรม เผยมีการปรับปรุงในสาระสำคัญของกฎหมาย 8 ฉบับ

ที่ประชุมครม.สั่งทบทวนกฎหมายยุค สนช. อ้างมีปัญหาไม่ชอบธรรม เผยมีการปรับปรุงในสาระสำคัญของกฎหมาย 8 ฉบับ

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือ คปก. ซึ่งมี ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน เกี่ยวกับการทบทวนกฎหมาย  221 ฉบับที่ตราโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)  ภายหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ถึง 23 ธ.ค. 50

"เนื่องจาก พบว่ากระบวนการออกกฎหมายของ สนช. ดังกล่าว มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมหลายประการ เช่น ปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ และไม่มีตัวแทนของประชาชนร่วมพิจารณา เนื่องจาก เป็นช่วงเวลาภายหลังการปฏิวัติรัฐประหาร ทำให้การเมืองไทยไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง"รองโฆษก กล่าว

รท.หญิง สุณิสา กล่าวว่า คปก. ได้เสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมายที่ตราโดย สนช. แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ 1. ให้ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหากฎหมาย ในสาระสำคัญ จำนวน 34 ฉบับ  2. ให้ยกเลิกกฎหมาย 1 ฉบับ และ 3.ให้คงกฎหมายไว้เช่นเดิมแต่สามารถทบทวนแก้ไขได้ภายหลัง 75 ฉบับ

ทั้งนี้ ครม.เห็นว่า ในจำนวนกฎหมายที่ คปก. เสนอให้ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาจำนวน 8 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารนั้น เห็นควรให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ก.ม. ตามข้อเสนอของ คปก. ได้ทันที และให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการฯ รัฐสภา ที่เกี่ยวข้องในการให้ความคิดเห็นประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ตราโดย สนช. ดังกล่าว ส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ ศาล หรือฝ่ายตุลาการ นั้น ค.ร.ม. เห็นว่า ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ คปก. ในการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญในการศึกษาทบทวนว่าควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่อย่างไร เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าฝ่ายบริหารไม่ได้มีความประสงค์ที่จะ เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซง อำนาจตุลาการ หรือ องค์กรอิสระ

สำหรับ กฎหมาย 8 ฉบับที่ คปก. เห็นควรให้ปรับปรุงแก้ไขในสาระสำคัญ ประกอบด้วย  1. พรก. แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549   ซึ่ง คปก. เห็นว่าการกำหนดสัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ยังไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการถ่ายโอนภารกิจ  2.. พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551  คปก. เห็นควรให้พิจารณาบทบาทและอำนาจหน้าที่ของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้ง กระบวนการเข้าสู่ตำแหน่ง ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และบทบาทหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้าน

3. พรบ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551  คปก. เห็นควรให้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งบทบาทและอำนาจหน้าที่ของสภาองค์กรชุมชนในภาพรวม  4. พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  คปก. เห็นว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคง และมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก จึงควรมีการพิจารณาบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการรับผิด ซึ่งมีเนื้อหากว้างและไม่มีความชัดเจน ประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดของ server หรือ ผู้ให้บริการ และ ความผิดซ้ำซ้อนกับประมวลกฎหมายอาญา

5. พรบ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 (คปก. ไม่ได้ระบุเหตุผลที่เสนอให้แก้ไข) 6. พรบ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 (คปก. ไม่ได้ระบุเหตุผลที่เสนอให้แก้ไข) 7. พรบ.พัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2551 คปก. เห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติมนิยามเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน รวมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน และปรับปรุงอำนาจหน้าที่ให้มากขึ้น

8. พรบ. ส่งเสริมการจัดสวันสดิการสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 คปก. เห็นว่า ควรแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้รวมถึงองค์กรสวัสดิการชุมชน ส่วนกฎหมายที่ คปก. เห็นควรให้ยกเลิก คือ พรบ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2550  ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และได้สิ้นสุดไปแล้ว จึงทำให้ พรบ. ดังกล่าวหมดอายุตามไปด้วยโดยปริยาย