posttoday

ปชป.จี้ถอนนิรโทษ-ปรองดองก่อนถกหาทางออก

03 สิงหาคม 2556

ชวนนท์ ชี้หากนายกฯ จริงใจปรองดอง ต้องถอนนิรโทษ-ปรองดองก่อน ด้าน องอาจ จี้รัฐทบทวน พ.ร.บ.มั่นคง ยันไม่มีสส.ของพรรคลาออกไปร่วมม็อบ

ชวนนท์ ชี้หากนายกฯ จริงใจปรองดอง ต้องถอนนิรโทษ-ปรองดองก่อน ด้าน องอาจ จี้รัฐทบทวน พ.ร.บ.มั่นคง ยันไม่มีสส.ของพรรคลาออกไปร่วมม็อบ

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เสนอแนวทางปฏิรูปการเมือง โดยเชิญทุกฝ่ายหารือร่วมกัน ว่า แนวคิดนี้เป็นเรื่องดี และพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่า การพูดคุยหาทางออกร่วมกันเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำพาประเทศไปสู่ความปรองดองแท้จริง

ทั้งนี้ พรรคก็มีคำถามไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า เจตนารมณ์ที่เสนอเรื่องนี้ในวันที่ประเทศกำลังเดินเข้าสู่ความขัดแย้งนั้น หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความจริงใจ และอยากให้บ้านเมืองสงบ ก็ต้องเริ่มต้นจากการปลดชนวน โดยถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ที่อยู่ในสภาฯ ให้หมด แต่หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังพูดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่อง ส.ส.หรือสภาฯ สิ่งที่ พูดไปก็ไม่มีความหมายอะไร และการเสนอเรื่องนี้คงเป็นแผนการซื้อเวลาให้ผ่านวันที่ 7 ส.ค.นี้ ที่สภาผู้แทนราษฎรจะประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เท่านั้น สถานการณ์คงจะรุนแรงมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ นายกฯ ควรสนับสนุนข้อเสนอของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ตรวจสอบความจริงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วย พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน

ด้าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ เพื่อควบคุมการชุมนุม ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ว่า อาจไม่ถูกต้อง เพราะ 1.ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ระบุว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ 2.ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ เพราะขณะนี้คณะบุคคลที่จะชุมนุมยังไม่ส่งสัญญาณให้เห็นว่าการชุมนุมจะเกินเลยกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด 3.เป็นการข่มขู่ประชาชนล่วงหน้า เนื่องจากรัฐบาลส่งสัญญาณการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่จะนำกำลังมาปราบปรามผู้ชุมนุม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ระบุว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมไม่กี่พันคน แต่วันนี้กลับเตรียมความพร้อมใช้ความรุนแรง ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลทบทวนเรื่องนี้ เพราะจะเป็นผลเสียต่อรัฐบาล 4.กลุ่มผู้ชุมนุมที่จะออกมานั้นก็มีความชัดเจนว่าคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม รัฐบาลไม่ควรมีทัศนคติคับแคบมองผู้ชุมนุมเป็นศัตรู ควรมองเป็นประชาชนที่สิทธิแสดงความเห็นต่างจากรัฐบาลเท่านั้น

ทั้งนี้ นายองอาจ กล่าวต่อว่าเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรี ห้ามปรามคนในรัฐบาลไม่ให้ออกมาบิดเบือนความจริงว่า การชุมนุมมีการยั่วยุและเรียกร้องให้ทหารออกรัฐประหาร เพราะตนตรวจสอบแล้วก็ไม่พบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มใดเรียกร้องให้มีการดำเนินการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การที่นายกฯ เสนอให้มีการตั้งสภาพัฒนาการเมือง เป็นเพียงกลยุทธ์หนึ่งที่รัฐบาลจะใช้เดินหน้าออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้ นอกจากนี้ ยืนยันว่า หากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านการพิจารณาของสภาฯ วาระ 3 ได้นั้น ก็ยังไม่มี ส.ส.ของพรรคคนใดแสดงความจำนงว่าจะลาออก ซึ่ง ส.ส.ของพรรคจะยังคงทำหน้าที่ในสภาฯ ต่อไป